ลุงป้อม ‘ผมทำได้’? – ผักกาดหอม

ทำไมต้องหยิบเรื่องนี้มาพูดคุยกัน? "ลุงป้อม" วางแผนกินรวบทั้งสองฝั่งครับ แต่จะสำเร็จหรือไม่ ก็อยู่ที่ว่า มีคนเชื่อ "ลุงป้อม" หรือเปล่า

ผักกาดหอม

ไม่รู้ใครเขียนให้

เนื้อหาในเพจ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เรื่อง ทำไมต้อง “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ใช้ภาษาที่ไม่ใช่ภาษาของ “ลุงป้อม” แน่นอน

อีกทั้งเนื้อหาก็กินใจ

คล้ายกับสารภาพผิด เพิ่งจะเข้าใจนักการเมือง

…คนกลุ่มหนึ่ง ซี่งมีบทบาทสูงต่อความเป็นไปของประเทศ หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายว่า “กลุ่มอิลิท” ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการกำหนดความเป็นไปของประเทศ มอง “ความเป็นมาและพฤติกรรมของนักการเมือง ด้วยความไม่เชื่อถือ” และความไม่เชื่อมั่นลามไปสู่ความข้องใจใน “ประชาธิปไตย” และ “ความรู้ความสามารถของประชาชน ในการเลือกนักการเมืองเข้ามาครอบครองอำนาจบริหารประเทศ”

ความไม่เชื่อมั่นต่อนักการเมือง และการเลือกของประชาชนนั้น ทำให้ผู้มีบทบาทกำหนดความเป็นไปของประเทศเหล่านี้ เห็นดีเห็นงามกับการ “หยุดประชาธิปไตย” เพื่อ “ปฏิรูป” หรือ “ปฏิวัติ” กันใหม่ หวังแก้ไขให้ดีขึ้น

คนในกลุ่มนี้ล้วนแล้วแต่หวังดี อยากเห็นประเทศพัฒนาไปสู่ความรุ่งเรือง เป็นผู้มีประสบการณ์ที่พิสูจน์แล้วว่ามีความรู้ความสามารถ หากสามารถชักชวนเข้ามาทำงานให้กับประเทศได้จะเป็นประโยชน์ แต่เป็นที่น่าเสียดายยิ่งว่า คนที่ประสบความสำเร็จในการใช้ความรู้ ความสามารถเหล่านี้ ไม่มีโอกาสเข้ามาช่วยประเทศชาติในช่วงที่ “ระบบการเมือง” จัดสรรผู้เข้ามามีอำนาจบริหารตามโควต้าจำนวน ส.ส. ที่ประชาชนเลือกเข้ามา

โอกาสที่จะเข้ามาช่วยประเทศชาติ มีเพียงช่วงที่ “รัฐบาลมาจากอำนาจพิเศษ” หรือการปฏิวัติ รัฐประหารเท่านั้น การรับราชการทหารมาเกือบทั้งชีวิต ทำให้ผมรู้จัก เข้าใจ และแทบจะมีความคิดในทางเดียวกับคนที่หวังดีต่อประเทศชาติเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นความคิดในช่วงแรก แม้จะครอบคลุมเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต แต่หลังจากเข้ามาทำงานร่วมกับนักการเมือง และตั้งพรรคการเมือง ทั้งในช่วงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็น “ผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ” จนมาเป็น “หัวหน้าพรรค” ผมได้รับประสบการณ์อีกด้าน อันทำให้เข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องนำพาประเทศไปด้วย “ระบอบประชาธิปไตย”

เพราะในความเป็นจริงทางการเมือง ไม่ว่านักการเมืองส่วนใหญ่จะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ที่สุดแล้วอำนาจการบริหารประเทศต้องกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผู้ที่อำนาจตัดสินว่าจะให้ใครเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ก็คือ “ประชาชน” มีความจริงอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้

นั่นคือ แม้ในการเลือกตั้งทุกครั้ง “ผู้ยึดครองอำนาจด้วยวิธีพิเศษ” จะตั้ง “พรรคการเมือง” ขึ้นมาสู้ ซึ่งแม้จะหาทางได้เปรียบในกลไกการเลือกตั้ง แต่ผลที่ออกมา “ฝ่ายอำนาจนิยม” จะพ่ายแพ้ต่อ “ฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม” ทุกคราว

ความรู้ ความสามารถของ “กลุ่มอิลิท” ทำให้ประชาชนศรัทธาได้ไม่เท่ากับนักการเมือง ที่คลุกคลีกับชาวบ้านจนได้รับความรัก ความเชื่อถือมากกว่า นี่คือต้นตอของปัญหาที่สร้างความขัดแย้ง ขยายเป็นความแตกแยก ระหว่าง “ฝ่ายอำนาจนิยม” กับ “ฝ่ายเสรีนิยม” ที่หาจุดลงตัวร่วมกันไม่ได้ เพราะพยายามหาทางให้ฝ่ายตัวเอง “ชนะอย่างเด็ดขาด-ทำลายอีกฝ่ายให้สิ้นสูญ” กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ กระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติ

ซึ่งจากประสบการณ์ของผมที่ผ่านการเห็น การรู้ การฟังทั้งชีวิต อย่างเข้าถึง “จิตวิญญาณอนุรักษ์นิยม” และเข้าใจ “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” ที่มีผลต่อโครงสร้างอำนาจของประเทศ ผมจะค่อยๆ เล่าให้ฟังถึงรายละเอียดในแต่ละช่วงชีวิต เพื่อให้ได้เห็นภาพได้ชัดขึ้น และจะชี้ให้เห็นถึง “ความจำเป็นต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง”

