เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า กรณีมติการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธานฯ ซึ่งผลที่ประชุมให้เลื่อนการแบน 3 สารเคมีอันตรายทางการเกษตร ได้แก่ ไกลโฟเซต พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ออกไปนั้น เรื่องดังกล่าวพรรคภูมิใจไทย โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข มีนโยบายชัดเจน คือเราเห็นสุขภาพประชาชนสำคัญที่สุด จึงมีนโยบายที่จะต้องเลิกใช้ 3 สารเคมีดังกล่าว พรรคภูมิใจไทย ไม่ได้มีผลประโยชน์อื่นใดในทางมิชอบอย่างแน่นอน มีผลประโยชน์อย่างเดียวที่จะได้คือ สุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และพี่น้องเกษตรกร ที่หากเลิกใช้สารเคมีดังกล่าวก็จะเป็นผลดีต่อสุขภาพ
“การที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีท่านสุริยะ เป็นประธานฯ ได้มีมติยังไม่แบน 3 สารเคมีอันตราย ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของเขา เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง ไม่ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลแน่นอน เพียงแต่ว่าจุดยืนท่านอนุทิน ในฐานะที่เป็นเจ้ากระทรวงสาธารณสุข ชัดเจนว่าอะไรที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพ ต่อชีวิตประชาชน เราเห็นชอบด้วยไม่ได้ ท่านอนุทิน รวมถึงรัฐมนตรีมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ในฐานะรมช.เกษตรฯ ที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร ก็ได้ทำเต็มที่ ช่วยกันผลักดันเรียกว่าสุดซอยแล้ว เพื่อปกป้องสุขภาพ รักษาชีวิตพี่น้องประชาชน แต่ทั้งหมดมันมีกระบวนการที่เป็นไปตามกฎหมายอยู่ ก็ไม่เป็นไร หลังจากนี้ท่านอนุทิน ก็จะได้เดินหน้าเพื่อรักษาป้องกันสุขภาพประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีเหล่านี้ต่อไป” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว
โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในส่วนรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยยังคงเดินหน้าทำงานในส่วนรับผิดชอบเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ พี่น้องประชาชนต่อไป ไม่ว่าจะเป็นนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่ได้ยืนยันชัดเจนว่าพบพิรุธ 9 ¬ข้อ หลังจากได้ตั้งคณะกรรมการศึกษากรณีการจ่ายค่าชดเชยให้บริษัทโฮปเวลล์ ซึ่งจะได้นำข้อมูลใหม่ที่ได้ฟ้องต่อศาลเพื่อให้สัญญาเดิมเป็นโมฆะ เพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายค่าโง่จำนวน 2.4 หมื่นล้าน ยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวเราตั้งใจทำเพื่อรักษาประโยชน์ชาติ รักษาเงินแผ่นดินที่เป็นภาษีของพี่น้องประชาชน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เราจะดำเนินการยอย่างรอบคอบที่สุด เพราะเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายและงบประมาณจำนวนมาก
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ในส่วนของงานด้านเศรษฐกิจ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่มีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็นรัฐมนตรีว่าการนั้น ที่ผ่านมามีแนวทางกระตุ้นการท่องเที่ยวที่จะส่งผลดึงเม็ดเงินเข้าประเทศมาโดยตลอด เช่น โครงการที่ ก.ท่องเที่ยวฯ จับมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) การกีฬาแห่งประเทศไทย ก.สาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และไทยแลนด์ไตรลีก ในการจัดแข่งขันวิ่งมาราธอนส่งเสริมการท่องเที่ยว “วิ่งผ่าเมืองครั้งที่ 3 ประจำปี 63” ในชื่อ “อะเมซิ่งไทยแลนด์มาราธอนแบงค็อก 2020 พรีเซ็นต์บายโตโยต้า” คาดว่าจะมีนักวิ่งทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติร่วมแข่งขันกว่า 30,000 คน สร้างรายได้มากกว่า 900 ล้านบาท ซึ่งนอกจากกระตุ้นการท่องเที่ยวแล้วยังมีผลดีต่อเศรษฐกิจอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่าง ททท. กับ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยังยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามนโยบายของ ก.ท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งมุ่งเน้นในเรื่อง การยกระดับความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว (Safe) ส่งเสริมความสะอาดในแหล่งท่องเที่ยว (Clean) ส่งเสริมความเป็นธรรมในการท่องเที่ยว(Fair) และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและรักษ์สิ่งแวดล้อม (Sustainability) ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism) เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน ทั้งหมดจะเป็นปัจจัยที่ทำให้การท่องเที่ยวไทยเติมโตอย่างยั่งยืน