5 มีนาคม 2566 ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช (ผู้กองมาร์ค) ผู้สมัคร ส.ส. เขตบางซื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้รับแจ้งว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้เสียชีวิต ณ ชุมชมวัดสร้อยทอง เขตบางซื่อ กทม. ซึ่งได้สร้างความกังวลใจให้กับประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณนั้น เพราะไข้เลือดออกมีสาเหตุมาจากยุงลาย และเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้
สาเหตุสืบเนื่องมาจากในน้ำมีขยะสะสมเป็นจำนวนมากซึ่งเกิดจากการปล่อยน้ำเสีย และทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงสู่แหล่งน้ำในชุมชน ทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย และปัญหานี้เกิดขึ้นสะสมมาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่ยังไม่เคยได้รับการแก้ไข
ตนจึงได้ติดต่อและประสานงานไปที่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ซึ่งมีประสบการณ์ในด้านของการบำบัดน้ำเสียจากก๊าซชีวภาพ โรงงานเคมี ปิโตรเคมี และน้ำเสียจากฟาร์มสุกร
จึงได้ก่อเกิดการจัดทำโครงการนำร่องบำบัดน้ำเสีย กำจัดกลิ่นที่ไม่พึ่งประสงค์ และแก้ไขปัญหายุงลาย ณ ชุมชนวัดสร้อยทอง โดยทางสำนักงานเขตบางซื่อ ได้ร่วมสังเกตการณ์ โครงการบำบัดน้ำเสียที่ใช้จุลินทรีย์ ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อประโยชน์ของประชาชนในชุมชนในการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวอีกว่า วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งโครงการบำบัดน้ำเสียนั้น ก็เพื่อลดกลิ่นเหม็นและลดการเกิดยุงลาย เพราะในส่วนของคลองที่มีน้ำนิ่ง นั้นจะเป็นจุดกำเนิดยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก และการที่จะลดปริมาณการวางไข่ของยุงลาย คือการทำให้น้ำไม่นิ่ง โดยการติดตั้งกังหันตีน้ำ เพื่อเป็นการเติมอากาศบริสุทธิ์ให้น้ำ ทำให้จุลินทรีย์สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยประโยชน์ที่ได้จากน้ำที่บำบัดเพิ่มเติมคือสามารถนำไปใช้รดต้นไม้ และสามารถที่จะปล่อยลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างปลอดภัย ในส่วนของพลังงานที่เราใช้ในการบำบัดน้ำเสียนี้เราได้ใช้พลังงานทั้งหมดจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) และเพื่อลดปัญหาโลกร้อน จึงต้องรบกวนขอความร่วมมือจากประชาชน ว่าอย่าทิ้งขยะ พลาสติก และเศษอาหารลงในน้ำใต้บ้านเรือนและในคูคลองต่างๆ
และทั้งนี้ทางโครงการได้เพิ่มประสิทธิภาพให้โครงการแบบยั่งยืน โดยอบรมให้คนในชุมชนสามารถสร้างถังดักไขมัน (Grease Trap) และถังบำบัดน้ำเสีย (SEPTIC) ด้วยตนเอง (Do it yourself: DIY) เพื่อป้องกันไม่ให้ไขมัน และน้ำสกปรกจากครัวเรือนไหลลงใต้ถุนบ้านและทางน้ำในชุมชน
ซึ่งหลังจากการบำบัดนั้นน้ำจะใสขึ้นภายใน 1 ชั่วโมง และทำให้กลิ่นเหม็นลดลงแบบสัมผัสได้อย่างชัดเจน ซึ่งทางโครงการเชื่อว่าคุณภาพน้ำจะดีขึ้นตามลำดับ และที่สำคัญที่สุดคือการคืนน้ำสะอาด และสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อสุขภาพและจิตใจที่ดีของประชาชนให้กับชุมชนและประเทศ