ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน โพสต์ Facebook ระบุถึงความหมายที่แท้จริงของคำว่า “สวัสดิการ” หมายถึง สวัสดิภาพ ความสุข สะดวกสบาย ความผาสุก ที่รัฐพึงให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม
สวัสดิการแห่งรัฐ จึงไม่ใช่เรื่องของการดูแลคนจน คนด้อยโอกาสเท่านั้น แต่เป็นการสร้าง สวัสดิภาพ ความสุข สะดวกสบาย ความผาสุก ให้กับคนทุกกลุ่ม นั่นหมายความว่า สวัสดิการ แบบหว่านแห ที่ประกาศจะแจกทุกคนเป็นจำนวนเงินกี่บาทต่อเดือนเพียงเท่านั้น เป็นแนวคิดที่ไม่เข้าใจระบบรัฐสวัสดิการ และไม่ได้สร้างประโยชน์ในระยะยาว แต่หวังเพียงแค่คะแนนเสียงตอนเลือกตั้ง
สวัสดิการแห่งรัฐที่แท้จริง ต้องออกแบบให้ “ถูกฝาถูกตัว” กับคนทุกกลุ่ม ทุกระดับชั้น ทุกวัย เพื่อทุกคน จึงต้องเริ่มจากบิ๊กดาต้าหรือฐานข้อมูลทั้งหมดที่มีด้านสวัสดิการ ซึ่งทุกวันนี้ ข้อมูลกระจายกันอยู่คนละหน่วยงานตามงบประมาณที่แต่ละกระทรวงได้รับ
เช่น ข้อมูลบัตรสวัสดิการอยู่ที่ กระทรวงการคลัง ข้อมูลเงินช่วยเหลือผู้พิการ เด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุ อยู่ที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ข้อมูลเงินเยียวยาเกษตรกร อยู่ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ข้อมูลสวัสดิการผู้ใช้แรงงาน อยู่ที่กระทรวงแรงงาน ข้อมูลสวัสดิการนักเรียน อยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น
เมื่อข้อมูลยังไม่เข้ามาอยู่ในฐานเดียวกัน ทุกปี แต่ละหน่วยงานก็ยังเสนอแผนงานที่เกี่ยวกับสวัสดิการและของบประมาณแยกกัน ทำให้การบริหารงบประมาณขาดประสิทธิภาพ รัฐไม่สามารถบอกได้ว่า นาย ก. รับสวัสดิการอะไรจากรัฐบ้าง นอกจากจะไปไล่ถามทีละหน่วยงาน
ซึ่งทำให้การออกแบบสวัสดิการแบบ “ถูกฝาถูกตัว” เกิดไม่ได้เสียที เวลารัฐบาลจะทำการช่วยเหลือกลุ่มใดที กลับต้องมาให้ประชาชนแข่งกันลงทะเบียนรับสิทธิทุกครั้งไป
สวัสดิการแห่งรัฐ จึงต้องเริ่มจากการมีบิ๊กดาต้าด้านสวัสดิการ นำมาออกแบบสวัสดิการสำหรับทุกกลุ่ม เป็นสวัสดิการตามช่วงวัย สวัสดิการตามกลุ่มอาชีพ สวัสดิการตามพื้นที่
เช่น สวัสดิการเด็กในครรภ์ สวัสดิการเด็กก่อนวัยเรียน สวัสดิการด้านการศึกษา สวัสดิการแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ อาชีพอิสระ สวัสดิการผู้มีรายได้น้อย สวัสดิการคนจนในเมือง สวัสดิการเสริมทักษะเพื่อการเปลี่ยนอาชีพ สวัสดิการเกษตรกร สวัสดิการชาวประมง เป็นต้น
โดยไม่ต้องไปทำบัตรอะไรใหม่ ใช้เลขบัตรประชาชน 13 หลัก ต้องบอกได้เลยว่าประชาชนคนนี้อาชีพอะไร สถานะเป็นเช่นไร ได้รับสวัสดิการอะไรอยู่บ้างแล้ว
หลายคนบอกว่า ทำยาก เพราะทุกกระทรวงยึดติดกับโครงการและเม็ดเงินงบประมาณเหล่านี้ทุกปีไปแล้ว ข้อมูลก็ไม่นำเข้าฐานข้อมูลร่วม อ้างเพราะติดพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล นี่คือการคิดแบบเห็นแต่อุปสรรค
ถ้าเราจะสร้างรัฐสวัสดิการ เราต้องได้คนที่กล้าเปลี่ยนแปลงเพื่อสวัสดิภาพ และความผาสุกของประชาชน ไม่เช่นนั้น ก็คงเห็นแต่การแข่งกันหาเสียงด้วยนโยบายฉาบฉวยว่าจะให้เงินบำนาญเดือนละเท่าไร
การบริหารงบประมาณแผ่นดินก็จะติดกับดักเพดาน และจะไม่สามารถบริหารจัดการงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพได้ในระยะยาว … คงถึงเวลาที่เราต้องเลือกคนกล้าตัดสินใจเริ่มทำอย่างจริงจังกันเสียที