18 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.30 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายคเณศ ประสาท ธกาล (H.E. Mr. Ganesh Prasad Dhakal) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาลประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสพ้นจากหน้าที่ ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีขอบคุณเอกอัครราชทูตเนเปาลฯ ที่มีบทบาทสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเนปาลตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี พร้อมฝากความปรารถนาดีไปยังนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีแห่งเนปาล
โดยหวังว่าประเทศไทยจะมีโอกาสต้อนรับนายกรัฐมนตรีเนปาลในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) ในเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้
ทั้งนี้ ไทยพร้อมให้การสนับสนุนเอกอัครราชทูตท่านใหม่ในการมารับหน้าที่เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป
เอกอัครราชทูตเนปาลฯ ยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ดำรงตำแหน่งในประเทศไทย ขอขอบคุณรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือเนปาลมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยากลำบากจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของเนปาล เมื่อปี 2558
พร้อมยืนยันที่จะสานต่อความร่วมมือระหว่างไทยกับเนปาลให้มีความใกล้ชิดมากขึ้นในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยว ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ราบรื่น มีจุดเชื่อมโยงทางศาสนาและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน จึงเชื่อมั่นว่าจะขยายความร่วมมือได้ทั้งความสัมพันธ์ในระดับประชาชนระหว่างสองประเทศให้สามารถไปหามาสู่กันได้ และในระดับภูมิภาค
ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายยังหารือถึงความร่วมมือประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
ด้านการแลกเปลี่ยนทางศาสนา วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายยินดีที่พลวัตการแลกเปลี่ยนระหว่างสองประเทศได้ฟื้นคืนอีกครั้งภายหลังสถานการณ์โควิด – 19 คลี่คลาย สายการบินไทยมีแผนจะเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างไทยกับเนปาลในปลายปี 2566 นี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีและเอกอัครราชทูตเนปาลฯ เห็นพ้องว่า
ทั้งสองประเทศจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและการท่องเที่ยวระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเส้นทางการท่องเที่ยวทางศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งเอกอัครราชทูตเนปาลฯ กล่าวว่า มีนักท่องเที่ยวไทยให้ความสนใจเดินทางมายังเนปาลมากขึ้น จากเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อแสวงบุญที่เนปาล โดยรัฐบาลเนปาลพร้อมให้การต้อนรับและอำนวยความสะดวกให้เป็นอย่างดี
ด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีขอบคุณความร่วมมือในการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนระหว่างภาคเอกชน การลดอุปสรรคและมาตรการกีดกันทางการค้า การส่งเสริมการลงทุนในสาขา การเกษตร ท่องเที่ยว การก่อสร้าง พลังงาน และระบบสาธารณูปโภค
ขณะที่เอกอัครราชทูตเนปาลฯ พร้อมที่จะประสานความร่วมมือกับรัฐบาลเนปาลขยายโอกาสทางการค้าเพื่อการพัฒนาในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน รวมไปถึงการเข้าร่วมการประชุม BIMSTEC ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถผลักดันความร่วมมือได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับพหุภาคี
ด้านวิชาการ นายกรัฐมนตรียินดีที่เนปาลจะเข้าสู่สถานะประเทศกำลังพัฒนาในปี 2569 โดยไทยยินดีสนับสนุนในการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในสาขาที่จะเป็นประโยชน์ต่อเนปาลต่อไป โดยเฉพาะด้านการพัฒนาบุคลากรผ่านการมอบทุนอบรมในระดับต่าง ๆ รวมถึงในสาขาที่จำเป็นอย่างมากในสภาวะปัจจุบัน เช่น สาธารณสุข การพัฒนาสตรีและเด็ก รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาตามหลัก BCG Economy
ซึ่งเอกอัครราชทูตเนปาลฯ ยินดีจะส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่มีศักยภาพร่วมกัน พร้อมชื่นชมหลัก BCG Economy ที่นายกรัฐมนตรีผลักดันให้เป็นวาระสำคัญเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน