ภาครัฐปราบหมูเถื่อนอย่างไร? หมูไทยฟื้นยาก

สมสมัย หาญเมืองบน นักวิชาการอิสระ

หากติดตามราคาสุกรของไทยมาตลอดนับแต่กรมปศุสัตว์ ยืดอกยอมรับว่าพบโรคระบาด ASF ในประเทศ เมื่อต้นปี 2565 จากนั้นเกิดวิกฤตในวงการหมู 3 เรื่องใหญ่ คือ

1. ผลผลิตหายไป 50% 2.ราคาในประเทศพุ่งขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนจากอุปสงค์ที่มากกว่าอุปทาน และ 3.“หมูเถื่อน” เกลื่อนเมือง กดราคาหมูไทยให้อยู่ในภาวะขาดทุนในปัจจุบัน

ที่สำคัญ 2 ปีที่ผ่านมา ผู้เลี้ยงหมูเหมือนอยู่ในวิบากกรรมครั้งใหญ่ เพราะนอกจากผลผลิตเสียหายจำนวนมากที่ยากจะเยียวยาแล้ว การฟื้นฟูกิจการยังต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบอาหารสัตว์ทะยานขึ้น 20% และ 30% ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับขึ้นตามไปด้วย

จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ทำให้ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มจากราคาเฉลี่ยประมาณ 72-85 บาทต่อกิโลกรัม ช่วงปี 2562-2564 ปรับขึ้นเป็น 100-115 บาทต่อกิโลกรัม ในปี 2565 เทียบกับต้นทุนผลิตของเกษตรกรที่ 98-100 บาทต่อกิโลกรัม ที่ราคาหมูเนื้อแดงเฉลี่ยประมาณ 180-200 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าเป็นราคาที่ผู้ผลิตอยู่ได้ ผู้บริโภคอยู่ได้

ราคาเนื้อหมูในประเทศที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กระตุ้นต่อมความโลภของ “มิจฉาชีพ” ให้เห็นช่องทางทำกำไรจากส่วนต่างราคาทำการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนที่ต้นทุนต่ำกว่าประมาณ 2-3 เท่า มาขายในไทย

สนนราคาหมูเถื่อนปีที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 135-145 บาทต่อกิโลกรัม ผู้บริโภค ร้านหมูกระทะ ร้านอาหารตามสั่ง เห็นราคาต้องร้องว้าว…สั่งกันมือเป็นระวิง เพราะรูปแบบการค้าขายที่ทันสมัยผ่านออนไลน์ เฟสบุ๊ค สะดวกต่อการสั่งซื้อจากทั่วประเทศ เท่ากับหมูเถื่อนเข้ามาแข่งขันกับหมูไทยเต็มรูปแบบ

หมูเถื่อน นำความเดือดร้อนสาหัสมาสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทยในช่วงที่ยากลำบากที่สุด สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติต้องออกโรงเรียกร้องภาครัฐให้ออกมาปกป้องอุตสาหกรรมก่อนที่จะโดนหมูเถื่อน “รุมสกรัม” จนหมูไทยล่มสลาย กระตุ้นภาครัฐให้ปราบปรามอย่างจริงจัง สาวให้ถึงตัวการใหญ่ต้นทางสั่งนำเข้าและเครือข่ายมิจฉาชีพทั้งขบวนการ

ทั้งพ่อค้าคนกลาง บริษัทขนส่ง และชิ้ปปิ้ง และยังชี้ช่องประตูหลักที่ลักลอบนำเข้ามา คือ ท่าเรือแหลมฉบัง ขอให้ตรวจสอบ-จับกุมเคร่งครัด

ล่วงเลยไป 1 ปี ภาครัฐปราบปรามอย่างไร? ผู้เลี้ยงหมูยังคงร้องระงมว่า “หมูเถื่อน” เป็นตัวแปรสำคัญที่กดดันราคาหมูไทยออกจากวงโคจรเพราะยังวนเวียนสร้างความปั่นป่วนให้ราคา ยิ่งปี 2566 ผ่านไป 2 เดือน ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มร่วงไป 18 บาทต่อกิโลกรัม หลังอ่อนตัวลงตั้งแต่ธันวาคม 2565 เฉลี่ยที่ 96-100 บาทต่อกิโลกรัม และลงไปต่ำสุดที่ 76 บาท เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ ในฐานะตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงทั่วประเทศต้องประกาศปรับฐานราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มขึ้น 6-8 บาทต่อกิโลกรัม ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ราคาเฉลี่ยนขึ้นไปที่ 84-90 บาท ขึ้นกับแต่ละพื้นที่ แต่ราคาดังกล่าวยังต่ำกว่าต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 100.70 บาทต่อกิโลกรัม

ตราบใดราคาหมูไทยยังตกต่ำ สะท้อนว่า “หมูเถื่อน” ยังอยู่เป็นหอกข้างแคร่ทิ่มแทงผู้เลี้ยงหมูต่อไป ขัดขวางการพัฒนาวงการเลี้ยงหมูและประเทศชาติ กลายเป็นคำถามถึงภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงว่า “เมื่อไหร่หมูเถื่อนจะหมดไปจากประเทศเสียที?”

Written By
More from pp
พีทีที สเตชั่น จับมือ อาคเนย์ เปิดตัว “อาคเนย์ สเตชั่น” เพิ่มช่องทางให้บริการปรึกษาทางการเงิน อำนวยความสะดวกผู้บริโภค
นายสุชาติ ระมาศ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจค้าปลีก และ นายบุญมา พนธนกรกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (โออาร์) พร้อมด้วย นางภฤตยา สัจจศิลา...
Read More
0 replies on “ภาครัฐปราบหมูเถื่อนอย่างไร? หมูไทยฟื้นยาก”