วิกฤตเพราะสุดโต่ง – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

อีกมุมของก้าวไกล

สองสามวันมานี้ เกิดปรากฏการณ์ โซเชียลแชร์บทสัมภาษณ์ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” กันเต็มไปหมดแทบจะทุกช่องทาง

เนื้อหาพูดเรื่องนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนใคร

ใกล้เคียงสุดก็น่าจะเป็นเค้าโครงเศรษฐกิจของ “ปรีดี พนมยงค์”

แต่ก็ยังเป็นมิตรกับทุนขนาดใหญ่น้อยกว่าของ “ปรีดี”

มุมมอง “ดร.นิเวศน์” ดีกรี นักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor) สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) เห็นว่านโยบายเศรษฐกิจของ ว่าที่รัฐบาลใหม่ ซึ่งก็คือพรรคก้าวไกล มีความสุดโต่ง ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการรีดภาษีคนรวยมาช่วยคนจน

วิธีนี้อาจนำไปสู่วิกฤต

ต่างชาติถอนทุน

ที่เห็นอยู่ในขณะนี้คือกำลังเกิดผลกระทบอย่างหนักกับตลาดหุ้น

ทุนนิยมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีปัญหาจริงครับ คนรวย รวยมากขึ้น ส่วนคนจน ก็จนลงกว่าเดิม ความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่…นโยบายสุดโต่งของพรรคก้าวไกลแก้ปัญหาได้จริงหรือ

หรือจะก่อปัญหาเพิ่ม

“ดร.นิเวศน์” ให้ความเห็นดังนี้ครับ

“…แนวทางใหม่ที่เสนอก็คือ การเก็บภาษีธุรกิจที่ ‘คนรวย’ เป็นเจ้าของมากขึ้น เก็บภาษีกิจกรรมที่คนรวยทำมากขึ้น และเก็บ ‘ภาษีทรัพย์สิน’ ของคนที่รวยหรือมีความมั่งคั่งมากกว่าปกติมาก

นอกจากนั้น ก็จะจัดการ กิจการของคนรวยที่ผูกขาด การทำธุรกิจที่เอารัดเอาเปรียบคนที่รวยน้อยกว่าหรือเป็นธุรกิจรายย่อย แล้วใช้เงินที่ได้เอามาแจกจ่าย หรือเป็นสวัสดิการ ให้แก่คนจน

หรือมองในทางวิชาการก็คือ จะเปลี่ยนแนวทางหรือปรัชญาทางเศรษฐกิจให้เป็นแบบ สังคมนิยม ที่เน้น ความเท่าเทียม ทางเศรษฐกิจของประชาชน แทนที่การเน้นการเติบโตอย่างที่ทำติดต่อกันมายาวนาน

แต่คนรวยและรวยมากในประเทศไทยส่วนใหญ่และน่าจะมากกว่า ๙๐% ของทั้งหมดที่ไม่ได้มาจากการทำผิดกฎหมายนั้น ก็มักจะมาจากการลงทุน ทำธุรกิจ

และในระยะหลังๆ ก็เป็นธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น ว่าที่จริงมูลค่าความมั่งคั่งของ คนรวย ที่อยู่ในตลาดหุ้นนั้นสูงถึงเกือบ ๒๐ ล้านล้านบาท หรือมากกว่ารายได้ต่อปีของประชาชาติไปแล้ว ดังนั้น เป้าหมายของการเรียกเก็บภาษีจึงเน้นไปที่หุ้นในตลาดหลักทรัพย์

ตัวอย่างภาษีที่มีการประกาศแล้วว่าอาจจะเก็บ ก็เช่น ภาษีนิติบุคคลของบริษัทขนาดใหญ่ที่จะเพิ่มขึ้นจาก ๒๐% เป็น ๒๓% ภาษีกำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ การจัดการกับการผูกขาด ของบริษัทขนาดใหญ่มาก ที่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในตลาดหุ้น

และการเก็บภาษีความมั่งคั่งสำหรับคนที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเกินกว่า ๓๐๐ ล้านบาท ซึ่งจำนวนมากก็เป็นคนที่ถือหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

ทั้งหมดนั้นมีผลต่อผลประกอบการของบริษัทและการประเมินมูลค่าหุ้นอย่างแน่นอน และอาจจะรุนแรง ซึ่งอาจจะทำให้หุ้นตก ซึ่งจะส่งผลให้การระดมทุนเพื่อขยายกิจการไม่เติบโต และในบางกรณีก็อาจจะมีการ ‘ถอนทุน’ ออกจากประเทศไทยไปด้วย

โดยคนที่ถอนอาจจะเป็นนักลงทุนต่างประเทศ ที่อาจจะมองว่าตลาดหุ้นไทยไม่เติบโตและให้ผลตอบแทนต่ำกว่าคู่แข่งที่เป็นตลาดที่เติบโตเร็วกว่า และให้ผลตอบแทนสูงกว่า หรืออาจจะเป็นนักลงทุนไทยเองที่หันไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ

และนั่นก็จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดลง ซึ่งก็จะทำให้เม็ดเงินภาษีที่จะเก็บได้ลดน้อยลง ไม่เพียงพอต่อการให้สวัสดิการที่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากในอนาคต

การตกลงของดัชนีตลาดหุ้น ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของผลประกอบการเพราะการเก็บภาษีในระดับสูง และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนของการซื้อ-ขายหุ้น เนื่องจากภาษีกำไรจากการลงทุนและอื่นๆ นั้น ยังส่งผลต่อคนชั้นกลางจำนวนมาก อาจเป็นหลายล้านคน ที่ลงทุนออมหุ้นเพื่อการเกษียณ

พวกเขาเหล่านั้นต่างก็ลงทุนในหุ้นเอง หรือผ่านกองทุนรวมหรือกองทุนต่างๆ ที่ลงทุนในหุ้นที่เป็นทรัพย์สินที่ ให้ผลตอบแทนสูงสุด เมื่อเทียบกับการลงทุนอื่นๆ โดยเฉพาะการฝากเงินในธนาคาร

แต่ถ้าหากว่าหุ้นไทยตกลงต่อเนื่องระยะยาว อันเป็นผลจากนโยบายที่ไม่สนับสนุนตลาดทุนของรัฐ อนาคตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร? พึ่งพาสวัสดิการหรือ?

ทางเลือกหนึ่งของรัฐบาลที่จะทำได้ก็คือ การเพิ่มภาษี VAT แทน ซึ่งจะได้เม็ดเงินเพิ่มตามจำนวนที่ต้องการและไม่ผิดพลาด มาใช้ในการทำสวัสดิการที่ต้องการ และไม่เกิดผลข้างเคียงมาก ว่าที่จริงภาษี VAT ของไทยก็ยังต่ำกว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลก

ในอีกด้านหนึ่ง เป้าหมายที่จะลดความเหลื่อมล้ำอย่างรวดเร็วนั้น ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก เพราะอาจจะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงและไม่พึงประสงค์ได้

ตัวอย่างเช่น อาจจะทำให้ตลาดทุนตกต่ำลง ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจรุนแรง ซึ่งจะกลับมาส่งผลต่อเม็ดเงินที่จะใช้ในการแก้ปัญหาความยากจนและความเท่าเทียม และลดเม็ดเงินที่จะลงทุนในกิจการสาธารณูปโภค ซึ่งก็จะลดการลงทุนของเอกชนในตลาด

กลายเป็น วัฏจักรแห่งความเลวร้าย ซึ่งน่าจะเคยเกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศในโลกที่ใช้นโยบาย สุดโต่ง เกินไป และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ฟื้นจาก วิกฤตที่ร้ายแรงของประเทศ

หลายคนอาจจะคิดว่าการพูดว่าตลาดทุนหรือตลาดหุ้นจะพัง หรือมีประสิทธิภาพลดลงมากจนไม่สามารถช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้นั้น อาจจะมองโลกในแง่ร้ายเกินไป แต่ผมคิดว่าในโลกยุคปัจจุบันนั้น ความเชื่อสำคัญเท่าๆ กับความจริง

กล่าวคือถ้าคนเชื่อว่าประเทศเราไม่สนับสนุนตลาดทุนหรือตลาดหุ้น หรือเราจะเป็นสังคมนิยม เขาก็จะตัดสินใจไม่มาลงทุนหรือถอนการลงทุนออกไป อาจจะโดยการขายหุ้นในตลาดอย่างต่อเนื่อง

นั่นก็จะทำให้คนอื่นต้องทำตามเพราะกลัวหุ้นตก และในที่สุดก็ทำให้ตลาดทุนและตลาดหุ้นตกต่ำลง ความเชื่อก็กลายเป็นความจริง

สุดท้ายที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือ หลายคนอาจจะคิดว่า ผมอาจจะมี Bias หรือความลำเอียงในฐานะของคนในตลาดหุ้นที่จะต้องเสียภาษีหนัก

