เมื่อวันที่ 30 ม.ค. มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระการหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดย พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า วันนี้ตนอยากจะพูดในฐานะที่มีประสบการณ์มีความรู้ด้านต่อต้านก่อการร้ายสากล และในฐานะที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยทางเทคโนโลยี ซึ่งตนมีความรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยในรัฐสภา จึงต้องการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการรักษาความปลอดภัยของอาคารรัฐสภา เพราะตนเองในฐานะที่เป็นผู้เข้าใช้อาคารรัฐสภาแห่งนี้ สามารถรับรู้ถึงความไม่ปลอดภัยได้ และห่วงว่าอาจเกิดเหตุการณ์เลวร้ายได้ในอนาคตหากยังไม่มีการพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อระวัง ป้องกัน และรองรับเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งรัฐสภาของเรานี้ถือเป็นศูนย์รวมอำนาจของประเทศแห่งหนึ่ง มีบุคคลเข้ามาใช้งานมากมายตั้งแต่ผู้นำประเทศคือนายกรัฐมนตรีลงไปถึงชาวบ้านทั่วไป แต่จะเห็นได้ว่าการรักษาความปลอดภัยไม่ต่างอะไรกับออฟฟิศทั่วไป จากประสบการณ์คิดว่าบางอาคารในย่านสาธรยังมีระบบรักษาความปลอดภัยดีกว่ารัฐสภาของเราเลย ยิ่งอยู่ในช่วงการก่อสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ ยิ่งต้องเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้เข้มข้น เพราะมีคนเข้าออกตลอดเวลา
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า จะเห็นได้ว่ารัฐสภาของเรามีคนเข้าออกหลากหลายมาก ในแต่ละวันไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครเข้ามาบ้าง ดังนั้นการรักษาความปลอดภัยจึงต้องมีการบูรณาการให้มีความมั่นคงกว่านี้ ต้องมีการพัฒนานำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินการให้มีความทันสมัย โดยระบบจะต้องเข้มข้น และมีความยืดหยุ่นให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยในทุกมิติ โดยขณะนี้ได้มีเทคโนโลยีเรียกว่าระบบต่อต้านการโจมตีจากโดรน (Anti drone) ถือว่ามีความจำเป็นเพื่อรองรับสถานการณ์ ซึ่งรัฐสภาเรายังไม่มี ส่วนระบบการตรวจจับวัตถุระเบิด จะต้องมีการอัพเกรดขึ้น เพราะระเบิดในวันนี้ไม่ได้มีรูปแบบเป็นโลหะเหมือนเดิมแล้ว แต่พัฒนาไปในทางเคมีแล้ว ดังนั้นเครื่องตรวจจับที่เรามีอยู่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะตรวจจับได้ ดังนั้นตรงนี้ก็ต้องมีการพัฒนานำระบบที่มีตรวจจับขั้นสูงมาใช้ ส่วนระบบของบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ต่างๆ ต้องมีความสามารถในการเก็บข้อมูลมากขึ้น บัตรจะต้องกำหนดการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ และต้องสามารถติดตามได้ว่าคนๆนั้น เมื่อเข้ามาแล้วไปอยู่ตรงจุดไหน ไปอยู่ในจุดเสี่ยงหรือพื้นที่ควบคุมพิเศษหรือไม่
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ที่สำคัญคือจะต้องบูรณาการระบบไอที ระบบเทคโนโลยีการสื่อสาร ระบบกล้อง CCTV ทั้งหมด ให้เกิดเป็นฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน และต้องเชื่อมกับฐานข้อมูลอาชญากรด้วย เพราะจะต้องมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ใบหน้า (Face detection) วิเคราะห์ด้านกายภาพ (Physical detection) ว่าเป็นบุคคลต้องห้ามหรือไม่ และยังช่วยวิเคราะห์การเคลื่อนไหว (Movement detection) ว่าพฤติกรรมของคนที่เข้ามาว่ามีความผิดปกติหรือมีแนวโน้มในการก่อเหตุร้ายหรือไม่ อย่างไรก็ดีเมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแล้ว จะต้องมีการพัฒนาบุคลากรในการรักษาความปลอดภัยไปพร้อมๆกันด้วย เพื่อให้การทำงานรักษาความปลอดภัยเกิดประสิทธิภาพสูงสุดโดยไม่ก่อให้เกิดข้อผิดพลาด หรือผิดพลาดน้อยที่สุด รวมถึงระบบตรวจสอบรถเข้าออกรัฐสภา ซึ่งไม่ใช่แค่การตรวจใต้ท้องรถ แต่ต้องสามารถรู้ได้ว่ารถแต่ละคันเป็นของใคร เมื่อเข้ามาบริเวณสภาแล้วนำไปจอดตรงไหน เพื่อที่จะสามารถติดตามตรวจสอบได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุร้าย ตนจึงฝากไปยังหน่วยงานหรือผู้เกี่ยวข้องในการดูแลระบบรักษาความปลอดภัยของรัฐสภา จะต้องให้ความสำคัญคิดใหม่ทำใหม่ เร่งพัฒนายกระดับระบบรักษาความปลอดภัยของรัฐสภาให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากลโดยเร็ว ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของทุกคน