นโยบายขายฝัน – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ฝุ่นตลบเชียว!

ดอกไม้มีลอยมาบ้าง แต่ก้อนอิฐดูจะเยอะกว่า

ก็ไม่รู้ว่า “ลุงป้อม” กับ “น้ามิ่ง” กลับไปเคลียร์กันจบหรือเปล่า

ครับ…บางทีเรื่องนิสัยตัวบุคคล อาจต้องทำใจ ที่คุยโตว่ามี ๑๐๐ จริงแล้วมีแค่ ๑๐ ฉะนั้นการวางแผนทางการเมือง ต้องคิดแล้วคิดอีก ต้องถามให้ถ้วนทั่ว

ประเภทจับยัด อาจผิดพลาดมหันต์

หม้อใหม่โดนฟืนทีเดียวก้นก็ดำแล้ว

ไอ้ที่ดำเร็วกว่าก้นหม้อโดนฟืน ก็การเมืองที่ไม่ลงตัวนี่แหละครับ

ก็เตือนไว้!

มาว่ากันเรื่องนโยบายพรรคการเมืองครับ

เลือกตั้งปี ๒๕๖๒ พรรคพลังประชารัฐ ขึ้นป้ายตัวโต ชูนโยบายหาเสียง ไม่ต่างจากพรรคเพื่อไทยที่เปิดโพยไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

คราวโน้น พรรคพลังประชารัฐ ใช้แคมเปญหาเสียงว่า “เซอร์ไพรส์ นโยบาย พลังประชารัฐ”

ค่าแรงขั้นต่ำเป็น ๔๐๐-๔๒๕ บาท

เพิ่มเงินเดือน ป.ตรี เริ่ม ๒๐,๐๐๐ บาท

เงินเดือนอาชีวะเริ่ม ๑๘,๐๐๐ บาท

ยกเว้นภาษีเด็กจบใหม่ ๕ ปี

เสนอยกเว้นภาษีพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ ๒ ปี

ลดภาษีบุคคลธรรมดา ๑๐%

ทีมเศรษฐกิจพลังประชารัฐยุค “อุตตม สาวนายน”  แข็งขันว่าทำได้จริง

ปัจจุบัน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ ๓๔๓-๓๕๔ บาท ไม่ถึง ๔๐๐ ตามที่หาเสียงไว้

ที่เหลือไม่มีอะไรเป็นโล้เป็นพาย

นโยบายของพรรคการเมือง คือหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของพรรคการเมือง

ถือเป็น “อุดมการณ์”

อุดมการณ์ คือ หลักการที่วางระเบียบไว้เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้

แปลความให้ดูสูงขึ้นอีกหน่อยคือ เป็นเรื่องความเชื่อ  ปรัชญาการเมือง เป็นสิ่งที่ต้องผลักดันเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ของพรรค

แต่ก็เอาแบบบ้านๆ ก็แล้วกันครับ นโยบายพรรคการเมืองในปัจจุบันอย่าเทียบชั้นอุดมการณ์เลย เอาแค่เรื่องที่ยกมาเพื่อการหาเสียงเลือกตั้งน่าจะตรงที่สุด

เพราะหลังเลือกตั้งอาจจะเป็นอีกเรื่อง

แต่หากเป็นอุดมการณ์ต้องผลักดันกันสุดฤทธิ์ หากทำไม่ได้จะรู้สึกผิด

ฉะนั้นเรามาพูดเรื่องนโยบายที่นักการเมืองนำมาขายกับประชาชนตอนหาเสียงเลือกตั้งว่า นักการเมือง และประชาชนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เข้าใจตรงกันหรือไม่

ที่ผ่านมานักการเมืองผลักดันนโยบายตามที่สัญญาไว้กับประชาชนอย่างเพียงพอหรือไม่

ที่เสนอไว้แล้วไม่สามารถจัดทำได้ ติดขัดอะไร อะไรคืออุปสรรค มีการอธิบายประชาชนหรือเปล่า

ยกตัวอย่าง ค่าโดยสารรถไฟฟ้า ๒๐ บาทตลอดสาย  ที่กลายเป็นนโยบายน้ำเน่า ใช้หาเสียงกันมากว่า ๑๐ ปีแล้ว  แต่ไม่มีรัฐบาลไหนทำได้

พรรคไทยรักไทย ชูราคา ๑๕ บาท

พรรคพลังประชาชน ตามโผเดิม ราคา ๑๕ บาท

ปี ๒๕๕๔ พรรคเพื่อไทย ชูนโยบายรถไฟฟ้า ๑๐ สาย ค่าโดยสาร ๒๐ บาททุกสาย จ่ายครั้งเดียว

ทำไม่ได้สักรัฐบาล

พรรคเพื่อไทยมาแก้ตัวทีหลังว่าต้องสร้างครบ ๑๐  สายก่อน ถึงจะลดค่าโดยสาร ๒๐ บาททุกสายได้

มันเกินจริงชนิดควรจะจับมาตอนเสียให้หมด

รถไฟฟ้า ๑๐ สายใช้เวลาสร้างกี่ปี

๔ ปีเสร็จหรือ

ต่อให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่ครบวาระ ๒ สมัย ๘ ปี ก็ไม่เสร็จ

แทนที่จะลงมือสร้างรถไฟฟ้า กลับก้มหน้าก้มตาเสนอกฎหมายนิรโทษโกง

ไม่ได้โม้ เลือกต้้งซ่อม ส.ส.กรุงเทพฯ เขต ๙ หลักสี่ พรรคเพื่อไทย ยังชูนโยบาย ค่ารถไฟฟ้า ๒๐ บาทตลอดสายซ้ำอีกครั้ง

ล้มเหลว และ เสียเวลา ครับ

ที่สำคัญเหมือนหลอกลวงประชาชน

แต่ถามว่า ๒๐ บาทตลอดสายสามารถทำได้หรือไม่

ทำได้ครับ

พรุ่งนี้ทำได้เลย รัฐต้องอุดหนุน คร่าวๆ ปีหนึ่งก็เป็นแสนล้านบาท

เอามั้ยล่ะครับ!

กลับมาที่นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ พรรคเพื่อไทยเคยทำสำเร็จ ๓๐๐ บาท/วัน เพิ่มจาก ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ลงวันที่ ๑๓  ธันวาคม ๒๕๕๓ มีผลวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๔

ปรับขึ้นค่าแรงเฉลี่ย ๘-๑๗ บาท

จังหวัดที่มีค่าแรงสูงสุด คือ ภูเก็ต ที่ ๒๒๑ บาท/วัน

จังหวัดที่มีค่าแรงน้อยที่สุดคือ พะเยา ที่ ๑๕๙ บาท/วัน

กรุงเทพฯ และปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานี  สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม) ที่ ๒๑๕ บาท

ชลบุรี ค่าแรง ๑๙๖ บาท/วัน

นครราชสีมา ๑๘๓ บาท/วัน

เชียงใหม่ ๑๘๐ บาท/วัน

ถือว่าปรับขึ้นในอัตราส่วนที่ไม่เยอะมาก  แต่ก็แลกกับผลกระทบที่ค่อยๆ เกิดขึ้นหลังจากนั้น โดยเฉพาะการย้ายฐานการผลิต ไปเวียดนามบ้าง กัมพูชาบ้าง

คราวนี้หาเสียงไว้จะเพิ่มรวดเดียว ๖๐๐ บาท/วัน  กระโดดไปเกือบเท่าตัว

เสียงค้านจากภาคอุตสาหกรรม นายจ้างเกิดขึ้นทันที

ที่จริงพรรคเพื่อไทยบอกว่าค่าแรง ๖๐๐ บาท/วันในปี  ๒๕๗๐ ก็อีก ๕ ปีข้างหน้า ถือว่ามีความเป็นไปได้อยู่เหมือนกัน

ฉะนั้นพรรคเพื่อไทยควรบอกกับประชาชนตรงๆ ว่า  หลังเลือกตั้งปีหน้าจนรัฐบาลครบเทอม อาจจะยังไม่ได้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น ๖๐๐ บาท/วัน

ต้องรอ รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง เทอม ๒

ฉะนั้นอย่าเข้าใจผิด หลังเลือกตั้งปีหน้า ไม่มีครับ ค่าแรง วันละ ๖๐๐ บาท

แต่…ขีดเส้นใต้ ๑๐ เส้น “พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช”  ประธานคณะกรรมการนโยบาย แถลงข่าวบอกว่าต้องทำให้เศรษฐกิจโตก่อน

ก็มาแนวเดียวกับนโยบาย ค่ารถไฟฟ้า ๒๐ บาทตลอดสาย แต่ต้องสร้างเสร็จ ๑๐ สายก่อน

การนำเสนอนโยบายต่างๆ ของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งไม่ใช่เพียงแค่การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อเรียกคะแนนให้ประชาชนมาลงคะแนนให้ตนเฉพาะช่วงการเลือกตั้งแล้วจบกันไปเท่านั้น

แต่มันคือการแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน

รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดบทลงโทษที่พรรคการเมืองหาเสียงแล้วไม่ทำตามที่หาเสียงไว้ ทำให้นักการเมืองเคยตัว

แต่กฎหมายได้กำหนดบทลงโทษในกรณีที่นโยบายนั้นไม่ได้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมนักการเมืองถึงได้กลัว ยุทธศาสตร์ชาติ ที่รัฐบาลประยุทธ์ เข็นออกมากันนักหนา

เพราะเรื่องจะไปถึง ป.ป.ช. ถึงศาล ครับ

Written By
More from pp
กรมอุทยานแห่งชาติฯ จัดประกวดภาพถ่าย “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” รณรงค์อนุรักษ์ธรรมชาติ
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  ร่วมกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วยบริษัทในเครือฯ ได้แก่ ทรู คอร์ปอเรชั่น ซีพีเอฟ ซีพี รีเทลลิงค์ และ...
Read More
0 replies on “นโยบายขายฝัน – ผักกาดหอม”