ผักกาดหอม
๘ กันยายน ๒๕๖๕ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จสวรรคตอย่างสงบ
ข่าวนี้นำความโศกเศร้ามาให้ผู้คนทั้งโลก
โลกมิได้สูญเสียแค่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ ครับ แต่สูญเสียบุคคลซึ่งมีความสำคัญในประวัติศาสตร์โลกมากที่สุดคนหนึ่ง
เป็นประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องมายาวนาน ๗๐ ปี ๒๑๔ วัน ที่ทรงครองราชย์
หลายแง่มุมของ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ กลับมามีการพูดถึงกันอีกครั้ง และหนึ่งในนั้นคือ ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ระหว่างราชวงศ์อังกฤษ กับราชวงศ์ไทย
เนื่องจากทั้งสองประเทศปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เหมือนกัน
มีนายกรัฐมนตรี มีรัฐสภาเหมือนกัน
ความคล้ายกันนี้ ได้สร้างความสัมพันธ์พิเศษ ระหว่าง ๒ ราชวงศ์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
ที่สำคัญพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ ต่างทรงครองราชย์ร่วมยุคสมัย มายาวนานเหมือนกัน
ความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งนี้ยากที่จะหาราชวงศ์ใดมาเปรียบเทียบ
การเสด็จพระราชดำเนินเยือนระหว่างกันมีมาอย่างต่อเนื่อง
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ปี ๒๕๐๒
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ปี ๒๕๐๓
การเสด็จพระราชดำเนินเยือน ๑๔ ประเทศครั้งนั้นสำคัญมาก เริ่มจากสหรัฐฯ และตามด้วยประเทศในแถบยุโรป
โดยสหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่ ๒ ของการเสด็จฯ เยือน
วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๐๓ ในหลวง ร.๙ มีพระราชดำรัสตอบสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ ในงานถวายเลี้ยงที่พระราชวังบักกิงแฮม
“ในประเทศของหม่อมฉัน ลักษณะนิสัยของชาวอังกฤษนั้นเป็นที่ชื่นชมมาก ความตรงไปตรงมา ความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา รวมทั้งความอดทนไม่ย่อท้อนั้นถือเป็นคุณสมบัติที่ดึงดูดใจและสร้างแรงบันดาลใจ
ด้วยเหตุนี้จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอัยกาของหม่อมฉันทรงเลือกสหราชอาณาจักร เป็นประเทศแรกในการส่งนักเรียนไทยกลุ่มแรกมาศึกษาในต่างประเทศ”
“แม้ประชาชนชาวไทยจะไม่สามารถมาเยี่ยมเยือนประเทศแห่งนี้ได้ทุกคน แต่หม่อมฉันรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยในการนำไมตรีจิตและความปรารถนาดีมามอบให้ฝ่าพระบาทผู้ทรงเป็นประมุขของประเทศ
หม่อมฉันหวังว่าการมาเยือนของหม่อมฉันในครั้งนี้จะส่งผลให้ความสัมพันธ์ของราชวงศ์ของเราทั้งสองมีความใกล้ชิดมากขึ้น และจะช่วยเสริมสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศที่มีมาอย่างยาวนานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน”
พระราชดำรัสนี้ถูกบันทึกไว้ ให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่าความสัมพันธ์ของทั้ง ๒ ราชวงค์นั้นมีมาช้านานแล้ว
และทั้งสองพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินเยือนอังกฤษอีกครั้งเป็นการส่วนพระองค์หลังจากนั้นในอีก ๖ ปีถัดมา
ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ และเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระสวามี เคยเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ๒ ครั้ง
ครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๑๕ และครั้งที่ ๒ เมื่อ ปี ๒๕๓๙
เดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๑๕ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ เจ้าชายฟิลิป และเจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี เสด็จฯ เยือนประเทศไทย โดยเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชวังบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.เชียงใหม่ ด้วย
ปี ๒๕๓๙ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ และเจ้าชายฟิลิป เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสปีกาญจนาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี เป็นเวลา ๕ วัน ระหว่างวันที่ ๒๘ ตุลาคม – ๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ โดยได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานในหลายพื้นที่ ทั้งด้านวิชาการ การค้า การลงทุน และการทหาร
ในเทศกาลคริสต์มาส ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๐ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ พระราชทานพระราชดำรัสเนื่องในเทศกาลคริสต์มาส และบนโต๊ะทรงพระอักษร มีแท่นปากกาเครื่องเขียนถมทอง พร้อมอักษรพระปรมาภิไธย ภปร ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ถวายในการแลกเปลี่ยนของที่ระลึกวางอยู่ด้วย
วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก แห่งสหราชอาณาจักร ได้เสด็จแทน สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ผู้เป็นพระราชมารดา เพื่อร่วมพระราชพิธี
วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๒ เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก เสด็จเยือนประเทศไทย ในฐานะผู้แทนทางการค้า และการลงทุน ระหว่างประเทศของอังกฤษ เพื่อส่งเสริม และกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่าง ๒ ประเทศ
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวง ร.๙ พระชนมพรรษาครบ ๘๗ พรรษา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ ทรงส่งพระราชสาส์นมาถวายพระพรชัยมงคล
พระราชสาส์นมีใจความว่า…
“หม่อมฉันขอถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๘๗ พรรษาของฝ่าพระบาท หม่อมฉันมีความยินดีที่ได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทยดำเนินมาอย่างแน่นแฟ้นเป็นเวลากว่า ๔๐๐ ปี บนพื้นฐานของมิตรภาพอันยั่งยืนระหว่างประชาชนชาวไทยและประชาชนชาวอังกฤษ หม่อมฉันขอถวายพระพรชัยมงคลแด่ฝ่าพระบาทเพื่อทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง และทรงพระเกษมสำราญ”
ครั้นเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ ได้ทรงทราบข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้ส่งพระราชสาส์น แสดงความเสียพระราชหฤทัย ต่อการเสด็จสวรรคต
นอกจากนี้ รัฐบาลอังกฤษยังลดธงครึ่งเสาเหนือพระราชวังบักกิงแฮม อาคารรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ และสถานที่ราชการหลายแห่ง เพื่อร่วมแสดงความอาลัยต่อการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของพสกนิกรชาวไทย
ต่อมาวันที่ ๒๔ ตุลาคม ปี ๒๕๖๐ เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก ราชวงศ์อังกฤษ ได้เสด็จมายังประเทศไทย เพื่อร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของ ๒ ประเทศที่มีให้แก่กัน
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองราชย์เป็นเวลา ๗๐ ปี ก่อนจะเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙
ขณะที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ ทรงครองราชย์ครบ ๗๐ ปี ในปี ๒๕๖๕ และเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๕ พระชนมพรรษา ๙๖ พรรษา
ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ไทยกับอังกฤษ ช่วง ๗๐ ปีแห่งการครองราชย์ จะถูกบันทึกไปตลอดกาล