เปลว สีเงิน
เออ…มีเรื่องสงสัย…..
อยากถาม “นายแพทย์พฤหัส ต่ออุดม” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นความรู้เล็กน้อย
ขณะนี้ “แบม-ตะวัน….
เป็นคนป่วยของโรงพยาบาลอยู่ในฐานะอะไรหรือครับ?
ในฐานะ “ผู้ต้องขัง” ที่กรมราชทัณฑ์ส่งตัวมารักษาตามคำร้องของ “แบม-ตะวัน”
หรือในฐานะ “คนป่วยทั่วไป” ที่อยู่รับการรักษาเอง?
ที่ถามนี่ ก็ไม่ใช่อะไรหรอก
เพราะจำได้ว่าศาลอนุญาตให้ออกหมายปล่อย “แบม-ตะวัน” ไปแล้ว เป็นเวลา ๑ เดือน เมื่อจันทร์ ที่ ๗ กพ.๖๖
ตามคำร้องของผอ.รพ.ธรรมศาสตร์เอง ที่ว่า…
“…….โรงพยาบาลเห็นว่าจำเลยอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะแก่การควบคุมตัวระหว่างพิจารณา และสุขภาพร่างกายอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างยิ่ง
จึงขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนหมายขังและให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่มีเงื่อนไข
ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในเรื่องการสันนิษฐานจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา
และหลักการการควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้ทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อมิให้มีการหลบหนี
ซึ่งจะทำให้การรักษาตัวและฟื้นฟูสภาพร่างกายของจำเลยทำได้สะดวกและลดเงื่อนไขที่อาจจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต”
แหม….
อ่านแล้ว คนเขียนแถลงการณ์นี่ ผมว่าไปเป็นศาลหรือเป็นทนายดีกว่านะ เพราะอ่านแล้ว ดีกรีหมอความมากกว่าดีกรีหมอรักษาคนไข้
แต่ศาลท่านก็อนุญาตให้ตามที่ผอ.พฤหัสร้องขอไปแล้ว
พูดตามประสาชาวบ้าน ก็คือ….
ตั้งแต่ ๗ กพ. “แบม-ตะวัน” ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ ไม่ได้เป็น “ผู้ต้องขัง” แล้ว
นั่นคือ การ “จะกิน-ไม่กินข้าว” เป็นสิทธิ-เสรีภาพของ “แบม-ตะวัน” เอง ว่าอยากจะกินหรือไม่กิน ไม่เกี่ยวกับศาลเลย
และการนอนพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์หรือไม่นอน กลับไปนอนบ้าน หรือจะไปนอน-ไปนั่งที่ไหน
นั่นก็ เป็นเรื่องของ “แบม-ตะวัน” อิสรชนคนรุ่นใหม่ เลือกได้ตามใจชอบ
ประเด็นที่ทำให้สงสัย อยากถามท่าน ผอ. “พฤหัส” คือ
มีเหตุผลใด ที่โรงพยาบาลยังต้อง “แถลงการณ์” เกี่ยวกับ “แบม-ตะวัน” ว่าจะกินข้าว-กินน้ำหรือไม่กินอยู่อีกจนถึงขณะนี้?
มันเรื่องเฉพาะตัวของผู้ป่วยทั่วไปมิใช่หรือ?
หรือทั้ง ๒ คนนี้ สร้างคุณูปการยิ่งใหญ่ มีความหมายต่อประเทศชาติ จนประชาชนเฝ้าติดตามถามไถ่ทุกระยะ
ถึงขั้น โรงพยาบาลจำเป็นต้องแถลงการณ์ให้ทราบ แม้กระทั่งว่า มีลมในช่องท้องหรือไม่มี
แต่ขอติงนิด….
โรงพยาบาลยังขาดรายละเอียดนะ ที่ไม่บอกในแถลงการณ์ด้วยว่า “แบม-ตะวัน” ผายลมวันละกี่ครั้ง?
