‘ไตรรงค์-ประยุทธ์’ – ผักกาดหอม

www.plewseengern.com

ผักกาดหอม

ชัดแล้วครับ!

วานนี้ (๙ พฤศจิกายน) “ลุงตู่” ลงนามแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและการขับเคลื่อนงานของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่ปรึกษาชื่อ “ไตรรงค์ สุวรรณคีรี”

สมการการเมืองเป็นแบบนี้ครับ

“ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” ลาออกจากประชาธิปัตย์ พรรคสังกัดใหม่เต็งหนึ่งคือ “รวมไทยสร้างชาติ”

ที่นั่นมีคนเก่าของพรรคประชาธิปัตย์รออยู่แล้วหลายคน นำโดย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, เอกนัฏ พร้อมพันธุ์, วิทยา แก้วภราดัย, ชื่นชอบ คงอุดม, วิสุทธิ์ ธรรมเพชร

ทั้งหมดเป็นแกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ

“พีระพันธุ์-ไตรรงค์” ไม่ใช่อื่นไกล นับถือกันมานาน

มีข่าวพรรคใหม่ของ “ลุงตู่” คือ รวมไทยสร้างชาติ

เมื่อ “ลุงตู่” ตั้ง “ไตรรงค์” เป็นที่ปรึกษานายกฯ คอการเมืองจะมองเป็นอื่นได้อย่างไรกัน

หาจุดเชื่อมโยงระหว่าง “ลุงตู่” กับ ไตรรงค์” แทบไม่ได้ หากไม่ใช่พรรครวมไทยสร้างชาติ

ฉะนั้นนี่คือการประกาศตัวแบบเงียบๆ

“ลุงตู่” วางอนาคตทางการเมืองเอาไว้แล้ว

ฟังสุ้มเสียงจาก “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ไม่รับแต่ไม่ปฏิเสธ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะช่วงเวลานี้ ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ “ลุงตู่” ต้องประกาศตัวว่าเข้าสังกัดพรรคการเมืองใด

และการที่พรรคพลังประชารัฐ ไม่ประกาศตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ก็เป็นความชัดเจนระดับหนึ่งว่า จะไม่มีชื่อ “ลุงตู่”

ในทางการเมือง ณ เวลานี้ ไม่ง่ายที่ “ลุงตู่” จะแสดงจุดยืนว่าอยู่พรรคไหน

หากยืนยันว่าไป พรรครวมไทยสร้างชาติ ขณะที่ยังเป็นนายกรัฐมนตรีที่เสนอชื่อโดยพรรคพลังประชารัฐ อาจมีแรงกระเพื่อมภายในพรรคพลังประชารัฐได้

นั่นอาจกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล

ขณะเดียวกันหากสภาอยู่ครบวาระ รัฐบาลอยู่ครบเทอม เส้นตายการย้ายพรรคคือวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ก็ใช่ว่า “ลุงตู่” จะประกาศตัวเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติภายในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ได้

ฉะนั้นสถานะทางการเมืองของ “ลุงตู่” จึงคล้ายกับช่วงก่อนการเลือกตั้งปี ๒๕๖๒

คือ ไม่สังกัดพรรค

แต่อาจถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ ร่วมกับ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค”

ขณะที่ “ลุงตู่” ทำหน้าที่นายกฯ รักษาการจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่

ก็ตามติดกันต่อไป

แต่ดูอากัปกิริยาล่าสุด เหมือน “ลุงตู่” ตกผลึกแล้ว พยายามอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปจนครบวาระ

จากการบรรยายหัวข้อ บทบาทของภาครัฐ เอกชน และการเมือง ในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ เป็นการพูดถึงผลงานก่อนทิ้งทวน

“…ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเอเปก ถือเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลจะได้แสดงถึงศักยภาพของประเทศในการขับเคลื่อนพัฒนาเพื่อบรรลุตามเจตนารมณ์ของยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งหลายคนตกใจกลัวว่ายุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร

ช่วยไปดูรายละเอียด และสร้างความเข้าใจว่าแต่ละช่วง ทุก ๕ ปีจะกลับมาย้อนดูและปรับปรุง

ต่างประเทศก็ทำแบบนี้ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถทำอะไรให้เกิดความยั่งยืนได้ นโยบายที่วางไว้จะได้จบ ไม่เหมือนกับบางรัฐบาลมีอายุสั้น ผลงานจึงไม่ค่อยปรากฏออกมา…”

“…ในปัจจุบันเราได้นำยุทธศาสตร์ชาติเข้าสู่ระยะที่สองแล้ว ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ไม่ใช่ทุกอย่างจะแข็งไปเสียทั้งหมด

หลายคนมาบอกว่าการกำหนดยุทธศาสตร์ไว้นานที่จะอยู่ในอำนาจนานหรือไม่ ผมไม่ได้คิดแบบนั้น อะไรที่วางเอาไว้ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตามสามารถสานต่อได้…”

“…รัฐบาลนี้ยืนยันว่าโครงการสำคัญๆ เมื่อกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติแล้วจะต้องทำให้สำเร็จต่อเนื่อง เห็นได้จากผลงาน ๘ ปีที่ผ่านมา หลายอย่างเกิดขึ้น

โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งมีความต่อเนื่อง และไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่สามารถสานต่อได้…”

