จากกรณีการเสียชีวิตของแรงงานไทยอายุ 67 ปี ที่ลักลอบเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้มาเป็นเวลานับสิบปี โดยพบร่างบนเนินเขาหลังฟาร์มหมู และตอนนี้ระบบ AI ของ ตม. เกาหลี ได้คัดกรองข้อมูลจาก KETA และขึ้นแบล็กลิสต์นักท่องเที่ยวไทย
โดยเฉพาะผู้ที่มาจาก 4 จังหวัดใหญ่ทางภาคอีสานให้เป็นพื้นที่ Red zone ได้แก่ ขอนแก่น ศรีสะเกษ อุดรธานี และยโสธร อีกทั้งคนไทยที่อายุต่ำกว่า 55 ปี ที่ไม่เคยมีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ หรือเข้า-ออกเกาหลีใต้ จะถูกตรวจสอบเป็นพิเศษเช่นกัน
“ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และอยากให้ภาครัฐเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบกระบวนการผิดกฎหมายที่นำแรงงานไทยไปทำงานที่เกาหลีใต้ เพราะไม่อยากเห็นคนไทยถูกหลอกไปค้าแรงงานผิดกฎหมาย นอกจากแรงงานจะถูกเอารัดเอาเปรียบและไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทั้งสองฝ่ายอีกด้วย โดยเฉพาะการขึ้นบัญชีดำกับผู้ที่มาจากพื้นที่ 4 จังหวัดในภาคอีสานที่โดนจับตามอง”
จากข้อมูลของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล พบว่าสถิติการเสียชีวิตของแรงงานไทยในเกาหลีใต้ระหว่างปี 2559 ถึงเดือนกันยายน 2565 มีจำนวน 695 คน เป็นการเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุจำนวน 264 คน หรือคิดเป็น 37% ของการเสียชีวิตทั้งหมด นอกจากนั้นเป็นการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย 270 คน อุบัติเหตุ 81 คน และสาเหตุอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ไม่มีวีซ่ากว่า 86% หรือ 602 คน
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างนั้น นางสาวธิดารัตน์ยอมรับว่าประเด็นดังกล่าวมีมาอย่างยาวนาน เนื่องจากคุณภาพชีวิตของคนไทยอยู่ในเกณฑ์ย่ำแย่ ทำให้มีแรงงานไทยต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ แม้จะผิดกฎหมาย ดังนั้น จึงต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยการยกระดับคุณภาพชีวิตของคน
ซึ่งพรรคไทยสร้างไทยมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับคนตัวเล็กและ SMEs และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำได้ง่ายขึ้นผ่านการเสนอนโยบาย “กองทุนคนตัวเล็ก” ที่มีดอกเบี้ยต่ำเพื่อขจัดหนี้นอกระบบ ตามหลักการของพรรคที่มุ่งมั่นปลดปล่อย (Liberate) ประชาชนจากรัฐราชการที่กดทับ และสร้างพลัง (Empower) ให้กับคนตัวเล็ก