ผมเห็นโรงพยาบาลแถลงการณ์ถี่ยิบเป็นฉบับที่ ๙ แล้วมั้ง เมื่อ ๙ กพ.ว่า
“คุณทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) ยังคงไม่รับประทานอาหาร แต่จิบน้ำ ตื่นรู้ตัวดี โต้ตอบได้ อ่อนเพลีย ปากแห้ง
ไม่กินอาหารแต่จิบน้ำ ยังมีเลือดออกตามไรฟัน ไม่มีเลือดออกผิดปกติ หรือจุดจ้ำเลือดออกที่บริเวณอื่น มีลมในช่องท้อง นอนไม่หลับ
เนื่องจากปวดหลอดเลือดดำส่วนปลายจากการให้สารน้ำ (Phlebitis) ที่แขนทั้งสองข้าง ขยับแขนลำบาก รู้สึกว่าการคิดและความจำปกติ
การตอบสนองทางอารมณ์เหมาะสมกับเรื่องราวที่พูดคุย สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ยังคงได้รับสารน้ำและแร่ธาตุ วิตามิน เพื่อประคับประคองภาวะขาดน้ำและสารอาหาร
คุณอรวรรณ ภู่พงษ์ (แบม) ยังคงไม่รับประทานอาหาร แต่จิบน้ำ ตื่นรู้ตัวดี โต้ตอบได้ อ่อนเพลีย ปากแห้ง
ไม่กินอาหารแต่จิบน้ำ มีเลือดออกตามไรฟัน ไม่มีเลือดออกผิดปกติ หรือจุดจ้ำเลือดออกที่บริเวณอื่น เหนื่อยเวลาเดิน
มีลมในช่องท้อง ปวดหลอดเลือดดำส่วนปลายจากการให้สารน้ำ (Phlebitis) ที่แขนทั้งสองข้าง หลับเป็นพักๆ รู้สึกว่าการคิดและความจำปกติ
การตอบสนองทางอารมณ์เหมาะสมกับเรื่องราวที่พูดคุย สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยังคงได้รับสารน้ำและแร่ธาตุ วิตามิน เพื่อประคับประคองภาวะขาดน้ำและสารอาหาร
กรรมการแพทย์ที่ร่วมดูแลยังคงเฝ้าระวังความเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการหลังการได้รับสารอาหาร (Refeeding syndrome) หลังจากอดอาหารอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ได้รับการอนุญาตเผยแพร่ข้อมูลจากผู้ป่วยแล้ว”
ท่านผอ.พฤหัสครับ……
คนป่วยที่โรงพยาบาลมีกี่รายมิทราบ ท่านรู้มั้ย ว่าการให้ความสำคัญกับอาการป่วยแค่ ๒ คน โดยละเลยความสำคัญผู้ป่วยรายอื่นเช่นนี้
เท่ากับสร้างความเหลื่อมล้ำ “กดทับ” คนป่วยรายอื่นเขานะ
ทำไมเจาะจงถามเฉพาะ “แบม-ตะวัน” เท่านั้นว่าอยากเผยแพร่ข้อมูลการป่วยมั้ย?
ทำไมไม่ไปถามคนป่วยอื่นๆ ดูบ้างล่ะว่า อยากให้เผยแพร่แบบ “แบม-ตะวัน” บ้างหรือเปล่า?
เพราะอาจมี “คนป่วย” ที่ไม่อยากกินข้าว อยากโพนทนาเชิงปลุกระดมให้เป็น “ประเด็นสังคม” ต้องการให้แถลงการณ์ให้เขาบ้างก็ได้
หรือรพ.ธรรมศาสตร์จะมีแถลงการณ์ให้เฉพาะคนป่วย
สมุฎฐานโรค “ชังชาติ-ชังสถาบัน” เท่านั้น?
ท่านผอ.พฤหัสช่วยอธิบายหน่อยซิ ไหนๆ ธรรมศาสตร์ก็เจ้าของสโลแกน “เป็นคนต้องทัดเทียมกัน” อยู่แล้ว
แต่กรณีนี้ ทำไมมันจึงไม่ทัดเทียมกันเลย กระทั่งคำในแถลงการณ์ ที่ใช้เรียก “แบม-ตะวัน”
คนอื่น ใช้นาย…นางสาว
แต่กับ “แบม-ตะวัน” เดาะ “คุณ” นำหน้า…คุณทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน)….คุณอรวรรณ ภู่พงษ์ (แบม)
นี่กรณีสังเกต “พฤติกรรม” ทางสังคมนะ
พูดถึงกรณี “หน้าที่ของโรงพยาบาล, หน้าที่ของแพทย์”
“แบม-ตะวัน” ไม่ได้ป่วยเป็นโรคมารับการรักษา
หากแต่ “แบม-ตะวัน” อดข้าว-อดน้ำ กดดันศาลให้ปล่อยผู้ต้องหาคดีตามมาตรา ๑๑๒ และ ๑๑๖
และกดดัน เรียกร้องให้ “ทุกพรรคการเมือง” แก้กฎหมายให้ยกเลิกมาตรา ๑๑๒ และ ๑๑๖
พูดชัดๆ คือ “แบม-ตะวัน” เป็นพรีเซนเตอร์ขบวนการ “ล้มสถาบันพระมหากษัตริย์”
ใช้วิธีการอดข้าว-อดน้ำอยู่ในคุก ทั้งที่ศาลอนุญาตให้ประกัน ก็ไม่ยอมรับการประกัน
ก็หวังใช้การอดข้าวในคุกนั้น เร้าจุดสนใจเพื่อปลุกประเด็น “คนรุ่นใหม่ต้องการเปลี่ยนแปลง” ให้แรงขึ้น
แรงขึ้นเพื่ออะไร…….?
