ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกและกรรมการบริหาร พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงมุมมองการเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า ส่วนตัวเองมองว่าหากให้ประเมินล่วงหน้าขณะนี้ความแม่นยำจะน้อย ต้องดูช่วงใกล้ๆหรือโค้งสุดท้ายของเลือกตั้งว่าแต่ละพรรคจะมีอาวุธลับอะไรออกมา แต่หากถามเป้าหมายของพปชร.พยายามจะรักษาฐานคะแนนเสียงเดิมที่เคยทำไว้ในปี 2562 ที่ได้กว่า 7.9 แสนเสียงและหากเพิ่มได้ก็คาดหวังจะไปสู่ระดับ 1 ล้านเสียง
“ ปี ’62 เราได้ส.ส.มา 12 ที่นั่งเราก็พยายามรักษาไว้แต่ยอมรับว่าเมื่อมีการแตกเป็น 2 พรรคไปแล้ว และยังมีผู้เล่นที่เพิ่มขึ้นอื่นๆอีก การแข่งขันสูงขึ้นกว่าเดิมในปี 66 นี้ เราถึงต้องพยายามคัดผู้สมัครส.ส.ไปลงพื้นที่แบบเข้มข้น ส่วนตัวมองว่าอะไรก็เป็นไปได้หมด คนกทม.เองมีลักษณะเป็นคนเปิดกว้าง และพร้อมเปิดโอกาสให้กับพรรคและคนที่เสนอตัวทำงาน
การกาบัตรให้ไม่ได้ขึ้นอยู่นโยบายเพียงอย่างเดียว แต่เขาเลือกที่แคนดิเดตนายก แล้วก็เลือกพรรคว่ามีจุดยืนอย่างไรตรงกับ ที่เขารู้สึกว่าอยากให้ประเทศเดินไปแบบไหนในช่วงนั้นด้วย ประเมินวันนี้เลยตอบยาก ต้องดูช่วง2-3สัปดาห์สุดท้ายก่อนเลือกตั้ง”ศ.ดร.นฤมลกล่าว
สำหรับจุดยืนทางการเมือง พรรคพปชร.ได้ย้ำเสมอในหลายเวทีว่า ไม่ทะเลาะกับใครแน่ๆ ให้มันจบในสภาฯ และไม่มีทางที่จะร่วมมือกับผู้ที่ทุจริต คอร์รัปชั่น และไม่เห็นด้วยที่จะก่อรัฐประหารอีกครั้งและหากพปชร.ไม่สามารถรวบรวมเสียงสภาล่างได้เกินกึ่งหนึ่งก็จะไม่ฝืน แต่พรรคเองก็ยังคงเดินหน้าต่อไปผ่านคนรุ่นต่อๆไปที่จะมารับช่วงต่อในการเป็นสถาบันทางการเมือง
ทั้งนี้นโยบายของพปชร.ที่ชูแคมเปญก้าวข้าวความขัดแย้งนั้น หากมองย้อนไปเป็นจุดยืนเดิมตั้งแต่ปี 62 แล้วเพียงแต่ตอนนั้นช่วง1-2สัปดาห์สุดท้ายหาเสียงได้เกิดแคมเปญ ความสงบ จบที่ลุงตู่ ซึ่งวันนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนจุดยืนคือไม่ทะเลาะกับใครและไม่อยากให้ประชาชนลงถนนมาทะเลาะกันเอง อยากให้พรรคฯเป็นสถาบันทางการเมือง ที่เดินหน้า ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยที่ให้ความเห็นต่างทั้งหลายจบในสภาฯ
อย่างไรก็ตามหากถามว่าแคมเปญนี้พอไหม ยอมรับว่าไม่เพียงพอ เพราะประชาชนคนไทยย่อมต้องการนโยบายที่ไปตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัดเองความต้องการในรายละเอียดก็ต่างกันออกไป จึงเป็นสิ่งที่พปชร.ได้เปิดเวทีต่างๆ ที่จะรับฟังปัญหาโดยตรงในการนำมาสู่การวางนโยบายที่จะเข้าถึงประชาชนในแต่ละพื้นที่ให้มากสุด
ดังนั้นผู้สมัครของกทม.จึงนำเสนอสิ่งที่จะทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก่อนเลยคือ ความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยเพราะพบว่ามีคนกรุงจำนวนมาก ที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยมองรูปแบบอาจเป็นภาครัฐร่วมเอกชน(PPP)พื้นที่อาจเป็นของรัฐแต่ให้เอกชนมาร่วมบริหารจัดการ ให้ธนาคารรัฐมาสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้เขามีบ้านเป็นของตนเองในที่สุด เพราะเมื่อมีความมั่นคงในชีวิตคุณภาพอื่นๆก็จะตามมา เป็นต้น
“ว่าที่ผู้สมัครส.ส.ที่คุยกันคือไม่อยากเห็นการนำเสนอนโยบายมาบลั๊ฟกันแล้วกลายเป็นภาระของคนไทยทั้งหมด การแจกเงินหรือประชานิยมจะทำให้ระยะยาวชาวบ้านเคยตัวและจะไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้เลย จะเห็นว่าพปชร.โยบายไม่ได้มีเม็ดเงินที่จะให้อย่างเดียวเรามองครบทุกมิติแก้ไขที่ต้นเหตุ
เช่น กรณีผู้พิการเขาไม่ได้อยากได้เงินอย่างเดียวนะ เขาอยากมีศักดิ์ศรีอยากมีงานทำ แก้ปัญหาต้นเหตุคือให้เขามีงานทำ วิชาชีพไหนที่จะรับเขาได้โดยใช้ธุรกิจเพื่อสังคม(SE) เข้าไปดำเนินการ ให้เขามีงานทำไม่ใช่มาพึ่งเบี้ยยังชีพผู้พิการอย่างเดียว นโยบายที่ดีต้องคำนึงถึงความยั่งยืนและคิดคำนึงถึงภาระการคลังหรือภาษีประชาชนที่ต้องจ่ายในอนาคต“ศ.ดร.นฤมลกล่าว