7 มกราคม 2566 นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ โฆษกกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวปรากฏว่าอดีตผู้ต้องขัง ก่อเหตุทำร้ายร่างกายนักเรียนหญิงชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านเล้าวิทยาคาร จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 6 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา นั้น
จากการตรวจสอบข้อมูลของผู้ก่อเหตุดังกล่าว เป็นอดีตผู้ต้องขังที่ปล่อยตัวพ้นโทษจากเรือนจำจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อตรวจสอบทะเบียนประวัติ พบว่า เคยกระทำผิดครั้งแรก ในคดีทำร้ายร่างกาย และครั้งที่สองในคดีทำร้ายร่างกาย ครั้งนี้เป็นกระทำผิดเป็นครั้งที่ 3 ในคดีมีอาวุธปืนและ เครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต
จึงจัดอยู่ชั้นต้องปรับปรุงมาก และได้จำคุกครบตามหมายศาล เป็นระยะเวลา 8 เดือน พ้นโทษเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 เรือนจำจังหวัดร้อยเอ็ด จึงได้ตรวจสอบข้อมูลด้านการประเมินสุขภาพจิต (แบบประเมินของกระทรวงสาธารณสุข) จากสถานพยาบาลของเรือนจำ พบประวัติเคยใช้สารเสพติดมาก่อน
แต่ขณะที่ถูกควบคุมอยู่ภายในเรือนจำผู้ต้องขังดังกล่าว ไม่ได้มีพฤติกรรมที่ชี้ให้เห็นว่ามีอาการทางจิต อีกทั้ง ทางเรือนจำยังได้ประเมินสุขภาพจิตแล้ว ไม่พบว่ามีความผิดปกติก่อนปล่อยตัวแต่อย่างใด และไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่ม Watchlist เนื่องจากการกระทำผิดที่ผ่านมาเป็นคดีที่ไม่เข้าข่ายตาม พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง หรือ กฎหมาย JSOC
ดังนั้น เมื่อกรมราชทัณฑ์ได้จำคุกครบตามกำหนดโทษแล้ว จึงไม่มีอำนาจในการควบคุมตัวไว้ได้อีกต่อไป และกรมราชทัณฑ์ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต
นายสิทธิ ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมราชทัณฑ์ได้เน้นย้ำในมาตรการตรวจคัดกรองสภาวะสุขภาพจิตของผู้ต้องขังและคัดกรองการติดยาเสพติด รวมถึงคัดกรอง ผู้ต้องขังที่เสพสุราและมีภาวะถอนพิษสุราแบบรุนแรงทุกราย และขณะนี้พร้อมขับเคลื่อน กฎหมาย JSOC ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ได้ผลักดันจนสำเร็จ เพื่อกลั่นกรองผู้ต้องขังที่จัดอยู่ใน Watchlist ซึ่งเมื่อพ้นโทษแล้วต้องติดกำไลอีเอ็มหลังพ้นโทษเพื่อป้องกันสังคมจากบุคคลอันตรายเหล่านี้ให้ได้