เพื่อให้ “คนรุ่นใหม่” ต้องเลือกพรรค “คนรุ่นใหม่” เพื่อไปสู่เป้าหมาย “ล้มสถาบัน” สถาปนาระบบ “สาธารณรัฐ” ขึ้นแทน!
แต่ปรากฎว่า “มุกแป๊ก”!
จน “ธนาธร-ปิยบุตร-พิธา” ตัวตึง ๓ นิ้ว ต้องออกมาเป่าตูดขบวนการนอกคุกสมทบ แต่ก็เหี่ยวอีก
ชาวบ้านบอก “การอดข้าว” เป็นสิทธิเสรีภาพของ “แบม-ตะวัน” เขา อย่าใช้สิทธิเสรีภาพของเราไป “กดทับ” เขา มันจะไม่เป็นประชาธิปไตย
ฉะนั้น “อยากอด เชิญอด, อยากกิน เชิญกิน”
ประชาธิปไตยจงเจริญ มันง่ายๆ เช่นนี้ ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย!
เมื่อโรงพยาบาลยกวิชากฎหมายสอนศาลให้เพิกถอนหมายขัง ปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อการรักษาที่มีอิสระคล่องตัว
ศาลท่านก็เมตตา อนุญาตตามนั้น
ก็เมื่อเพิกถอนหมายขังแล้ว ปล่อยตัวแล้ว มีอิสระคล่องตัวในการรักษาแล้ว
มันจึงเป็นหน้าที่ของแพทย์ ทั้งด้านการรักษาและทั้งด้านจริยธรรมสำนึกแพทย์มิใช่หรือ ว่า
ต้องรักษาตามขั้นตอนอย่างไร วิธีการ รูปแบบไหน ให้คนป่วยมีอาการดีขึ้น และหายป่วยกลับเป็นปกติโดยเร็ว
ไม่ใช่จะต้องประจี๋-ประจ๋อตามใจคนป่วย
แล้วถามคนป่วย ว่าคณะแพทย์จะเอาเรื่องที่คนป่วยไม่กินข้าวไปแถลงการณ์นะ
แล้วทำเป็นห่วงใยอาการ แถลงการณ์ด้วย “สมประโยชน์” ที่ซ่อนเร้นกัน แทบไม่เว้นแต่ละวัน
ก็รู้หรอกน่า…….
ไอ้แบบนี้ มัน “มนต์ดำ” เพื่อการหาเสียง-หาคะแนนของ “พรรคไหน” ไม่ต้องบอก ทุกคนก็รู้
ฉะนั้น…..
ผู้บริหารบางคน “ม้วนหาง” ไว้บ้างก็ดี
อย่าทำให้ชื่อ “โรงพยาบาลธรรมศาสตร์” และคำว่า “คณะแพทย์” ที่สังคมชน “นับถือ-ศรัทธา” ต้องแปดเปื้อน-มัวหมองไป กับพวกหมกมุ่นการเมือง “ล้มสถาบัน” ตะบันไปนักเลย
สิ่งที่ “เชื่อ” มักคู่กับคำว่า “งมงาย”
แต่สิ่งที่ “ใช่” จะคู่กับคำว่า “สติ-ปัญญา”
“แบม-ตะวัน” ความบริสุทธิ์ทางศรัทธาคนวัยหนุ่ม-สาว จึงคุคลั่งในความเชื่อ
บทบาท ๒ เธอวันนี้ ให้ถือเป็นประสบการณ์วัยชีวิต
ขอจงรักษา “บริสุทธิ์-ศรัทธา” ที่มุ่งมั่นนั้นเอาไว้เถิด
แล้ว “ประสบการณ์” นั่นแหละ วันหนึ่ง จะนำ ๒ เธอไปพบ
“สิ่งที่ใช่”!
เปลว สีเงิน
๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