ผักกาดหอม
อย่าหลงทางครับ
บอกแล้วว่า หุ้นไอทีวี ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” นั้นไม่ใช่ปัจจัยหลักในการตัดสินว่า จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่
เงื่อนเวลามันไกลไป
แต่อยู่ที่ ส.ว.จะโหวตให้ “พิธา” ในเร็วๆ นี้หรือไม่ต่างหาก
อย่าลืมว่า ประเด็นยกเลิก ม.๑๑๒ ยังไม่เคลียร์ แล้วไหนจะมีเรื่องแบ่งแยกดินแดนแทรกเข้ามาอีก
ฉะนั้น ไม่ว่าจะคลิป หรือรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ๒๕๖๖ ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น
กรณีนี้ใช้เวลาเป็นปีครับ
กว่า กกต.จะสอบ จะฟ้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา ๑๕๑ กว่าจะมีคำพิพากษาออกมา รัฐบาลใหม่เข้าบริหารประเทศไปหลายเดือนแล้ว
กรณีหุ้นไอทีวีจึง ไม่ใช่เรื่องใหญ่ในระยะเวลาอันใกล้นี้
แต่ก็ประหลาดใจที่ พรรคก้าวไกล รวมถึง ด้อมส้ม มีปฏิกิริยาราวกับว่า กรณีหุ้นไอทีวีนั้น “พิธา” ชนะแน่ และได้เป็นนายกฯ ชัวร์
ไหนๆ พูดเรื่องหุ้นไอทีวีแล้ว ก็ว่ากันต่อให้สิ้นกระบวนความ
สภาพ “พิธา” ตอนนี้เหมือนคนกำลังจมน้ำครับ
เห็นอะไรก็คว้าไว้ก่อน เพราะมีโอกาสรอด
เห็นแวบๆ นึกว่าขอนไม้
ที่ไหนได้หลังจระเข้
ประเด็นหลักของหุ้นไอทีวี น่าจะอยู่ที่ ไอทีวีได้จดทะเบียนยกเลิกบริษัทแล้วหรือยัง เพราะนี่คือหลักฐานที่สามารถอ้างอิงกฎหมายได้มากที่สุด
แม้ กกต.จะฟ้องเองตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา ๑๕๑ แต่ก็มีคดีตัวอย่างที่สามารถเทียบเคียงกรณีหุ้นไอทีวีของ “พิธา” อยู่หลายคดีครับ
คดี “อนุสรณ์ เกษมวรรณ” ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ ๑ กรุงเทพมหานคร พรรคชาติพัฒนา เมื่อปี ๒๕๖๒ กกต.ประกาศไม่รับรองเพราะเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์สื่อกลางสภาไทย
“อนุสรณ์” ยื่นร้องคัดค้าน ว่า หนังสือพิมพ์สื่อกลางสภาไทย ไม่ได้พิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์ดังกล่าวเป็นเวลาเกิน ๒ ปี ถือว่าความเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ของผู้ร้องสิ้นสุดลงตาม พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔๕ แล้ว
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ผู้ร้องเพียงแต่ไม่ได้พิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์ โดยไม่ได้แจ้งยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงรายการในหลักฐานการจดแจ้งการพิมพ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่มีผลทำให้ผู้ร้องพ้นจากความเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ดังกล่าวได้
ผู้ร้องจึงเป็นบุคคลอันมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
อีกคดี “สุวัฒน์ชัย สวัสดี” ผู้สมัคร ส.ส.นครราชสีมา เขต ๑ พรรคความหวังใหม่ ในการเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ เช่นกัน
กกต.ไม่ประกาศรายชื่อ “สุวัฒน์ชัย” เนื่องจากเป็น เจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ โคราชการเมือง
“สุวัฒน์ชัย” จึงไปร้องศาล
ศาลฎีกาพิพากษาว่า แม้หนังสือพิมพ์โคราชการเมืองได้หยุดตีพิมพ์แล้วตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๒ แต่ผู้ร้องยังไม่ได้ไปจดแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงรายการในหลักฐานการจดแจ้งการพิมพ์
เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้เคยยื่นแจ้งเลิกกิจการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงรายการในหลักฐานการจดแจ้งการพิมพ์แล้ว จึงต้องถือว่าผู้ร้องยังเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์โคราชการเมือง
