โฆษกรัฐบาลเผย เดือน ม.ค.66 ไทยส่งออกข้าวแล้ว 0.81 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 75.20% โดยส่งออกข้าวไปทุกภูมิภาคได้เพิ่มขึ้น เป็นสัญญาณเชิงบวกสำหรับการส่งออกข้าวไทยปี 66
22 มีนาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานสถานการณ์ข้าวโลกข้าวไทย ปี 2565/66 และการคาดการณ์ปริมาณการส่งออกข้าวไทย ปี 2566 อยู่ที่ 8 ล้านตัน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และปริมาณผลผลิตข้าวไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณผลผลิตข้าวโลกมีแนวโน้มลดลง
นายอนุชากล่าวถึงสถานการณ์ข้าวโลก ปี 2565/66 ตามที่กระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) คาดการณ์ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 การผลิตข้าวโลก ประมาณ 502.98 ล้านตันข้าวสาร ลดลง 11.82 ล้านตันข้าวสาร (-2%) จากปีการผลิต 2564/65 ที่มีปริมาณ 514.80 ล้านตันข้าวสาร เนื่องจากผลผลิตข้าวในประเทศ ของผู้ผลิตสำคัญมีแนวโน้มลดลง การบริโภคข้าวโลก ประมาณ 517.18 ล้านตันข้าวสาร ลดลง 2.71 ล้านตันข้าวสาร (-1%) จากปี 2564/65 ที่มีปริมาณ 519.90 ล้านตันข้าวสาร เนื่องจากการบริโภคข้าวมีแนวโน้มลดลง
การค้าข้าวโลก ประมาณ 54.17 ล้านตันข้าวสาร ลดลง 2.12 ล้านตันข้าวสาร (-4%) จากปี 2564/65 ที่มีปริมาณ 56.28 ล้านตันข้าวสาร เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกมีแนวโน้มส่งออกลดลง ประกอบกับประเทศผู้นำเข้ามีแนวโน้มนำเข้าลดลงด้วย ขณะที่สต็อกข้าวโลก ปลายปี 2565/66 ประมาณ 169.13 ล้านตันข้าวสาร ลดลง 14.21 ล้านตันข้าวสาร (-8%) จากปี 2564/65 ที่มีปริมาณ 183.34 ล้านตันข้าวสาร โดยจีนมีสต็อกข้าวมากที่สุด 107.00 ล้านตันข้าวสาร รองลงมา คือ อินเดีย 29.00 ล้านตันข้าวสาร ฟิลิปปินส์ 4.76 ล้านตันข้าวสาร อินโดนีเซีย 2.96 ล้านตันข้าวสาร และไทย 2.65 ล้านตันข้าวสาร
สำหรับการส่งออกข้าวโลก ณ วันที่ 1 มกราคม-24 กุมภาพันธ์ 2566 อินเดีย ส่งออกข้าวได้มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ประมาณ 1.69 ล้านตันข้าวสาร รองลงมา ได้แก่ ไทย 1.39 ล้านตันข้าวสาร เวียดนาม 0.92 ล้านตันข้าวสาร ปากีสถาน 0.63 ล้านตันข้าวสาร และสหรัฐฯ 0.19 ล้านตันข้าวสาร สำหรับราคาส่งออกข้าวสารของ The Rice Trader เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ไทย ราคาข้าวทุกชนิดปรับตัวลดลง
เวียดนาม ราคาข้าว Jasmine ปรับตัวสูงขึ้น ราคาข้าวขาวปรับตัวลดลง อินเดีย ราคาข้าวทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้น ปากีสถาน ราคาข้าวทุกชนิดปรับตัวลดลง และสหรัฐฯ ราคาข้าวขาวปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ การส่งออกข้าวของไทย ปี 2565 – 2566 ไทยส่งออกข้าวขาวเป็นอันดับหนึ่งคิดเป็น 52% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ข้าวนึ่ง (24%) ข้าวหอมมะลิไทย (17%) ข้าวหอมไทย (4%) ข้าวเหนียว (2%) และข้าวกล้อง (1%)
โดยตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทยอันดับหนึ่ง คือ ภูมิภาคเอเชีย คิดเป็น 52% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ภูมิภาคแอฟริกา (22%) ตะวันออกกลาง (12%) อเมริกา (9%) ยุโรป (4%) และโอเชียเนีย (1%)
ด้านแนวโน้มสถานการณ์การส่งออกข้าวไทย ปี 2566 กรมการค้าต่างประเทศและสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้ร่วมกันคาดการณ์ปริมาณการส่งออกข้าวไทยอยู่ที่ 8 ล้านตัน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และปริมาณผลผลิตข้าวไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ในขณะที่ปริมาณผลผลิตข้าวโลกมีแนวโน้มลดลง เพราะพื้นที่เพาะปลูกข้าวของประเทศผู้ผลิตสำคัญเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิกาศ ซึ่งอาจส่งผลให้ข้าวไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากขึ้น อย่างไรก็ตามปริมาณธัญพืชในตลาดโลกมีแนวโน้มกลับมาสูงขึ้น ส่งผลให้หลายประเทศลดปริมาณการนำเข้าข้าวลงและนำเข้าข้าวสาลีเพิ่มขึ้น