จากนั้นจะบอกให้รู้ว่า ทำไมผมถึงเชื่อมั่นว่า “ผมทำได้” และ “จะทำอย่างไร” หากประชาชนให้โอกาสผม…

ก็จริงตามที่ตั้งข้อสงสัยครับ เพราะท้ายจดหมาย บอกที่มาที่ไปด้วย

…สุดท้ายนี้ขอบอกกล่าวให้รับรู้โดยทั่วว่า จดหมายทุกฉบับเขียนขึ้นโดยทีมงานที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญมาช่วยกันกลั่นกรองสาระสำคัญที่ผมต้องการนำเสนอต่อสังคม เพื่อเป็นทางออกของบ้านเมือง

เช่นเดียวกับตอนที่ผมเป็น ผบ.ทบ. ก็มีคณะเสนาธิการทหาร คอยช่วยเหลืองาน ดังนั้น เมื่อก้าวมาเป็นนักการเมืองผมก็มีเสนาธิการฝ่ายการเมืองมาเป็นกำลังสำคัญเช่นกัน

อย่างไรก็ตามเนื้อหาของจดหมายทุกฉบับ ที่จะเกิดขึ้นผ่านการตรวจทานจากผมแล้วและผมขอรับผิดชอบทุกตัวอักษร…”

เข้าใจได้ครับ การที่จะให้ “ลุงป้อม” เขียนอะไรลักษณะนี้คงจะแทบเป็นไปไม่ได้

ไม่ใช่ไม่มีความรู้

แต่การเขียนไม่ใช่งานที่ “ลุงป้อม” ถนัด

ฉะนั้นก็คงต้องเล่าความในใจแล้วให้ทีมงานเอาไปเขียนแทน การประดิษฐ์ตัวอักษรก็คงอยู่ในขอบเขตใจบันดาลแรงของ “ลุงป้อม”

ไม่เช่นนั้นคงไม่ขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวอย่างที่ระบุในตอนท้ายของจดหมาย

ทำไมต้องหยิบเรื่องนี้มาพูดคุยกัน?

“ลุงป้อม” วางแผนกินรวบทั้งสองฝั่งครับ

แต่จะสำเร็จหรือไม่ ก็อยู่ที่ว่า มีคนเชื่อ “ลุงป้อม” หรือเปล่า

๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ “ลุงป้อม” กับน้องๆ ทำรัฐประหาร เพราะตอนนั้น “ลุงป้อม” เข้าใจ “กลุ่มอิลิท”

แต่ความเข้าใจใน “กลุ่มอิลิท” ของ “ลุงป้อม” นั้นเข้าใจแค่ไหน อย่างไร

เข้าใจหรือเปล่าว่า ช่วงนั้นต่อต้านระบอบทักษิณเพราะอะไร

ที่บอกว่า ฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม ฝ่ายเสรีนิยม นั้น คือฝ่ายไหน มีจริงหรือเปล่า

ใช่พวกที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยหรือเปล่า

ถ้าใช่ “ลุงป้อม” มีปัญหาแล้วล่ะครับ

แน่นอนครับ การสลายความขัดแย้งในสังคมเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่นักการเมืองต้องรีบดำเนินการให้เห็นผล ไม่เช่นนั้นจะฉุดรั้งประเทศไปอีกยาวนาน

แต่การบอกว่าต้อง “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ต้องมีความชัดเจนด้วยว่า จะก้าวข้ามอย่างไร

เพราะจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งมาจากนักการเมืองคอร์รัปชัน แล้วหนีไปต่างประเทศ ปลุกม็อบให้คนไทยฆ่าฟันกัน

อย่างที่ “จตุพร พรหมพันธุ์” ออกมาแฉนั่นแหละครับ

ก้าวข้ามความขัดแย้งด้วยการเอาพรรคพลังประชารัฐไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย แล้วบอกว่านี่ไงสมานฉันท์ สลายขั้ว

มันไม่ใช่!

กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยในวันนี้ คือกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนระบอบทักษิณ ล่าสุดก็ยกมือให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกฯ

แล้วตอนนี้เป็นไงครับ

โกง หนี

ถ้าบอกว่านี่คือฝ่าย ประชาธิปไตยเสรีนิยม คงต้องกลับไปทำการบ้านใหม่

การหาจุดลงตัวไม่ว่าจะฝ่ายไหนกับฝ่ายไหน มันต้องเริ่มต้นที่การพูดความจริงก่อน และเป็นที่ยอมรับกันของทั้งสองฝ่าย

ฝ่ายที่ผิดก็ต้องสำนึกผิด

มันไม่ใช่เรื่อง ชนะอย่างเด็ดขาด-ทำลายอีกฝ่ายให้สิ้นสูญ แต่เป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายต้องยอมรับความเป็นจริง แล้วช่วยกันแก้ปัญหา

ไม่งั้นจะกลายเป็นว่า “ลุงป้อม” เข้าใจผิด แล้วแลกด้วยการทำรัฐประหาร มันไม่แฟร์กับประเทศ

ฉะนั้น จุดลงตัว ของทุกฝ่ายในสังคมไทย ไม่ใช่แค่ก้าวข้ามความขัดแย้ง โดยไม่แก้ไขความขัดแย้ง

ต้องเข้าใจในชุดความจริงเดียวกัน ไม่ใช่สองชุดอย่างที่เป็นมาร่วม ๒๐ ปี

เพราะความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว

Written By
More from pp
8 กลุ่มเสี่ยง ที่อาจมีอาการรุนแรงหากติดโควิด-19 
ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ทราบว่าอาการแสดงเกิดขึ้นได้หลากหลาย ผู้ป่วยบางคนอาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลย ในขณะที่ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการหนักมากจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
Read More
0 replies on “ลุงป้อม ‘ผมทำได้’? – ผักกาดหอม”