ผักกาดหอม
ใกล้ได้เข้าคูหา กาเบอร์ที่ชอบ กันเต็มทนแล้วครับ
อีกแค่ ยี่สิบกว่าวัน
ถือว่าเกือบถึงโค้งสุดท้ายแล้ว
ช่วงโค้งสุดท้ายถือว่าสำคัญสำหรับผู้สมัคร ส.ส. โดยเฉพาะสนามเลือกตั้งที่คะแนนสูสี หายใจรดต้นคอกัน
วางแผนดี คะแนนพลิกได้
ประมาทเมื่อไหร่ ก็จบเห่ได้เหมือนกัน
โค้งสุดท้ายยังเป็นช่วงที่ยิงกันแหลก
กระสุนทำมาจากแบงก์ครับ
สมัยนี้แบงก์ม่วงถือว่าน้อยไปแล้ว
ต้องเริ่มต้นแบงก์พัน
แบงก์ม่วงเย็บติดกับแบงก์พัน ถือว่าพื้นๆ
สาดกระสุนหนักคือ แบงก์พันเย็บติดกัน ๒ ใบขึ้นไป
อย่าคิดว่าไม่มีนะครับ พรรคที่บอกรับเงินหมา ไปกาอีกเบอร์ นี่แหละตัวดี เล่นบทหมาเสียเอง เป็นมานานแล้วด้วย
ฉะนั้นก่อนการเลือกตั้ง อะไรที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ควรนำมาพูดกันให้หมดเปลือก
ดีกว่ารู้ทีหลังว่า ดันเลือกคนโกงเข้าสภา
คอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่นักการเมืองโดยรวมไม่อยากจะแก้ไข เพราะการแก้ไขคือการทุบหม้อข้าวตัวเอง
การคอร์รัปชันเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ยันเข้าสู่อำนาจเป็นรัฐบาล ฉะนั้นปัญหาคอร์รัปชันส่วนหนึ่งก็เกิดจากประชาชนนั่นเอง
การซื้อ-ขายเสียง ถือเป็นการคอร์รัปชันที่กัดกิน การเมืองไทยมานาน และจะดำรงอยู่ต่อไปหากประชาชนไม่ตระหนักว่านั่นคือหนทางสู่หายนะ
การซื้อเสียง นำมาซึ่งการถอนทุนคืน เป็นสูตรตายตัว
ไม่มีนักการเมืองคนไหนซื้อเสียงประชาชนไปแล้ว จะไม่ถอนทุนคืน
ฉะนั้นต้องท่องให้ขึ้นใจ
ต้องลืมตรรกะ โกงไม่เป็นไรขอให้แบ่งกัน ให้ได้
ครับ…องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เผยแพร่ “รายงาน ๑๐ ปีคดีโกงของนักการเมืองไทย”
รวบรวมข้อมูลจากการนำเสนอข่าวโดยสื่อมวลชน เฉพาะคดีที่มีการชี้มูลความผิดโดย ป.ป.ช. การตัดสินคดีโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ระหว่างปี ๒๕๕๕ ถึงปัจจุบัน
พบว่า มี ๖๑ คดี และมีนักการเมืองกระทำผิด ๖๘ คน
ใน ๖๑ คดี จำแนกตามลักษณะความผิด ดังนี้
๑.โกงเลือกตั้ง ๒๕ คดี
๒.ยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ ๙ คดี
๓.โกงจัดซื้อจัดจ้างและฮั้วประมูล ๘ คดี
๔.เอื้อประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง ๘ คดี
๕.ประพฤติมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ๓ คดี
๖.แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ๒ คดี
๗.ร่ำรวยผิดปกติ ๒ คดี
๘.บุกรุกที่ดินหลวง ๒ คดี
๙.เรียกรับสินบน ๑ คดี
๑๐.เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ๑ คดี
สำหรับนักการเมือง ๖๘ คนในที่นี้หมายถึง ส.ส. ส.ว. สนช. รัฐมนตรี ทั้งจากพรรคเล็ก พรรคใหญ่ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน
