เมื่อค่ำวานนี้ (5 กุมภาพันธ์) ที่ อ.เมือง จ.เชียงราย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ปราศรัยแสดงวิสัยทัศน์และแนะนำว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล ทุกเขตของจังหวัดพะเยาและเชียงราย โดยเริ่มต้นว่า ทุกครั้งที่มาเชียงราย ก็อดไม่ได้ที่จะต้องกล่าวขอโทษ ที่ผู้แทนที่ประชาชนชาวเชียงรายเลือกมากับมือ ไม่ไปต่อกับพรรคก้าวไกล ต้องขอขมาและยอมรับอย่างเต็มอก วันนี้พรรคก้าวไกลได้บทเรียนแล้วว่า “งูที่มีพิษยังไม่เท่ากับมิตรที่ทรยศ”
ในสมัยที่เราเป็นพรรคอนาคตใหม่ เรามีเวลาไม่มาก เพียงแค่ 50-60 วันในการคัดสรรผู้สมัคร แต่ตอนนี้พรรคก้าวไกลได้ทำงานมาข้ามปีเพื่อการคัดเลือก เรามีถึง 4 ด่านในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร ตั้งแต่การส่งใบสมัคร สอบสัมภาษณ์ ต้องผ่านหลักสูตรทางการเมืองของพรรค และต้องผ่านการฝึกงานร่วมกับสมาชิกและคนทำงานของพรรคในจังหวัด
อย่างไรก็ตาม การย้ายพรรคของ ส.ส. เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับพรรคทุกพรรคเช่นกัน เป็นระบบนิเวศที่ทำลายประชาธิปไตย ที่มีต้นตอมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 มีที่ไหนที่ให้การ ‘ลาออก’ กับ ‘ไล่ออก’ ส.ส. มีผลไม่เหมือนกัน นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่พรรคก้าวไกลยืนยันว่าจะให้มีการทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทันที ภายใน 100 วันแรกที่ได้เป็นรัฐบาล
พิธากล่าวต่อไปว่า วันนี้ตนขอมาสร้างความมั่นใจให้ประชาชนชาวเชียงรายอีกครั้ง นอกจากตัวผู้สมัครที่ผ่านการคัดกรองคุณภาพมาแล้ว เรายังมีนโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาให้ถึงต้นตอ ซึ่งสำหรับเชียงราย หนึ่งในปัญหาที่สร้างความทุกข์ให้กับชาวเชียงรายมากที่สุดย่อมหนีไม่พ้นเรื่องยาเสพติด
เชียงรายเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีปัญหายาเสพติดเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ และนี่คือปัญหาที่เชื่อว่าทุกคนก็สัมผัสได้ว่ามีความไม่ชอบมาพากลอยู่ การที่ยาเสพติดที่เข้ามาจากต่างประเทศได้มากขนาดนี้ เป็นไปได้หรือที่ทหารตำรวจจะไม่รับรู้จริงๆ หรือความจริงแล้วมีคนได้ประโยชน์จากระบบยาเสพติดที่เป็นอยู่นี้กันแน่
การแก้ปัญหายาเสพติดที่ผ่านมาของประเทศไทย ได้ทำให้เห็นแล้วว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เน้นจับขังเข้าคุกแต่ไม่ใส่ใจมากพอกับการบำบัดเยียวยา จนคนล้นคุกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ประเทศไทยจะต้องวนเวียนอยู่กับปัญหานี้ต่อไป ตราบใดที่เราไม่แก้ปัญหาที่ต้นตอของยาเสพติด นั่นคือระบบราชการที่มีข้อสงสัย ว่าจะได้ประโยชน์จากการดำรงอยู่ของยาเสพติด ซึ่งเรื่องนี้ส่วนสำคัญจะแก้ได้ด้วยการปฏิรูปกองทัพและปฏิรูปตำรวจ
ในด้านปากท้อง เชียงรายคือหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการเข้ามาของทุนจีนสีเทา ทั้งในเรื่องการพนัน การค้ามนุษย์ รวมถึงนอมินีที่เข้ามาแย่งงานคนเชียงราย ซึ่งต้องแยกออกจากนักท่องเที่ยวและนักลงทุนที่มาอย่างถูกต้อง ที่เราต้องให้การต้อนรับดูแล นี่ก็คือเรื่องที่เราจะต้องแก้ปัญหา คืนปากท้องเศรษฐกิจให้ชาวเชียงรายและคนไทย ด้วยการทลายเครือข่ายผลประโยชน์ที่มีคนมีสีเชื่อมโยงอยู่อีกแล้ว และยังมีเรื่องของทุนไทยสีเทา ที่มีเครือข่ายกว้างขวางและน่ากลัวกว่าทุนจีนสีเทาเสียอีก เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
“พรรคก้าวไกลมีนโยบาย ทั้งการปฏิรูปตำรวจและการปฏิรูปกองทัพ ผบ.ตร. ต้องขึ้นกับประชาชน มีการกระจายอำนาจ ตำรวจในยุคของรัฐบาลก้าวไกลต้องไม่มีบังคับทรงผม ไม่มีส่วย ไม่มีตั๋วช้างเด็ดขาด ทั้งปัญหายาเสพติด ทุนจีนสีเทา และทุนไทยสีเทา แก้ได้ด้วยการเข้าไปจัดการกับระบบราชการของประเทศนี้ให้ถึงต้นตอ
และผมขอเกริ่นไว้ก่อนตรงนี้เลย ว่าทุนจีนสีเทายังน่ากลัวไม่เท่าทุนไทยสีเทา เรื่องนี้ รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้รับการบ้าน เตรียมอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 เร็วๆ นี้ ขอให้ทุกคนรอติดตามอย่างใกล้ชิด”
สำหรับ ส.ส. และแกนนำพรรคพรรคที่ร่วมเวทีนี้ ได้แก่ Nattacha Boonchaiinsawat – ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กรุงเทพฯ เขตบางขุนเทียน และรองเลขาธิการพรรค วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ Apichat Sirisoontron – อภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ Kanphong Chongsuttanamanee – กัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ Nitipon Piwmow – นิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ส่วนว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล จังหวัดพะเยาและเชียงรายนั้น ประกอบด้วย :
พะเยา
1. เมืองพะเยา-แม่ใจ : “วิสา บุญนัดดา” เจ้าของธุรกิจขายเบอร์เกอร์และเบเกอรี่
2. จุน-เชียงคำ-ภูซาง : “วิทวัส รัชตาจ้าย” อดีตข้าราชการศาลยุติธรรม
3. ดอกคำใต้-ภูกามยาว-ปง-เชียงม่วน : “ชัยประพันธ์ สิงห์ชัย” อดีตนายกเทศมนตรี ต.ห้วยลาน และเจ้าของธุรกิจฟาร์มโคเนื้อ
เชียงราย
1. เมืองเชียงราย : “ชิตวัน ชินอนุรักษ์” ผู้อำนวยการสโมสรเชียงรายยูไนเต็ด
2. เวียงป่าเป้า-แม่สรวย : “ฐากูร ยะแสง” เจ้าของธุรกิจกาแฟและอุปกรณ์กาแฟ
3. พาน-ป่าแดด : “เจริญ บุญเลิศ” นักวิชาการอิสระด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช
4. เวียงชัย-แม่ลาว-เมืองเชียงราย (บางส่วน) : “รัตน์ธนวัตร พุทธจันทร์” วิศวกรยานยนต์ และรองนายกสมาคมการค้า รถสามล้อส่วนบุคคล และมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่
5. เชียงของ-เวียงแก่น-เชียงรุ้ง-ดอยหลวง : “ประหยัด เสียงดัง” ทนายความ และอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่
6. แม่สาย-เชียงแสน-ดอยหลวง : “พลากร วงค์ประเสริฐ” อดีตวิศวกร และเจ้าของธุรกิจด้านนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่
7. แม่จัน-แม่ฟ้าหลวง : “จุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม” คนทำงาน NGOs ด้านเด็กและเยาวชน และอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่
8. พญาเม็งราย-ขุนตาล-เทิง : “นราสิญจ์ ปัญญาศิลปวิทยา” อดีตอาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย