เชฟรอน หนุนโมเดล BCG รวมพลจิตอาสา ร่วมเรียนรู้ลงมือทำตามวิถีกสิกรรมธรรมชาติ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

การปลูกฝัง “พลังความร่วมมือ” ให้พนักงานมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคม ถือเป็น DNA หลักของเชฟรอนในเจตนารมณ์ขับเคลื่อนธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่สังคมไทย

ซึ่งการที่จะพัฒนาชุมชนและขยายผลสู่ “ภายนอก” ได้นั้น การบ่มเพาะจาก “ภายใน” ให้คนในองค์กรมีใจช่วยเหลือสังคมถือเป็นเรื่องสำคัญ เชฟรอนจัดกิจกรรม “สุขอาสา” หรือ “We Volunteer” ขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อสะท้อนจุดยืนดังกล่าว

ล่าสุดตอกย้ำความร่วมมือในฐานะ One Team อีกครั้ง ผ่านการรวมพลังจิตอาสา ทั้งพนักงานบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด รวมไปถึงพนักงานจากบริษัท เชฟรอน (ไทย) จํากัด (คาลเท็กซ์) และ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC) รวมกว่า 80 คน ร่วมกิจกรรมเรียนรู้ลงมือทำตามวิถีกสิกรรมธรรมชาติ ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ อาสาชาวนามหานคร

ซึ่งเป็นพื้นที่เครือข่ายของมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อเสริมองค์ความรู้ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ให้พนักงานได้ต่อยอดในชีวิตจริงในพื้นที่ของตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรม ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายส่งเสริมให้คนไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “กิจกรรมในวันนี้ นับเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เป็นที่ชื่นชอบของเหล่าจิตอาสาเชฟรอนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเราได้ร่วมเรียนรู้และลงมือทำมาตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ภายใต้ “โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน”

โดยทำงานร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา เป็นที่น่ายินดีที่พนักงานหลายคนได้นำองค์ความรู้จากกิจกรรมไปลงมือปฏิบัติจริงและออกแบบที่ดินในพื้นที่ของตนเองจนเห็นผลสำเร็จ รวมทั้งนำความรู้เหล่านี้ไปบอกต่อแก่คนรอบข้าง และเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตหลังเกษียณอีกด้วย

โดยหลังจากนี้ เชฟรอนจะยังคงมุ่งมั่นสานต่อการเรียนรู้ลงมือทำตามแนวทางศาสตร์พระราชา พร้อมปลูกฝังองค์ความรู้สู่การปฏิบัติจริงเพื่อเป็นประโยชน์ให้พนักงานส่งต่อไปถึงสังคมวงกว้าง ตอกย้ำการเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญขับเคลื่อนศาสตร์พระราชา เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้ยั่งยืนและดียิ่งขึ้นในอนาคต”

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อน โมเดลเศรษฐกิจ BCG ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มุ่งใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม, เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อนำวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด และผลักดันเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อเน้นการลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน

โมเดล BCG นี้ มีความสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน ทั้งด้านการนำข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมของไทย พลิกให้เป็นความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรมและเกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน การต่อยอดการใช้ทรัพยากรที่สร้างประโยชน์สูงสุด ไปจนถึงการให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน

ซึ่งเชฟรอนได้ส่งเสริมแนวคิดนี้ ผ่านการดำเนิน โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน ร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มาตลอดระยะเวลา 9 ปี รวมถึงกิจกรรมในครั้งนี้ ได้พาเหล่าจิตอาสามาร่วมเรียนรู้ลงมือทำที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ อาสาชาวนามหานคร อ.หนองจอก ซึ่งตอบโจทย์โมเดลดังกล่าวในทุกมิติ ทั้งด้านการพัฒนาพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมตามหลักกสิกรรมธรรมชาติด้านการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน อีกด้วย

นายวรเกียรติ สุจิวโรดม เจ้าของพื้นที่อาสาชาวนามหานคร และผู้อำนวยการ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ อาสาชาวนามหานคร วิสาหกิจเพื่อสังคม กล่าวว่า “พื้นที่ของเราตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการนำความรู้วิถีกสิกรรมธรรมชาติมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ให้ทั้งชุมชนในหนองจอกและทุกคนที่ได้มาเยี่ยมชมพื้นที่ ผลักดันการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนและเปลี่ยนของเหลือใช้ให้เป็นประโยชน์ ไปจนถึงสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

โดยเราจะไม่ใช้สารเคมีใดๆ อีกทั้งยังมุ่งสร้างความมั่นคงทางอาหาร อากาศ และน้ำเพื่อรองรับวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นกระถินเทพา ที่ในอนาคตข้างหน้าจะสามารถผลิตออกซิเจนให้คนกรุงเทพถึงแสนคน ซึ่งเป้าหมายของพื้นที่อาสาชาวนามหานครคือเราอยากเปลี่ยนที่ดินนี้เป็นโอกาส เพื่อสานต่อองค์ความรู้วิถีกสิกรรมธรรมชาติ รวมถึงแบ่งปันให้สังคมนับร้อยนับพันได้นำกลับไปสร้างประโยชน์ในพื้นที่ของตนเองและให้ผู้คนพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจะเป็นผลพลอยได้สู่สังคมเราในอนาคต”

ตลอดทั้งวัน พนักงานได้เรียนรู้และลงมือทำภายใต้แนวคิด “โคก หนอง นา” โมเดล ซึ่งเป็นเทคนิคด้านการบริหารจัดการพื้นที่ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ผสมผสานเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างพื้นที่การเกษตรที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน และสามารถพึ่งพาตนเองได้ยามเกิดวิกฤตต่างๆ ซึ่งนอกจากจะได้ความรู้ในเชิงทฤษฎีแล้ว ยังได้ลงมือปฏิบัติจริงทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่ายอีกด้วย

สร้างประโยชน์สูงสุดให้พื้นที่ผ่านทฤษฎีดิน-น้ำ-ป่า

กิจกรรมในช่วงเช้าได้เน้นไปที่การจัดการดิน-น้ำ-ป่า ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของระบบนิเวศให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามวิถีกสิกรรมธรรมชาติ

เริ่มต้นจาก “ดิน” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเพาะปลูก เพราะหากดินดี การเพาะปลูกจะง่ายขึ้นตามไปด้วย โดยวิทยากรได้สาธิตวิธี “ห่มดิน” ผ่านหลักการ “เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช” เพื่อบำรุงดินให้มีธาตุอาหาร โดยใช้ฟางหรือเศษใบไม้ที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติคลุมหน้าดิน จากนั้นใส่ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพลงไปเพื่อให้อาหารแก่ดิน โดยดินจะปล่อยธาตุอาหารให้พืชต่อไป

วิธีการดังกล่าวนอกจากจะเป็นปุ๋ยชั้นดีให้แก่พืชแล้ว ยังช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นของหน้าดินได้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการ “คืนชีวิตให้แผ่นดิน” อย่างแท้จริง ต่อด้วย “น้ำ” ซึ่งเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิตในพื้นที่

โดยในหลายๆ ปี ปัญหาภัยแล้งอาจส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูก ในส่วนนี้ วิทยากรได้มอบความรู้พร้อมให้จิตอาสาร่วมลงมือขุด “คลองไส้ไก่” ซึ่งเป็นการขุดร่องน้ำในดินเพื่อกักเก็บน้ำในรูปแบบหลุมขนมครก และกระจายความชุ่มชื้นไปทั่วบริเวณพื้นที่เพาะปลูก

โดยจะมีการทำฝายเล็กๆ เป็นระยะ เพื่อชะลอน้ำทำให้น้ำซึมลงสู่ใต้ดินได้มากที่สุด และทำเส้นทางน้ำคดเคี้ยวเพื่อให้ทั้งพื้นที่มีความชุ่มชื้นและช่วยป้องกันน้ำเน่าเสียด้วย สำหรับองค์ประกอบท้ายสุดอย่าง “ป่า” วิทยากรได้นำเสนอการจัดสรรการ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” เพื่อเป็นทรัพยากรในการดำรงชีวิตและสร้างความร่มเย็น

โดยกิจกรรมได้เน้นไปที่การปลูกป่า 5 ระดับแบบกสิกรรมธรรมชาติ ประกอบด้วย ไม้สูง ไม้กลาง ไม้เตี้ย ไม้เลื้อยเรี่ยดิน และไม้ใต้หัว มาปลูกในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งเป็นการจำลองระบบนิเวศของป่า ที่ต้นไม้จะช่วยดูแลกันเองตามธรรมชาติ ไปจนถึงเคล็ดลับในการบำรุงต้นไม้ โดยองค์ประกอบทั้งหมดจะช่วยสร้างระบบนิเวศที่ดีให้กับพื้นที่ของเรา

เพิ่มคุณค่าให้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG

เมื่อได้เรียนรู้การพัฒนาทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว ช่วงบ่าย เหล่าจิตอาสาได้เรียนรู้การต่อยอดผลผลิตที่ได้เพื่อแปรรูปเป็นประโยชน์อย่างหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้การเพาะเมล็ดพันธุ์พืช เพื่อขยายผลผลิตต่อไป โดยวิทยากรได้สาธิตแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกสถานที่ การเตรียมภาชนะ การย้ายลงหลุม ไปจนถึงการย้ายลงแปลง

ต่อมา วิทยากรได้พาไปศึกษาและลงมือทำน้ำหมัก ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเรื่องของโรคในพืชและป้องกันแมลง ไปจนถึงบำบัดของเสีย ผ่านการเน้นใช้ของที่เหลือในครัวเรือน โดยสาธิตตั้งแต่การเตรียมส่วนผสมตามแต่ละสูตร อัตราส่วนในการหมัก และการกักเก็บ

อีกทั้งเพื่อต่อยอดการใช้งาน พนักงานยังได้เรียนรู้การนำน้ำหมักดังกล่าวไปทำน้ำยาอเนกประสงค์ ไม่ว่าจะเป็น น้ำยาล้างจาน ซักผ้า หรือน้ำยาทำความสะอาดพื้น ซึ่งเป็นการแปรรูปผลผลิตมาใช้เองในครัวเรือน เพื่อลดค่าใช้จ่าย และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

กิจกรรมดังกล่าว ถือเป็นการสร้าง “พลังความร่วมมือ” และขยายผลองค์ความรู้ด้านกสิกรรมธรรมชาติสู่ภายนอกผ่านเหล่าพนักงานจิตอาสาอย่างแท้จริง โดยอาจารย์ไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ได้กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า “มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและเชฟรอน มีความผูกพันกันอย่างยาวนานจากการเป็นพันธมิตรภายใต้โครงการอย่าง ‘พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน’ ตลอด 9 ปี และยังมีโครงการย่อยอีกมากมาย

เช่น การผลักดันการศึกษาของเยาวชน โดยมีจุดประสงค์ร่วมกันคือการสร้างคนและเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ โดยมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มุ่งเป็นสายพานเชื่อมโยงระหว่างกรุงเทพมหานครกับชนบท ผ่านการชูศักยภาพของชาวนาและ องค์ความรู้ด้านกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อสร้างจุดสมดุลระหว่างด้านเศรษฐกิจ (Economy) และระบบนิเวศ (Ecology)

ในขณะเดียวกัน เราไม่เพียงแต่มุ่งสานต่อองค์ความรู้เท่านั้น แต่ยังตั้งเป้าพัฒนาคนในเรื่องจิตสาธารณะให้เป็นมรดกปลูกฝังใน DNA ของคนไทย ดังนั้น กิจกรรมในวันนี้เราจึงมุ่งเชื่อมโยงและสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกันกับเชฟรอน เพื่อเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศ และโลกใบนี้ต่อไป”

จุดเริ่มต้นเล็กๆ จากพลังคนภายในองค์กรของเชฟรอน เป็นหนึ่งในประตูสำคัญที่สามารถส่งต่อสู่สังคมภายนอก เพื่อขยายผลต่อไปได้อย่างไม่รู้จบ โดยสิ่งที่พนักงานได้เรียนรู้จะไม่เพียงแต่สิ้นสุดในวันนี้ แต่จะเป็นประโยชน์ต่อยอดในเส้นทางอนาคตข้างหน้าทั้งของตนเอง และบุคคลอื่นๆ ที่ได้ถ่ายทอดความรู้ต่อไป เพื่อนำไปสู่รากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ปัจจุบันเชฟรอน ยังเดินหน้าให้การสนับสนุนโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ในด้านสร้างการรับรู้ และเผยแพร่ความรู้ด้านศาสตร์พระราชาและหลักกสิกรรมธรรมชาติตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ผ่านทางแหล่งความรู้ออนไลน์ ที่หวังว่าจะเป็นข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์กับคนที่สนใจต่อไป โดยสามารถติดตามได้ที่ https://www.ajourneyinspiredbytheking.org/th/

Written By
More from pp
เปิดใจเปิดประเทศ-ผักกาดหอม
 ผักกาดหอม นี่แหละสังคมแบ่งขั้ว ให้ไปซ้ายจะไปขวา ให้เดินหน้ากลับจะถอยหลัง อีกฝ่ายทำอะไร ค้านมันทุกเรื่อง ติดเป็นนิสัยกันหมดแล้ว
Read More
0 replies on “เชฟรอน หนุนโมเดล BCG รวมพลจิตอาสา ร่วมเรียนรู้ลงมือทำตามวิถีกสิกรรมธรรมชาติ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”