“…บทบาทของภาครัฐวันนี้ไม่ใช่แค่รักษาอธิปไตยและความสงบเรียบร้อยแล้ว วันนี้ไม่ใช่ถือดาบถือปืนเดินหน้าลุยกันเหมือนสมัยก่อนแล้ว แต่วันนี้มีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ มากมาย

สิ่งที่ต้องระมัดระวังที่สุด ทำอย่างไรเราจะสงบเรียบร้อย ไม่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศ ทั้งจากพวกเรากันเองและภายนอก

ทำอย่างไรให้ดินแดนของเราเป็นดินแดนสงบสุข เป็นดินแดนแห่งสันติภาพและดินแดนแห่งรอยยิ้ม…”

“…ในเรื่องของสวัสดิการ ถ้าย้อนกลับไปดูในเรื่องการดูแลประชาชน ข้าราชการสามารถที่จะตอบแทนได้ แต่มีหลายคนที่มีความต้องการมากกว่าหรือเยอะกว่านี้

แต่สิ่งสำคัญคือ เราต้องเพิ่มปริมาณรายได้ของเราให้มากขึ้นด้วย เราจึงต้องพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง งบประมาณที่เกี่ยวกับสวัสดิการของประชาชน

เราใช้งบประมาณจำนวนมากในสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่ง ๘ ปีที่ผ่านมารัฐบาลพยายามทำอย่างดีที่สุด ทั้งแก้ปัญหาเก่าและรับปัญหาใหม่ จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันสร้างความเข้าใจ

นอกจากนี้ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ใช่บัตรคนจน ในเรื่องรายได้มีเส้นขีดระดับเป็นกติกาเอาไว้ว่าจะต้องมีรายได้เท่าไหร่ถึงจะเป็นคนจน เราต้องการดูแลให้เขาอยู่รอด มีอาหารการกิน

ที่หลายคนมองว่าเป็นนโยบายประชานิยม เพียงต้องการพุ่งเป้าไปให้เขาเพื่อใช้ทำอะไร ส่วนเขาจะใช้ทำอะไรถือเป็นสิทธิ์…”

“…นายกฯ ไม่ใช่คนที่ดีที่สุดในโลก แต่เป็นคนช่างคิด คิดไปเรื่อย อะไรทำได้ก็ทำ อะไรทำไม่ได้ก็ไม่ทำ แต่ถ้าหยุดคิดก็ทำอะไรไม่ได้ หรือคิดเฉพาะความขัดแย้ง คิดแต่จะไปสู้เขา อย่างไรมันไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมากับประเทศชาติ…”

วันนี้ “ลุงตู่” โฟกัสไปที่การประชุมเอเปก เพื่อแสดงศักยภาพของประเทศไทย

๘ ปีของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และช่วงเวลาของการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี คือสิ่งที่ต้องโชว์

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บก น้ำ อากาศ คือจุดเด่นของรัฐบาลนี้

แต่ก็มีชุดความคิดจากการเมืองฝั่งตรงข้ามว่า ๘ ปีที่เสียไป พบแต่ความล้มเหลว ไม่มีอะไรเกิดขึ้นสักอย่าง

“ลุงตู่” พยายามทำให้ดินแดนไทยเป็นดินแดนสงบสุข เป็นดินแดนแห่งสันติภาพ และดินแดนแห่งรอยยิ้ม

แต่ยากเหลือเกิน เพราะอีกฝั่งปูพรมมาตลอดว่ารัฐบาลนี้คือรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจ กำจัดผู้เห็นต่าง

หรือแม้กระทั่งการพูดถึงรัฐสวัสดิการ ที่พรรคก้าวไกล นำมาใช้หาเสียงโดยจะขูดงบประมาณจากกองทัพ ที่ฟังดูแล้วช่างน่าสะใจ แต่แค่ขายฝัน

“ลุงตู่” กระตุกให้กลับเข้าสู่ความเป็นจริง รัฐสวัสดิการต้องมาหลังการพัฒนาประเทศ ให้เป็นประเทศมีรายได้สูงก่อน

การเมือง ๒ ฝั่งมีความขัดแย้งทั้งแนวคิดและวิธีการ การหลอมรวมยากที่จะเกิด

ความพยายามก่อตัวเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ ยังคงถูกมองว่าอยู่ในวังวนขั้วอำนาจเดิม เป็นการบ้านที่สำคัญสำหรับพรรคเกิดใหม่อย่างรวมไทยสร้างชาติ

ประยุทธ์-ไตรรงค์-พีระพันธุ์ จะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ได้จริงต้องอาศัยแรงผลักดันมหาศาล

เพราะสถานการณ์ของปี ๒๕๖๕-๒๕๖๖ ไม่ได้ดีไปกว่าปี ๒๕๖๒

แล้วแต่ประชาชนจะพิพากษาครับ

Written By
More from pp
เกณิกา มั่นใจ “มีลุงป้อม ไม่มีแล้ง” แก้ปัญหาความยากจนตรงจุด ประชาชนตอบรับนโยบายแก้ปัญหาภัยแล้ง เชื่อลุงป้อมทำได้จริงจากผลงานที่ผ่านมา
เกณิกา มั่นใจ “มีลุงป้อม ไม่มีแล้ง” แก้ปัญหาความยากจนตรงจุด ประชาชนตอบรับนโยบายแก้ปัญหาภัยแล้ง เชื่อมั่นลุงป้อมทำได้จริง-เลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
Read More
0 replies on “‘ไตรรงค์-ประยุทธ์’ – ผักกาดหอม”