ตัวเลขที่ไม่ใช่แค่ตัวเลข-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ตัวเลข…ใครคิดว่าไม่สำคัญ

ดูตอนหยิบได้เบอร์ผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์สิครับ บางคน บางพรรคถึงกับหน้าเบ้

ผิดหวังอย่างแรง

ไม่ได้เลขตามที่ต้องการ

ทุกพรรคต้องการเลขตัวเดียวทั้งนั้น เพราะจำง่าย เอาไปหาเสียงง่าย

ได้ ๑-๕ นี่ถือว่ายอดเยี่ยม ชูแค่มือเดียว

เลยไป ๖-๑๐ ต้องชูสองมือ

หลุดจากนี้อยู่ที่เทคนิคของแต่ละพรรคแล้วว่าต้องชูอย่างไร

อย่าง ๒๒ ของรวมไทยสร้างชาติ “ลุงตู่” ทำให้ง่ายขึ้นเยอะทีเดียว

ชูมือละ ๒ นิ้ว

เล่น Y2K ก็ได้ด้วย

เอากะลุงสิ!

แต่ถ้าเป็น ๒๙ อย่างที่เพื่อไทยหยิบได้ ยากหน่อย ชูนิ้วไม่ถูก

มือซ้าย ๒ มือขวา ๙ ก็ไม่ได้

เพิ่มนิ้วเท้าก็ไม่สุภาพ

สรุปคือ ไม่ต้องชู

ยกแรก เพื่อไทยก็มีเรื่องให้กวนใจแล้ว เพราะ “ชลน่าน  ศรีแก้ว” ดูไม่ค่อยสบายใจ ขอรอดูว่าพรรคอื่นยื่นเอกสารครบหรือเปล่า ถ้าไม่ครบ กกต.ก็เขี่ยออก

ถ้าร่นมา ๒๕ ก็ชูง่ายหน่อย มือซ้าย ๒ มือขวา ๕

แต่กับ “ลุงป้อม” หมายเลข ๓๗ ไม่กวนหัวจิตหัวใจเลย กลับเป็นใจบันดาลแรงมากกว่า บันดาลออกมาเป็น ๑๐

๓ บวก ๗ ได้ ๑๐ ถือเป็นเลขมงคล

ยังหมายถึง ๓ นโยบายหลักของพรรคพลังประชารัฐ

และบัตรประชารัฐ ๗๐๐

ตบเข่าฉาดสิครับ!

คิดได้ไง?

ที่แฮปปี้สุดน่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย หยิบได้หมายเลข ๗

“เสี่ยหนู” ถึงกับหัวเราะร่วน ได้เลขถูกโฉลก

ที่จริง ถ้าคิดว่ามันไม่เป็นปัญหา ก็ไม่เป็นครับ ก็ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร แค่ตัวเลข

แต่บางพรรคไม่ได้เลย ถือเป็นปัญหาใหญ่

เลือกตั้งปี ๒๕๖๒ มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัคร ส.ส.ทั้งสิ้น ๔๔ พรรค อย่างไรเสียโอกาสที่พรรคใหญ่จะได้เลขตัวเดียว ไม่ใช่เรื่องง่าย

คราวนี้ ๔๙ พรรค มากกว่าเดิม

โอกาสก็ยิ่งยากเข้าไปอีก

ฉะนั้นหากพรรคไหนถือฤกษ์ยาม เชื่อเรื่องตัวเลข ต้องไม่สบอารมณ์เป็นแน่

ทีนี้มาดูแนวโน้มว่าพรรคไหนจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เท่าไหร่กันบ้าง

ปี ๒๕๖๒ พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.มีถึง ๒๖ พรรค

พรรค ๑ เสียง คือพรรคที่ได้ ส.ส.จากระบบปาร์ตี้ลิสต์ พรรคกลุ่มนี้ไม่ได้ ส.ส.เขตเลย

เพราะเสียงไม่ตกน้ำ ได้ ๓ หมื่นคะแนน ก็ได้เก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ๑ ที่นั่งแล้ว

แต่คราวนี้พรรคที่จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มีประมาณ ๑๐ พรรค เพราะเสียงตกน้ำ ไม่มีอีกแล้ว

คำนวณคร่าวๆ เลือกตั้ง ๑๔ พฤษภาคมปีนี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ๑ ที่นั่ง ประชาชนต้องกาถึง ๓.๘ แสนคะแนน

ทำไมต้อง ๓.๘ แสนคะแนน?

รัฐธรรมนูญที่แก้ไขกันใหม่ ยังคงมี ส.ส. ๒ ประเภทเช่นเดิม แต่ที่เปลี่ยนคือจำนวน

ส.ส.เขตมี ๔๐๐ คน

ส่วน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ๑๐๐ ที่นั่ง

ก็อย่างที่รู้ๆ กันเลือกครั้งนี้ต้องกาบัตร ๒ ใบ

ใบแรก เลือก ส.ส.เขต

ใบที่สองเลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หรือที่เรียกติดปากว่าเลือกพรรค

การคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ต้องเอาจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ทั้งหมดเป็นตัวตั้ง หารด้วย ๑๐๐ ซึ่งก็คือจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

อ้างอิงจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว คือปี ๒๕๖๒ มีจำนวนประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ์ลงคะแนนอยู่ที่ ๓๘,๒๖๘,๓๗๕ คน คิดเป็นร้อยละ ๗๔.๖๙ ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน

ฉะนั้นเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ๑ ที่นั่ง จะเท่ากับ ๓.๘ แสนคะแนน

หากต้องการ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ๑๐ คน ต้องได้คะแนนจากบัตรเลือกพรรค ๓.๘ ล้านเสียง

ลองใช้ผลการเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ มาเป็นตัวตั้ง พรรคที่จะได้เก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มีทั้งสิ้น ๑๑ พรรคเท่านั้น

เพื่อไทย ๗,๘๘๑,๐๐๖ คะแนน

พลังประชารัฐ ๘,๔๔๑,๒๗๔ คะแนน

อนาคตใหม่ ๖,๓๓๐,๖๑๗ คะแนน

ประชาธิปัตย์ ๓,๙๕๙,๓๕๘ คะแนน

ภูมิใจไทย ๓,๗๓๔,๔๕๙ คะแนน

เสรีรวมไทย ๘๒๔,๒๘๔ คะแนน

ชาติไทยพัฒนา ๗๘๓,๖๘๙ คะแนน

ประชาชาติ ๔๘๑,๔๙๐ คะแนน

เศรษฐกิจใหม่ ๔๘๖,๒๗๓ คะแนน

เพื่อชาติ ๔๒๑,๔๑๒ คะแนน

รวมพลังประชาชาติไทย ๔๑๕,๕๘๕ คะแนน

แต่เลือกตั้ง ๑๔ พฤษภาคม มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก เพราะมีจำนวน ส.ส.ย้ายพรรคกันมากเป็นประวัติการณ์นั่นเอง

และยังมีพรรคใหม่เกิดขึ้นมา อาทิ รวมไทยสร้างชาติ ไทยภักดี เป็นต้น

หากต้องการได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ๑๐ คน ต้องมีคะแนนเลือกพรรคถึง ๔ ล้านเสียง

พรรคที่อยู่ในข่ายทำได้ มีอยู่หลายพรรค อาทิ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ก้าวไกล

ส่วนเพื่อไทยแลนด์สไลด์ต้องทำให้ได้ ๑๖ ล้านเสียง ถึงจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ร่วมๆ ๔๐ ที่นั่ง ตามที่โม้กันไว้

ในการเลือกตั้งปี ๒๕๕๔ พรรคเพื่อไทยเคยทำได้ ๑๕.๗ ล้านเสียง แต่นั่นเป็นการแข่งกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทำได้ถึง ๑๑.๔ ล้านเสียง

ภูมิใจไทยยุคนั้นได้แค่ ๑.๒ ล้านเสียง

แต่คราวนี้ เพื่อไทยมีคู่แข่งจากคนเก่าของเพื่อไทยเอง  และคู่แข่งเดิม อาทิ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย

โอกาสที่พรรคการเมืองไหนจะได้เกิน ๑๐ ล้านเสียงไม่ง่ายเลย

ครับ…นี่คือตัวเลข เอาไว้ดูเรียกน้ำย่อยก่อนถึงวันเลือกตั้ง

Written By
More from pp
“ชลน่าน” ชี้ ฝ่ายค้านยึดมั่นชัดเจนไม่รับหลักการ
๒ มิถุนายน ๒๕๖๕ – ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงภาพรวมการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ รายจ่าย ปี...
Read More
0 replies on “ตัวเลขที่ไม่ใช่แค่ตัวเลข-ผักกาดหอม”