คำตอบของผมก็คือ ถ้าคำนวณว่าสุดท้ายผมต้องเสียภาษีเทียบกับความมั่งคั่งไม่เกินปีละ ๐.๕-๑% ต่อปี ผมก็คงไม่เดือดร้อนหรอก ถ้าตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยปีละประมาณ ๗-๘% และผมอาจจะทำได้ดีกว่านั้นด้วย

สิ่งที่ผมกลัวก็คือ ตลาดหุ้นและตลาดทุนจะวาย ลงทุนแล้วดัชนีมีแต่จะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ

เรากำลังผ่าน ทศวรรษที่หายไป ในปีนี้ และก็หวังว่าเราจะเริ่มฟื้นตัวสู่ทศวรรษแห่งความรุ่งเรือง หรืออย่างน้อยเป็น ทศวรรษแห่งความยั่งยืน หรือทศวรรษปกติ

แต่ถ้ามันไม่ใช่ นี่ก็อาจจะเป็น อวสานของตลาดหุ้น ที่นักลงทุนจะต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไร…”

ครับ…นโยบายเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ไกลจากความเป็นจริง อาจเพราะเกิดจากความชิงชังใน “ทุน” มองว่า “ทุน” คือปัญหา

การนำเสนอนโยบายจึงมุ่งไปที่ชนชั้นนำ โดยพรรคก้าวไกลมีความเชื่อว่าชนชั้นนำมักมีโอกาสที่จะสืบทอดทรัพย์สมบัติและทรัพย์สินมากกว่าชนชั้นอื่น

การส่งต่อทรัพย์สินและอภิสิทธิ์จะเกิดขึ้นโดยง่ายมากขึ้น ความไม่เท่าเทียมข้ามรุ่นนี้ ท้ายที่สุดจะถูกใช้เพื่อเบี่ยงเบนและกลบเกลื่อนความขัดแย้งทางชนชั้น

ทัศนคติเช่นนี้หนักกว่าเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดีด้วยซ้ำ

ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการประกอบการทางเศรษฐกิจ ของ “ปรีดี” มีเนื้อหาหลักให้รัฐบาลเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง โดยให้สร้างความร่วมมือระหว่างคนมั่งมีกับคนจนโดยไม่ประหัตประหารคนมั่งมี

ไม่ใช้วิธีริบคืนที่ดินแบบคอมมิวนิสต์ แต่จะให้รัฐบาลซื้อคืนที่ดินเท่าที่จำเป็น

ให้ราษฎรทุกคนเป็นข้าราชการเพื่อให้ราษฎรทุกคนมีงานทำ

รัฐบาลจะจ่ายเงินเดือนให้แก่ราษฎร เพื่อให้ราษฎรเอาไปแลกเปลี่ยนกับปัจจัยในการดำรงชีวิต โดยรัฐบาลจะจัดหาปัจจัยเหล่านั้นไว้ในรูปแบบสหกรณ์และรัฐบาลจะดำเนินการกิจการเอง

ถือว่ายังไม่จ้องเล่นงาน “ทุน” เท่าพรรคก้าวไกล

พรรคก้าวไกลประกาศมาตลอดว่า หากได้เป็นรัฐาล ก็เท่ากับอวสานทุนผูกขาด

แล้วใครจะเป็นคนชี้ว่า ทุนผูกขาด มีบริษัทอะไรบ้าง

“ดร.นิเวศน์” บอกว่า คนรวยและรวยมากในประเทศไทยส่วนใหญ่และน่าจะมากกว่า ๙๐% ของทั้งหมดที่ไม่ได้มาจากการทำผิดกฎหมายนั้น ก็มักจะมาจากการ ลงทุน ทำธุรกิจ

ถ้าพรรคก้าวไกลจะพังทุนให้ราบเป็นหน้ากลอง มีทางเดียวครับ ทางที่พรรคก้าวไกลมักนำมากล่าวอ้างเสมอ

นิติสงคราม

Written By
More from pp
ผบ.ทบ.ย้ำ ยังต้องมีมาตรควบคุมเฝ้าระวัง จัดเจ้าหน้าที่เวรยามคอยตรวจตราไม่ให้การดำเนินชีวิตภายในหน่วยทหารมีกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยง
ที่กองบัญชาการทหารบก วันที่ 15 มิ.ย.63 ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานการประชุม สรุปสถานการณ์ประจำวันผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์จากกองกำลังผาเมือง กองทัพภาคที่ 3
Read More
0 replies on “วิกฤตเพราะสุดโต่ง – ผักกาดหอม”