ครม.เคาะ! มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดหลังพ้นโทษคดีเกี่ยวกับเพศ สอดรับ พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำฯ ที่มีผลบังคับใช้ 23 ม.ค.นี้

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 ว่า ตามที่พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 จะมีผลบังคับใช้วันที่ 23 ม.ค.2566

ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และการคุมขังฉุกเฉิน สำหรับนักโทษเด็ดขาดซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อร่างกาย และความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา

เช่น การข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำความผิดทางเพศกับเด็ก การฆาตกรรม การทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส รวมทั้งการนำตัวบุคคลไปเรียกค่าไถ่ เพื่อป้องกันสังคมและผู้เสียหายจากการกระทำผิดที่อาจเกิดขึ้นอีก รวมถึงได้กำหนดกระบวนการก่อนปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดดังกล่าว

โดยให้กรมราชทัณฑ์จัดทำรายงานจำแนกลักษณะของนักโทษเด็ดขาด พร้อมทั้งความเห็นว่านักโทษเด็ดขาดสมควรให้ใช้มาตรการเฝ้าระวังใด เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เพื่อกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษแล้วเสนอต่ออัยการ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป

ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 ครม.จึงมีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงว่าด้วยมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และการคุมขังฉุกเฉิน พ.ศ. ….

ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณามาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และการคุมขังฉุกเฉิน ซึ่งเป็นการกำหนดกลไกในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณามาตรการเฝ้าระวังต่าง ๆ ก่อนปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง มีรายละเอียด อาทิ

1.ร่างกฎกระทรวงมีขอบเขตการบังคับใช้ สำหรับนักโทษเด็ดขาดซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อร่างกาย และความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้

  1. ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น การข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15ปี การพาบุคคล อายุ 15-18 ปี เพื่อการอนาจาร การพาผู้อื่น ไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงขู่เข็ญ
  2. ผู้กระทำความผิดต่อชีวิต เช่น การฆ่าผู้อื่น การฆ่าผู้อื่นโดยเหตุฉกรรจ์
  3. ผู้กระทำความผิดต่อร่างกาย เช่น การทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส การทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัสโดยเหตุฉกรรจ์ และ 4.ผู้กระทำผิดต่อเสรีภาพ เช่น การนำตัวบุคคลไปเรียกค่าไถ่

2.กำหนดให้มีคณะกรรมการประจำเรือนจำในแต่ละเรือนจำ ประกอบด้วยผู้บัญชาการเรือนจำเป็นประธานกรรมการ และเจ้าพนักงานเรือนจำ ซึ่งผู้บัญชาการเรือนจำแต่งตั้ง จำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน เป็นกรรมการ โดยคณะกรรมการประจำเรือนจำ มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณากลั่นกรองข้อมูลการจัดทำรายงานการจำแนกลักษณะของนักโทษเด็ดขาดตามที่เจ้าพนักงานเรือนจำเสนอ และให้ความเห็นว่านักโทษเด็ดขาดสมควรใช้มาตรการเฝ้าระวังใด ตลอดจนเสนอวิธีการและระยะเวลาในการใช้มาตรการที่เหมาะสม

3.การพิจารณากำหนดมาตรการเฝ้าระวัง กรมราชทัณฑ์ดำเนินการภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปีก่อนปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดแต่ละราย ให้เจ้าพนักงานเรือนจำดำเนินการรวบรวมข้อมูลสำหรับการจัดทำรายงานการจำแนกลักษณะของนักโทษเด็ดขาด และให้เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการประจำเรือนจำ ก่อนเสนอให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำพิจารณา

4.การดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังของพนักงานคุมประพฤติ กรณีที่ปรากฏเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้นั้นจะไปกระทำความผิดและไม่มีมาตรการอื่นที่อาจป้องกันไม่ให้ผู้นั้นไปกระทำความผิดได้ ให้พนักงานคุมประพฤติเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการภายใน 15 วัน เพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งใช้มาตรการคุมขังแก่ผู้ถูกเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ

หากปรากฏเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกเฝ้าระวังจะไปกระทำความผิดซ้ำ และเป็นเหตุฉุกเฉิน คือ ผู้ถูกเฝ้าระวังมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่น อันสามารถใช้ในการกระทำความผิด ให้พนักงานคุมประพฤติเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการ เพื่อพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลในท้องที่ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้คุมขังฉุกเฉินภายใน 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงกำหนดข้อยกเว้นการบังคับใช้ระยะเวลาในการจัดทำ และการเสนอรายงานการจำแนกลักษณะของนักโทษเด็ดขาดของกรมราชทัณฑ์ และการเสนอรายงานและความเห็นของคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ ไม่ให้ใช้บังคับภายในระยะเวลา 300 วันแรก นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ

Written By
More from pp
นายกฯ กราบพระและไหว้ตาไข่ วัดเจดีย์ อ.สิชล นครศรีธรรมราช ย้ำรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการท่องเที่ยวในมิติใหม่ เชื่อมโยงชุมชน สร้างรายได้หมุนเวียนทางเศรษฐกิจตาม นโยบายรัฐบาล
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2566) เวลา 17.30 น....
Read More
0 replies on “ครม.เคาะ! มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดหลังพ้นโทษคดีเกี่ยวกับเพศ สอดรับ พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำฯ ที่มีผลบังคับใช้ 23 ม.ค.นี้”