เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง เป็นหัวหน้าคณะนำคณะกรรมาธิการการแรงงาน และคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและการโทรคมนาคม วุฒิสภา
โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา พร้อมด้วย พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและการโทรคมนาคม วุฒิสภา เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อศึกษาภาพรวมธุรกิจของหัวเหว่ย ณ สำนักงานใหญ่ บริษัทหัวเหว่ย ตั้งอยู่ที่เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
ซึ่งเป็นบริษัทผู้ที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีชั้นนำของจีน โดยมี ดร.ชวพล จริยวิโรจน์ ประธานบริษัทหัวเหว่ยประเทศไทย และคุณปิยพร กิตศิรินันท์ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นคนไทยที่ทำงานกับบริษัทหัวเหว่ย ร่วมให้การต้อนรับ
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า การมาเยี่ยมชมธุรกิจของบริษัทหัวเหว่ย ที่เมืองเซินเจิ้นของคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ในครั้งนี้เพื่อศึกษาภาพรวมธุรกิจของหัวเหว่ย ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายและโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของจีน และเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์และติดตั้งงานโครงสร้างพื้นฐานของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ของโลก โดยบริษัทได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
เพื่อตอบสนองตามความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ขณะเดียวกันบริษัทยังเป็นผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเฉพาะเทคโนโลยีเซลลูลาร์ไร้สายยุคที่ 5 หรือ 5G ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลแบบก้าวกระโดด ปัจจุบันหัวเห่วยมีพนักงานทั่วโลกกว่า 270,000 คน
ซึ่งพนักงานของที่นี่มีความท้าทายที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดจนคำนึงถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศ ในส่วนของบริษัทหัวเหว่ยที่ประเทศไทยปัจจุบันมีพนักงานประมาณ 2,700 กว่าคน ได้มีการทำงานร่วมกันกับกระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในการฝึกอบรมทักษะเพื่อผลิตกำลังคนด้านเทคโนโลยีรองรับการเข้าสู่ยุคสังคมดิจิทัล
สำหรับภาพรวมของสถานการณ์ด้านแรงงานของจีน พบว่า เมื่อปี 2565 มณฑลกวางตุ้งจ้างงานเพิ่มสูงที่สุดในจีน จำนวน 1.32 ล้านตำแหน่ง การว่างงานเฉลี่ยทั้งปีร้อยละ 5.5 ในปี 2566 มณฑลกวางตุ้งกำหนดเป้าหมายการจ้างงานในตำแหน่งใหม่จำนวน 1.1 ล้านตำแหน่ง ส่วนภาคอุตสาหกรรมบริการมีการจ้างงานมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 53.1 ของการจ้างงานทั้งหมดในมณฑลกวางตุ้ง
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเกษตรจ้างงานร้อยละ 10.6 ภาคอุตสาหกรรมการผลิตจ้างงานร้อยละ 36.3 มณฑลกวางตุ้งมีบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะทางและบุคลากรที่มีศักยภาพทางเทคนิค มากที่สุดในจีน ที่ 8.91 ล้านคน และ 18.5 ล้านคน ตามลำดับ
ส่วนการพัฒนาการด้านไอซีที มณฑลกวางตุ้งมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีที่ล้ำหน้าที่สุดแห่งหนึ่งของจีน โดยเมืองเซินเจิ้น เมืองฮุ่ยโจว และเมืองตงก่วน เป็นฐานของห่วงโซ่อุตสาหกรรมไอซีทีที่สำคัญระดับโลก และเป็นที่ตั้งของบริษัทด้านไอซีทีอย่างบริษัทหัวเหว่ยอีกด้วย