โดยรวมก็คือนักการเมืองที่อยู่ในทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภานั่นแหละครับ
ข้อมูลของ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ได้ระบุถึงคดีคอร์รัปชันโครงการขนาดใหญ่มักมีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง ทำกันเป็นเครือข่ายและมีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมด้วย
อย่างไรก็ตามกลับพบว่าส่วนใหญ่มีแต่ข้าราชการที่ถูกดำเนินคดี เช่น
คดีถุงมือยาง ความเสียหาย ๒ พันล้านบาท
คดีสร้างโรงพัก มูลค่า ๕,๘๔๘ ล้านบาท
แฟลตตำรวจทั่วประเทศ มูลค่า ๓,๗๐๐ ล้านบาท
แต่ก็มีคดีที่มีหลักฐานแน่นหนาว่ากระทำโดยนักการเมือง เช่น คดีสนามฟุตซอล มูลค่า ๔,๔๕๐ ล้านบาท และคดีรุกป่า เป็นต้น
สำหรับคดีที่ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ระบุได้ว่าสร้างความเสียหายให้ประเทศมูลค่าสูงสุดในรอบ ๑๐ ปี ได้แก่
คดีโครงการจำนำข้าว มูลค่า ๑.๓ แสนล้านบาท
ตามด้วยคดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน มูลค่า ๒.๔๙ หมื่นล้านบาท
มีอีก ๘ คดีที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและฮั้วประมูล มีมูลค่าความเสียหายรวมกัน ราว ๕.๒ หมื่นล้านบาท
ดูเหมือนการปราบคอร์รัปชันในประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้นตามลำดับ จากที่นักการเมืองไม่เคยติดคุก มาวันนี้ติดคุกไปหลายรายแล้ว แต่…ยังครับ
สถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้นมากนัก
เพราะแต่ละปีเกิดเรื่องอื้อฉาวและเรื่องร้องเรียนต่อป.ป.ช. และยื่นฟ้องต่อศาลจำนวนมาก
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ยืนยันว่ามีเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้นที่ถูกชี้มูลและศาลตัดสินว่าผิดจริง
เพราะคดีอื้อฉาวจำนวนมากใช้เวลาดำเนินคดีมากกว่า ๑๐ ปีถึง ๓๐ ปีก็มี
บางคดีผ่านไป ๒๐ ปีเพิ่งแจ้งข้อกล่าวหา
บางคดีเอาผิดใครไม่ได้เพราะหมดอายุความ
ฉะนั้นในแง่ของกระบวนการปราบคอร์รัปชัน ยังถือว่าไม่แข็งแรงพอ
ตามสถิติการดำเนินคดีนักการเมืองข้อหาร่ำรวยผิดปรกติน้อยมาก
ทั้งที่พบว่า นักการเมืองแจ้งบัญชีทรัพย์สินให้ร่ำรวยมากขึ้นหรือลดลงอย่างผิดปกติจำนวนมาก
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน พบข้อมูลว่า เกิดพฤติกรรมประหลาดของนักการเมืองเมื่อเกิดคดีความ หรือส่อว่าจะมีคดี
เช่น จดทะเบียนหย่าจากคู่สมรส
เปลี่ยนชื่อ-นามสกุล เป็นต้น
จากรายงาน เห็นได้ชัดว่าหากเราเลือกนักการเมืองโกงเข้ามา ประเทศอาจล่มจมได้
นี่คือบทเรียน
ฉะนั้นการปราบคอร์รัปชัน ต้องแก้จากจุดเริ่มต้นให้ได้
ประชาชนไม่ขายเสียง นักการเมืองไม่ซื้อเสียง
ถ้าแก้ตรงนี้ไม่ได้ก็อย่าหวังว่าประเทศไทยจะปลอดจากคอร์รัปชัน
เพราะประชาชน อยู่ร่วมในขบวนการคอร์รัปชันนั่นเอง