​รองโฆษกรัฐบาล เผย 19 ม.ค.นี้ รฟท. เตรียมเปลี่ยนสถานีต้นทาง-ปลายทาง รถไฟทางไกลสายเหนือ ใต้ อีสาน มาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ พร้อมเป็นสถานีรถไฟใหญ่สุดในอาเซียน

​รองโฆษกรัฐบาล เผย 19 ม.ค.นี้ รฟท. เตรียมเปลี่ยนสถานีต้นทาง-ปลายทาง รถไฟทางไกลสายเหนือ ใต้ อีสาน มาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ พร้อมเป็นสถานีรถไฟใหญ่สุดในอาเซียน รองรับการเดินทางของ ปชช. แก้ไขปัญหาด้านการจราจร

17 มกราคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนให้มีประสิทธิภาพ และแก้ไขปัญหาด้านการจราจร เชื่อมต่อการเดินทางจากใจกลางกรุงเทพมหานครสู่ปริมณฑล รวมถึงเชื่อมโยงต่อไปยังทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เดินหน้ายกระดับให้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งทางรางของประเทศ และเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน รวมถึงเป็นศูนย์กลางการคมนาคมแห่งใหม่เทียบเท่าสถานีรถไฟชั้นนำของโลก พร้อมพัฒนาพื้นที่โดยรอบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ สร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาเมืองในรูปแบบใหม่ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นและขยายธุรกิจและเศรษฐกิจในพื้นที ส่งเสริมให้เกิดการกระจายโอกาสในด้านต่างๆ สู่ประชาชน ทั้งในด้านของการสร้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลได้ดำเนินการในการมุ่งพัฒนาประเทศอย่างบูรณาการ

นางสาวรัชดา กล่าวว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ปรับเปลี่ยนสถานีต้นทางปลายทางของขบวนรถไฟทางไกล สายเหนือ ใต้ อีสาน ทั้งขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว จำนวน 52 ขบวน มาที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยจุดจำหน่ายตั๋วโดยสาร จะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ 19 มกราคม 2566 นี้ ณ บริเวณทางเข้าประตูที่ 4 และบริเวณจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ชั้น G โดยมีช่องจำหน่ายตั๋วให้บริการทั้งหมดกว่า 18 ช่อง รองรับการบริการให้กับผู้โดยสารอย่างทั่วถึง สำหรับบริเวณจุดพักคอย เฉพาะผู้โดยสารที่มีตั๋วโดยสารรถไฟทางไกล สามารถรอขึ้นรถไฟทางไกลได้ภายในบริเวณโถงด้านล่างสถานี เพื่อรอขึ้นขบวนรถบนชานชาลา ก่อนเวลาขบวนรถออก 20 นาที เมื่อขบวนรถจอดเทียบแล้ว อนุญาตให้ผู้โดยสารเข้าสู่บริเวณชานชาลาได้ ส่วนจุดให้บริการชานชาลาของรถไฟทางไกล ของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จะอยู่ชั้นที่ 2 บริเวณประตู 4 มีจำนวน 12 ชานชาลา แบ่งออกเป็น 1. รองรับรถไฟทางไกล จำนวน 8 ชานชาลา คือ ชานชาลาที่ 1 และ 2 สำหรับรถไฟสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ (ขาออก) ชานชาลาที่ 5 และ 6 สำหรับรถไฟสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ (ขาเข้า) ชานชาลาที่ 7 และ 8 สำหรับรถไฟสายใต้ (ขาออก) ชานชาลาที่ 11 และ 12 สำหรับรถไฟสายใต้ (ขาเข้า) 2. รองรับระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง จำนวน 4 ชานชาลา คือ ชานชาลาที่ 3 และ 4 สำหรับเส้นทางบางซื่อ-รังสิต ชานชาลาที่ 9 และ 10 สำหรับเส้นทางบางซื่อ-ตลิ่งชัน

“การรถไฟแห่งประเทศไทย ยังให้สิทธิ์ผู้โดยสารที่ใช้ตั๋วขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว รถธรรมดา และตั๋วเดือน สามารถใช้ตั๋วดังกล่าวเข้าใช้บริการขึ้น-ลง รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ภายในระยะเวลา 1 ปี (ตามเงื่อนไข) ส่วนผู้โดยสารที่ใช้บริการขบวนรถชานเมือง สามารถใช้ตั๋วเดือนเข้าใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม (ตามเงื่อนไข) ทั้งนี้ ไม่มีการจำหน่ายตั๋วรถไฟทางไกลที่สถานีจตุจักร สถานีวัดเสมียนนารี สถานีบางเขน สถานีทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ สถานีการเคหะ และสถานีหลักหก สอบถามเพิ่มเติม โทร.1690” นางสาวรัชดา กล่าว

Written By
More from pp
เผยโฉม ‘มาเซราติ จีที2’ ก่อนประเดิมสนามแรกในรายการ ฟานาเทค จีที2 ยูโรเปียน ซีรีส์ 2023
มาเซราติ เผยโฉมซูเปอร์คาร์ทรงพลังตัวแข่งรุ่นล่าสุด ‘มาเซราติ จีที2’ (Maserati GT2) เป็นครั้งแรกที่รายการเอ็นดูรานซ์ สปา 24 ชั่วโมง (24 Hours...
Read More
0 replies on “​รองโฆษกรัฐบาล เผย 19 ม.ค.นี้ รฟท. เตรียมเปลี่ยนสถานีต้นทาง-ปลายทาง รถไฟทางไกลสายเหนือ ใต้ อีสาน มาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ พร้อมเป็นสถานีรถไฟใหญ่สุดในอาเซียน”