28 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00 น. ดร.มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า
การประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ได้อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 ตามที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอที่ประชุมอนุมัติแล้ววันนี้
โดยโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวสวนยางในช่วงที่ราคายางผันผวน ซึ่งปีนี้กำหนดเป้าหมายเกษตรกรชาวสวนยาง 1.6 ล้านราย พื้นที่สวนยางกรีดได้ 18.18 ล้านไร่ ให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ซึ่งดำเนินการการขึ้นทะเบียนเสร็จสิ้นไปแล้ว
นอกจากนี้ ยังอนุมัติโครงการคู่ขนานสนับสนุนสินเชื่อ หรือเงินกู้ เป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยาง และผลิตภัณฑ์ระยะที่ 2 เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบกิจการแปรรูปไม้ยางพาราด้วย
อย่างไรก็ตามการอนุมัติครั้งนี้เป็นไปตาม มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เมื่อวันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 คือโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 วงเงินรวมทั้งสิ้น 7,643 ล้านบาท เห็นชอบกรอบวงเงิน 7,566 ล้านบาท โดยใช้เงินทุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายแทนรัฐบาลไปก่อน จำนวน 7,421 ล้านบาท
และให้ ธ.ก.ส. เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 และปีถัดๆไปตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป เพื่อรัฐบาลชำระคืนต้นเงินและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินโครงการทั้งหมด รวมถึงค่าใช้จ่ายในการโอนเงินจำนวน กว่า 8 ล้านบาท และชดเชยต้นทุนทางการเงินของธนาคารประจำไตรมาส บวก 1 (ปัจจุบันอัตราต้นทุนเงินธนาคารประจำไตรมาสเท่ากับ 0.85) ภายในวงเงินไม่เกิน จำนวน 137 ล้านบาท ปีละ 1,600 ล้านบาท
ยกเว้นปีที่ 5 จ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมด เห็นชอบค่าบริหารจัดการโครงการ จำนวน 77 ล้านบาท โดยให้การยางฯเสนอขอรับจัดสรรจากงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นประจำปีงบประมาณ 2566
“เท่ากับว่าโครงการประกันรายได้ยางพาราเดินหน้าปีที่ 4 ครอบคลุมตลอดปี 2566 แม้ว่าจะมีการยุบสภาหรือมีการเลือกตั้งและหลังจากนั้นมีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีก็ตามการดำเนินโครงการจะต้องดำเนินให้สิ้นสุดระยะ 4 หรือปีที่ 4 ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติวันนี้ ดังนั้นจากการติดตามการทำงานของคณะรัฐมนตรีและมีเกษตรกรติดตามอย่างใกล้ชิดในทุกระยะโครงการประกันรายได้ยางพารา จึงเป็นพืชชนิดสุดท้ายของประกันรายได้ ผ่านประชุมคณะรัฐมนตรี
ส่วนพืชชนิดอื่นทั้งข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ได้ผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีก่อนหน้านี้หมดแล้ว จึงขอขอบคุณคณะรัฐมนตรีและโดยเฉพาะนายจุรินทร์กับนายเฉลิมชัย ที่ผลักดันให้เกษตรกรด้วยความรับผิดชอบต่อโครงการและถือว่านโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ที่บรรจุไว้ในรัฐบาลนั้นสามารถดำเนินการเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ทุกชนิดพืชที่อยู่ในโครงการเราช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและสร้างรายได้ชดเชยส่วนต่างให้ได้ร่วม 8 ล้านครัวเรือน หากหนึ่งครัวเรือนมีสมาชิกสี่คนก็เท่ากับช่วยราษฎรได้กว่า 32 ล้านคนมาตลอดอายุรัฐบาลนี้” ดร.มัลลิกา กล่าว