ผักกาดหอม
คุยเรื่องอะไรกันดี???
ไปดูการบ้านการเมืองกันก่อน
มีพวกปากมอมปล่อยข่าว “เพนกวิน” ตายในคุก
ดูมัน…ขนาดพวกเดียวกันเอง ยังเอาชีวิตมาหาประโยชน์ทางการเมือง
อยากให้ “เพนกวิน” ตายเพื่อปลุกม็อบล้มเจ้ากันต่ออย่างนั้นหรือ
ต่ำทราม!
สัปดาห์ที่แล้วมีความเคลื่อนไหวการเมืองเล็กๆ น้อยๆ
เสื้อแดงเขาจัดงานใหญ่ รำลึก ๑๐ เมษายน
ก็เพิ่งรู้ว่า นักวิชาการเฒ่าสามนิ้วเชียร์เสื้อแดงอยู่ เห็นกดไลก์กดแชร์กันสนุกสนาน
แต่มีปรากฏการณ์ตอกย้ำว่า เสื้อแดงแตกเป็นเสี่ยงๆ
“จตุพร” แยกวงพาสาวกไปจัดรำลึกที่หนึ่ง
ส่วน “หมอเหวง ธิดา ณัฐวุฒิ” ไปจัดอีกที่
มันสะท้อนให้เห็นหลายอย่างครับ
ระดับแกนนำคุยกันไม่รู้เรื่อง ไปสร้างดาวคนละดวง มวลชนได้แต่ปลง และยอมรับความจริง ยุครุ่งโรจน์ของคนเสื้อแดงได้ผ่านพ้นไปแล้ว
ไม่มีโอกาสหวนคืนอีก
ที่เห็นเคลื่อนไหวกันพรึ่บพรั่บ ก็แค่ห้อยโหน
จะให้คนพวกนี้ออกมานำเหมือนในอดีตแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่อิ่มแล้ว
มาที่เรื่องวัคซีนโควิด ก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ เป็นศึกระดับคุณหมอกับคุณหมอ
ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี….
หมอบลัฟกัน
หรือหมอให้ความรู้ประชาชน
ก็ต้องขอประทานโทษ คุณหมอแต่ละท่านล้วนมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้วยกันทั้งนั้น
อาจารย์หมอธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำเอาแตกตื่น เปิดข้อมูลว่า การป้องกันการติดเชื้อนั้น Pfizer, Biotech, Moderna, J&J มีสรรพคุณป้องกันได้ราว ๗๐% ในขณะที่ Astra ได้ราว ๒%
ส่วนวัคซีนอื่นยังไม่มีข้อมูล
ตัวเลขนี้เขย่าวงการวัคซีนกันเลยทีเดียวครับ เพราะถ้า AstraZeneca ป้องกันการติดเชื้อได้แค่ ๒% จะฉีดไปทำไมกัน
อย่างเราๆ ท่านๆ ไม่มีความรู้เรื่องพวกนี้ก็ได้แต่ตั้งคำถาม องค์การอนามัยโลกปล่อยมาได้ไง แล้ว อย.ไทย หลับหูหลับตาให้ขึ้นทะเบียนโดยไม่ตรวจสอบเลยหรือ
ก็พยายามหาข้อมูลครับว่า ๒% นี้คือข้อมูลจากไหน จนปัญญาครับ
แต่ฟังจากหมอตอบโต้หมอ ก็พอได้ข้อสรุป หมอวงนอก กับหมอวงใน มีข้อมูลไม่เหมือนกัน
เป็นความต่างระหว่างคนทำงานกับคนวิจารณ์
เอาเป็นว่าอาจารย์หมอยง ภู่วรวรรณ การันตีว่า วัคซีน Sinovac และ AstraZeneca สามารถใช้ได้ ช่วยลดความรุนแรงของโรค
อีกเรื่องที่ยังเอาไปขยายความโจมตีกันไม่จบคือ การบริหารวัคซีน รัฐบาลหวงก้าง รอ AstraZeneca อย่างเดียว
ทำไมไม่มีวัคซีนเสรี
รวมไปถึงโจมตีวัคซีนพระราชทาน
ใครที่ติดตามเรื่องวัคซีนตั้งแต่ต้น น่าจะผ่านหูผ่านตาว่าไทยไม่ได้คุยกับ AstraZeneca เจ้าเดียว แต่คุยกับหลายๆ บริษัท ก่อนที่จะตัดสินใจร่วมทุนเพื่อวิจัยวัคซีนกับ AstraZeneca
ตอนนั้นไม่มีใครรู้หรอกครับว่าบริษัทไหนวิจัยเสร็จก่อนกัน
บ้านเรามีพวกเก่งหลังหวยออกเยอะครับ ทำไมไม่อย่างนั้น ทำไมไม่อย่างนี้
ครับ…พยายามรวบรวมการชี้แจงของทีมหมอที่ดูแลเรื่องวัคซีน มาบอกกล่าวกันอีกครั้ง เผื่อคนที่ไม่เข้าใจ จะได้เข้าใจมากขึ้น
วัคซีนต้องมีการขออนุญาตขึ้นทะเบียนวัคซีนก่อนการใช้ หมายความว่าต้องมีผู้ขออนุญาตเป็นผู้ถือทะเบียน และรับผิดชอบการจำหน่ายวัคซีนในประเทศ
บางบริษัทมีผู้แทนในไทยก็จะดำเนินการโดยบริษัทนั้น เช่น Pfizer, AstraZeneca
หากบริษัทลูกในไทยไม่นำวัคซีนมาขึ้นทะเบียน ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ไม่มีคนอื่นมาทำให้ได้
และข้อนี้ไม่ได้เป็นข้อจำกัดภาครัฐแต่อย่างใด
ผู้ผลิตอื่นที่ไม่มีบริษัทลูกในไทย ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ก็จะไม่มีคนอื่นมาทำให้ได้
ข้อนี้ไม่ได้เป็นข้อจำกัดภาครัฐเช่นกัน
หลายบริษัทผู้ผลิตมีนโยบายขายให้แก่ภาครัฐเท่านั้น เช่น Pfizer, AstraZeneca
เหตุผลหนึ่งที่เอกชนจะขายให้เฉพาะรัฐ เพราะเป็นวัคซีนใหม่ในช่วงการระบาด ผู้ผลิตวัคซีนทุกรายให้รัฐยอมรับเงื่อนไข No Fault Compensation คือห้ามไม่ให้ผู้รับวัคซีนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ผลิตวัคซีนกรณีเกิดผลข้างเคียงรุนแรง
วัคซีนที่มีในเวลานี้มีจำนวนจำกัดทุกยี่ห้อ กำหนดส่งมอบวัคซีนได้เร็วที่สุดคือไตรมาสสามของปีนี้ และจำนวนไม่มากทยอยส่ง
ยกเว้น Sinovac ที่สัญญาให้ได้ตั้งแต่กุมภาพันธ์ แต่ทยอยมอบคราวละไม่มาก
ส่วน AstraZeneca มาเต็มๆ เดือนมิถุนายน
ทีนี้มาดูกรณีกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน ต้องการนำวัคซีนมาฉีดเอง และรัฐบาลตั้งทีมมาดูแล และจะสรุปภายใน ๑ เดือน
บอกเลยไม่ง่าย
ไปดูกรณีของอเมริกา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ ใช้กฎหมายการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่บริษัทผู้ผลิตหรือจัดจำหน่ายวัคซีน ยกเว้นกรณีเป็นความผิดพลาดโดยจงใจของบริษัท ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ถึงปี ๒๐๒๔
หมายความว่านับไป ๔ ปี ผู้เสียหายจากการฉีดวัคซีน ฟ้องร้องบริษัทผู้ผลิตไม่ได้
และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้เองวัคซีนถูกขายผ่านรัฐบาลทั่วโลก
รัฐบาลแต่ละประเทศเป็นหนังหน้าไฟ หากมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ในกรณีฉีดวัคซีนแล้ว มีผลข้างเคียง
หรือเสียชีวิต
ถามว่าแนวทางการนำวัคซีนมาฉีดเองของกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนในไทย จะเป็นแบบไหน
นำเข้าเองถ้าบริษัทผู้ผลิตยอม แต่ก็ต้องพ่วงเงื่อนไขความรับผิดชอบทางกฎหมายมาด้วย
ฉีดแล้วตายโรงพยาบาลจ่าย หรือรัฐบาลเป็นคนรับผิดชอบ
เห็นแว่วๆ มาว่าวัคซีนในส่วนนี้คือวัคซีนทางเลือก ก็น่าจะเป็นวัคซีนที่โรงพยาบาลเก็บเงิน ไม่ฟรีเหมือนวัคซีนที่รัฐบาลฉีดให้
กรณีนี้ฉีดแล้วมีผลข้างเคียง เจ็บ ตาย มีการฟ้องร้อง ใครจะรับผิดชอบ
ถ้าให้รัฐบาลรับผิดชอบคงไม่แฟร์ เพราะโรงพยาบาลเอกชนได้เงิน
สรุปแล้วเอกชนนำเข้าผ่านรัฐบาล เอกชนต้องรับผิดชอบกรณีมีการฟ้องร้องด้วย
แต่ในที่สุดแล้วกว่าเอกชนจะนำเข้าได้คงปาเข้าไปเดือนมิถุนายน
ถึงเวลานั้นประเทศไทยปูพรมฉีดวัคซีน AstraZeneca แล้วครับ.