30 มีนาคม 2566 – ม.ล.ชโยทิต กฤดากร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรครวมไทยสร้างชาติ เข้าร่วมเวทีตอบข้อซักถามมุมมองของภาคธุรกิจต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศ” โดยผู้นำภาคธุรกิจเอกชน และผู้นำ 10 พรรคการเมือง จัดโดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพี่อนำเสนอประเด็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากมุมมองนักธุรกิจต่อพรรคการเมืองแปลงสู่การกำหนดนโยบายที่ปฏิบัติได้จริง
ในวันนี้ (30 มีนาคม 2566) ที่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยในเวทีดังกล่าว นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้นำเสนอประเด็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในมุมมองของนักธุรกิจ 3 ด้านหลัก คือ Connect Competitiveness และ Sustainability
ม.ล.ชโยทิต กล่าวถึงประเด็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศว่า ด้วยการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมาได้มีวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ถนน ขนส่งทางราง เชื่อมโยงกันเพื่อการขนส่งที่สะดวก รวมถึงด้านดิจิทัลที่จะสามารถกระจายองค์ความรู้ต่างๆ และเราได้ทำสำเร็จแล้ว คือ
เป็นศูนย์กลางการเก็บข้อมูลที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ดังนั้นจึงเป็นปัจจัยที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมที่ไทยมีต้นทุนที่ดีอยู่แล้ว เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ EV และการท่องเที่ยว เดินหน้าต่อไปได้ในเวทีโลก
หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า การเพิ่มขีดความสามารถของไทย มีแนวทางที่ชัดเจนสอดคล้องกับค่านิยมของโลก จากสิ่งที่รัฐบาลได้ทำไปแล้วและกำลังทำอยู่ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตของโลกที่สะอาด ทำให้มีการดำเนินการด้วย roadmap ที่ชัดเจนเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และมาตรการขับเคลื่อนพลังงานสะอาดที่จะไม่มีการใช้ถ่านหินภายในปี ค.ศ.2030
โดยในปี ค.ศ.2040 ประเทศไทยจะใช้พลังงานสะอาดและพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ จึงทำให้ไทยจะเป็นฐานการผลิตของโลกที่สะอาด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศที่มุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานที่สะอาดที่ได้ปักธงทั่วโลก และดำเนินการไปพร้อมกับการค้าการลงทุนอุตสาหกรรมด้านอุปโภคบริโภค และอาหาร
“ขณะนี้ประเทศไทยได้ทำสำเร็จแล้วในการวางโครงสร้างพื้นฐาน การมีแผนปฏิบัติการ roadmap ที่ชัดเจนด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน จนทำให้บริษัทดิจิทัลแพลทฟอร์มระดับโลกไม่ว่าจะเป็น Google หรือ AWS (Amazon Web Services) มาลงทุนในประเทศไทยเพราะทุกบริษัทต้องการพลังงานสะอาด ทุกอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นแต้มต่อของประเทศไทยและเป็นอุตสาหกรรมใหม่กำลังขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี
ขณะนี้อุตสาหกรรมรถไฟฟ้า (EV) ทั้งรถจากค่ายญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป และจีน ตอบรับมาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตแล้ว ด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำที่ผลิตเวเฟอร์ ชิป (Wafer Fabrication) จากต่างประเทศก็กำลังดำเนินการของ BOI อยู่” ม.ล.ชโยทิต กล่าว
ม.ล.ชโยทิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เรากำลังจะทำต่อ คือ ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคใต้ เพื่อกระจายรายได้และความเจริญไปทั่วประเทศไทย โดยจะมีแหล่งพลังงานสะอาดเป็นหัวใจสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค และส่งเสริม SME ให้ภาครัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ร้อยละ 50 และยังมี e-factoring และกองทุนต่างๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องด้านแหล่งเงินทุนให้กับ SME
นอกจากนี้ในด้านการค้าระหว่างประเทศ นอกเหนือจาก FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อให้เกษตรกรไทยได้ประโยชน์สูงสุดแล้ว ไทยยังได้เจรจาในช่วงการประชุมเอเปคที่ผ่านมาให้สินค้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดของไทยได้รับสิทธิพิเศษ Green Lane กับประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและ OECD
“สำหรับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ดำเนินการสำเร็จในแต่ละขั้นตอนและทั่วโลกยอมรับแล้วนั้น ขณะนี้เริ่มผลิดอกออกผล ในการสร้างรายได้ให้ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งโมเดลเศรษฐกิจนี้จะทำให้เราไปสู่เศรษฐกิจศูนย์รวมอุตสาหกรรมใหม่
ศูนย์รวมความกินอยู่ที่ดี และศูนย์รวมแห่งความยั่งยืน ที่ทำให้เราเชื่อมั่นว่าทั้งส่วนที่ได้ทำไปแล้วและกำลังทำอยู่ จะทำให้ประเทศไทยมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 4 ล้านล้านบาทภายใน 2-3 ปี ประเทศไทยจะเป็นศูนย์รวมของ 3P คือ People Prospect และ Planet” ม.ล.ชโยทิต หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าว