และจากปัจจัยค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและมีความผันผวน จะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของข้าวไทยลดลง รวมทั้งเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าอาจมีกำลังซื้อลดลงจากปัญหาเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ข้อมูลกรมศุลกากร เดือนมกราคม 2566 ไทยส่งออกข้าวแล้ว 0.81 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 75.20% โดยไทยส่งออกข้าวไปทุกภูมิภาคได้เพิ่มขึ้น ยกเว้นภูมิภาคโอเชียเนีย นับว่าเป็นสัญญาณเชิงบวกสำหรับการส่งออกข้าวไทยในปี 2566
นายอนุชากล่าวถึงสถานการณ์ข้าวไทย ปี 2565/66 ว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ ปี 2565/66 รอบที่ 1 (นาปี) มีพื้นที่ปลูกข้าว 62.92 ล้านไร่ ลดลงจากปีก่อน 0.09 ล้านไร่ (-0.1%) พื้นที่เก็บเกี่ยว 60.06 ล้านไร่ ลดลงจากปีก่อน 0.20 ล้านไร่ (-0.3%) และผลผลิต 26.70 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากปีก่อน 0.11 ล้านตันข้าวเปลือก (-0.4%) รอบที่ 2 (นาปรัง) มีพื้นที่ปลูกข้าว 11.34 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.79 ล้านไร่ (+19%) พื้นที่เก็บเกี่ยว 11.31 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.79 ล้านไร่ (+19%) และผลผลิต 7.35 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.18 ล้านตันข้าวเปลือก (+19%)
ด้านการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 (ณ วันที่ 12 มีนาคม 2566) รอบที่ 1 (นาปี) เกษตรกรขึ้นทะเบียนเพาะปลูกข้าว ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 31 ตุลาคม 2565 มีการขึ้นทะเบียนแล้ว 4.655 ล้านครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 62.30 ล้านไร่ และรอบที่ 2 (นาปรัง) ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 – 30 เมษายน 2566 มีการขึ้นทะเบียนแล้ว 0.289 ล้านครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 4.72 ล้านไร่
สถานการณ์ด้านราคา ณ วันที่ 16 มีนาคม 2566 เทียบกับปีก่อน ราคาข้าวเปลือกทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้น โดยข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาเพิ่มขึ้น 16% ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาเพิ่มขึ้น 20% ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาเพิ่มขึ้น 23% ข้าวเปลือกเจ้า ราคาเพิ่มขึ้น 17% และข้าวเปลือกปทุมธานี ราคาเพิ่มขึ้น 7% แนวโน้มสถานการณ์ราคาข้าว ปัจจัยบวก ได้แก่
ความต้องการใช้ข้าวในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศกำลังฟื้นตัว นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทย และการส่งออกข้าวไทยมีทิศทางเป็นบวก เนื่องจากค่าเงินบาทที่อยู่ในระดับ 34 -35 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก
ค่าขนส่งและค่าตู้คอนเทนเนอร์ปรับตัวลดลง ตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น และผลผลิตของประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม อินเดีย มีปริมาณจำกัด และปัจจัยลบ ได้แก่ ค่าเงินบาทไทยที่ค่อนข้างผันผวน ซึ่งหากค่าเงินบาทแข็งค่าอาจกระทบต่อราคาและการส่งออกข้าวไทย