ยังมีคดี “ทวีป ขวัญบุรี” ที่ กกต.ไม่ประกาศชื่อเป็นผู้สมัคร ส.ส. เพราะเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในหนังสือพิมพ์สื่อกลางรายวัน
คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาว่า ข้อเท็จจริงตามคําร้อง คําคัดค้าน เอกสารพยานหลักฐานแห่งคดีและตามที่ปรากฏในทางการไต่สวนปรากฏว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สื่อกลางรายวัน โดยผู้ร้องได้รับอนุญาตจดแจ้งการพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๘ ต่อมาหนังสือพิมพ์สื่อกลางรายวัน ได้หยุดตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๐
เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๘ บัญญัติว่า
“ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ผู้ใดเลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงรายการในหลักฐานการจดแจ้ง ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์”
พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ หาได้มี บทบัญญัติให้หนังสือพิมพ์รายวัน ถ้ามิได้ออกโฆษณาต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาสามสิบวัน หรือหนังสือพิมพ์รายคาบ ถ้ามิได้ออกโฆษณาต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาสี่คราวหรือเกินกว่าสองปี ทําให้การเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์เป็นอันสิ้นสุดลงดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๔๕ แต่อย่างใดไม่
หากแต่บัญญัติให้ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการ หนังสือพิมพ์ที่ประสงค์จะเลิกกิจการหนังสือพิมพ์จะต้องแจ้งเลิกกิจการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงรายการในหลักฐานการจดแจ้งการพิมพ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เลิกกิจการ
เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้เคยยื่นแจ้งเลิกกิจการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงรายการในหลักฐานการจดแจ้งการพิมพ์แล้ว จึงต้องถือว่าผู้ร้องยังเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์สื่อกลางรายวัน
ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ผู้ร้องจึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้ สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๙๘ (๓) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๔๒ (๓) ที่ผู้คัดค้าน ไม่ประกาศรายชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตของพรรคพลังประชารัฐ ชอบแล้ว จึงมีคําสั่งให้ยกคําร้อง
ฉะนั้นลองเทียบเคียงกรณี “พิธา” อ้างว่าไอทีวียุติการแพร่ภาพ ยุติการเป็นสื่อไปแล้วดูครับว่า ถือเป็นการยุติตามกฎหมายหรือไม่
ในขณะที่ไอทีวียังไม่จดทะเบียนเลิกบริษัท
แต่ให้ตายเถอะครับ ประหลาดใจจริงๆ
เรื่องหุ้นสื่อ “พิธา” ไม่น่าพลาดง่ายๆ แบบนี้
บทเรียนมีมาแล้วจากกรณี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” รวมถึงผู้สมัคร ส.ส. และ ส.ส.อีกหลายคนถูกน็อกเพราะหุ้นสื่อมาแล้ว
ฉะนั้นก่อนสมัครรับเลือกตั้ง มันอยู่ในวิสัยที่ผู้สมัครส.ส.ทุกคนต้องตรวจสอบตัวเองก่อนว่า ยังมีหุ้นสื่อหลงเหลืออยู่หรือไม่
ภาษาชาวบ้านคือ ควรจัดการตัวเองให้เรียบร้อย
และผู้สมัคร ส.ส.ส่วนใหญ่ หูตาแหก กับเรื่องนี้ครับ
แต่ “พิธา” ทำไม่เรียบร้อย
ก็เท่ากับว่า แค่เรื่องส่วนตัว “พิธา” ยังจัดการกับตัวเองไม่ได้
มองในมุมผู้นำประเทศ การพลาดเรื่องง่ายๆ แต่ส่งผลกระทบกว้างขวางแบบนี้
มันคือหายนะครับ