เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ นายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ว่า
ตนจะเสนอญัตติต่อ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ศึกษากรณี นายเชาวลิต ทองด้วง หรือ เสี่ยแป้ง นาโหนด ซึ่งเป็นนักโทษชื่อดัง ต้องคดีร้ายแรงหลายคดี หลบหนีจากการควบคุมของเจ้าหน้าที่ในระหว่างรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566
และยังไม่สามารถติดตามตัวกลับมาได้ เพื่อให้หามาตรการแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นอีก เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นสิ่งสะเทือนขวัญของประชาชน
นายวิทยา กล่าวว่า การหลบหนีครั้งนี้ถือเป็นความไม่ปกติ มีช่องว่างในการควบคุมตัวระหว่างการรักษาพยาบาลในวันที่ 20 พ.ย. ดังนั้นคณะกรรมาธิการฯ จะเดินทางไปประชุมที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยนัดประชุมที่ศาลากลางจังหวัด เชิญผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดนครศรีธรรมราช สาธารณสุขจังหวัด ผอ.โรงพยาบาลมหาราช มาหารือว่า การหลบหนีครั้งนี้เกิดช่องว่างตรงไหน หรือเกิดจากกระบวนการเตรียมการช่วยเหลือผู้ต้องหา
“ถ้าเกิดจากช่องว่างของทางราชการ จะเสนอมาตรการต่อสภาฯ เพื่อเป็นแนวทางให้กรมราชทัณฑ์ปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาต่อไป ข้อเท็จจริงต้องแยกแยะ การควบคุมตัวในโรงพยาบาลแล้วนักโทษหลบหนี กรมราชทัณฑ์ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เนื่องจากโรงพยาบาลมีหน้าที่รักษาผู้ป่วย เขาไม่ได้แยกแยะว่าเป็นใคร เมื่อเป็นผู้ป่วยส่งมาก็ต้องดูแลรักษา แต่หน้าที่ในการควบคุมต้องเป็นฝ่ายราชทัณฑ์เป็นหลัก กระบวนการศึกษาเหล่านี้ ในวันที่ 20 พ.ย.หลังจากมีการประชุมแล้วจะได้ข้อสรุป เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นอีก จากนั้นจะเสนอให้สภาฯพิจารณาต่อไป”นายวิทยากล่าว
นายวิทยา กล่าวถึงการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ติดตามเสี่ยแป้ง นาโหนดจำนวนมากว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วโดยกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจฝ่ายปกครองหลายร้อยคนในการติดตามผู้ต้องหา ถือเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น อีกทั้งเป็นเรื่องเขย่าขวัญประชาชนโดยทั่วไป คนมีอิทธิพลสามารถหลบหนีการควบคุมได้ แต่ก็ต้องติดตามตัวกลับมาให้ได้
อย่างไรก็ตาม การหลบหนีการควบคุมของกรมราชทัณฑ์ มีมาเป็นระยะ แต่ครั้งนี้สะเทือนความรู้สึกประชาชน จึงต้องหามาตรการป้องกัน ดูว่ารูรั่วไหลอยู่ตรงไหน ไม่เช่นนั้น จะเป็นช่องโหว่ให้คนที่มีอิทธิพล อาศัยช่องทางหลบหนีอีก ส่วนการแก้ไขปัญหาโดยการย้ายเจ้าหน้าที่ออกจากพื้นที่ ก็ต้องมาดูว่าช่องโหว่ใครมีส่วนร่วมด้วยหรือไม่ ถ้ามีส่วนร่วมแล้วย้ายออกก็ไม่ควรจบอยู่แค่การย้ายพ้นพื้นที่ ถ้าเป็นความบกพร่องในระบบ ก็ต้องหามาตรการ แต่เรายังไม่ทราบแน่ชัดว่า ปัญหาเกิดจากอะไรจึงต้องศึกษาและหามาตรการป้องกัน