ผักกาดหอม
เหมือนปลาได้น้ำ
ช่วงนี้พรรคเพื่อไทยคึกคักเป็นพิเศษจากผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ร้อยเอ็ด
แลนด์สไลด์จริงๆ
คนร้อยเอ็ดจูงมือกันไปเทร่วม ๓ แสนคะแนน เลือก “เศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์” เป็นนายก อบจ. เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ก็ต้องแสดงความยินดีด้วย
“เศกสิทธิ์” ไม่ใช่ขี้ๆ นะครับ
เป็น ส.ส.ร้อยเอ็ดมาถึง ๕ สมัย
ผ่านยุคบังคับควบรวมพรรค จากพรรคพ่อใหญ่จิ๋วเข้าสู่ไทยรักไทย จากนั้นก็อยู่กับทักษิณ มาตลอด จึงไม่แปลกอะไรที่ได้รับเลือกเป็นนายก อบจ.
วานนี้ (๒๖ กันยายน) “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่องเลือกตั้งนายก อบจ.กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด
…ลงพื้นที่ปราศรัย พบปะประชาชนทั้ง ๒ สนาม รวม ๒๐ เวที สัมผัสอารมณ์ความรู้สึก ยืนสบตาคนหลายหมื่นคน พบเห็นข้อสังเกตบางแง่มุมมาเล่าสู่กันฟังครับ
๑.ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยออกตัวในฐานะผู้ท้าชิง แต่พลิกกลับเอาชนะแชมป์เก่าขาดลอยทั้ง ๒ สนาม
๒.แชมป์เก่าทั้งคู่ ครั้งที่แล้วเปิดตัวเป็นพลังประชารัฐ แต่รอบนี้ไม่ได้ยินชื่อพรรคและชื่อ พล.อ.ประยุทธ์จากทั้ง ๒ เวทีแม้แต่ครั้งเดียว ที่ร้อยเอ็ดผู้สมัครบางคนนอกจากลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาล ยังปลดป้ายพรรคออกจากสำนักงาน แสดงตัวเป็นผู้สมัครอิสระ
นี่คือสภาพถดถอยอย่างยิ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ สวนทางกับภาวะผู้นำของแพทองธาร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่พุ่งขึ้นหลังนำทัพชนะแบบแลนด์สไลด์
เชื่อว่าการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึง ในพื้นที่เข้มแข็งของพรรคเพื่อไทยและพรรคฝ่ายประชาธิปไตย เช่น อีสาน เหนือ และ กทม. หากประยุทธ์ยังเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ไม่ว่าในฐานะแคนดิเดตนายกฯ หรืออยู่เบื้องหลัง จะเห็นผู้สมัครพรรคนั้น หาเสียงโดยเน้นคะแนนเขตเพื่อเอาตัวรอด ปล่อยคะแนนพรรคเป็นของฝ่ายประชาธิปไตย ลูกพรรคจะทิ้งประยุทธ์กลางสนาม
๓.การบริหารงานทั้งยุค คสช.และหลังเลือกตั้ง ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในความรู้สึกประชาชน พล.อ.ประยุทธ์กลายเป็นจุดอ่อน และตัวปัญหาใหญ่สุดของรัฐบาล
การประกาศตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามประยุทธ์กลายเป็นจุดแข็งในการเลือกตั้ง เชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันก็จะหาเสียงโดยไม่กล้าพูดชัดว่าจะร่วมรัฐบาลกับประยุทธ์อีก
๔.นอกจากเศรษฐกิจ ปากท้อง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง ปัญหายาเสพติดก็เป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้กัน คนทั้งประเทศรับรู้ ยาบ้า ยาอี ยาไอซ์มีขายราคาถูกทุกหย่อมหญ้า ๘ ปีที่ผ่านมานายกฯ ไม่เคยลงมือทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ล้มละลายอย่างที่สุดในการแก้ปัญหายาเสพติด
๕.เป้าหมายแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย เป็นที่รับรู้ เข้าใจ และตอบรับมากขึ้นเรื่อยๆ จากประชาชนทุกกลุ่ม ขณะที่อีกส่วนรอความชัดเจนเรื่องนโยบาย
ถ้าหลังยุบสภา เพื่อไทยประกาศนโยบายชัดเจนโดนใจ ตอบโจทย์ชีวิตคนส่วนใหญ่ แลนด์สไลด์จะไม่ใช่แค่สโลแกนหาเสียง แต่จะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น เหมือนที่เคยทำสำเร็จมาแล้ว
หมัดเด็ดของเพื่อไทยหลังจากนี้ คือนโยบาย
๖.ประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลง ตั้งใจรอคอยการเลือกตั้ง กระแสข่าวรัฐประหารที่เริ่มส่งกลิ่น ปะทะโดยตรงกับเจตนารมณ์ของประชาชน ถ้าลงมือทำจะเป็นความท้าทายและสุ่มเสี่ยงที่สุดของฝ่ายอำนาจนิยม
การยึดอำนาจคงทำได้ แต่ค่าใช้จ่ายทางการเมืองจะสูงเกินคาดเดา ปล่อยให้ประยุทธ์พังไปในการเลือกตั้ง น่าจะเป็นทางเลือกที่ลงตัวกว่า
๗.ถ้าประยุทธ์รอด อยู่ต่อได้หลัง ๓๐ กันยายน สถานะของเขาจะเป็นเหมือนหัวคะแนนหลักของพรรคเพื่อไทย อยู่นานเท่าไหร่ เพื่อไทยก็เข้าใกล้แลนด์สไลด์เท่านั้น
ไม่เชื่อก็ลองดู…
ครับ…ขอให้แลนด์สไลด์
เข้าไปดูเนื้อในการเลือกตั้งนายก อบจ.ร้อยเอ็ด รู้สึกธรรมดากับเกือบ ๓ แสนคะแนนที่พรรคเพื่อไทยได้มา
เหตุผลไม่มีอะไรมากครับ จังหวัดร้อยเอ็ดมีเขตเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งสิ้น ๗ เขตเลือกตั้ง เป็น ส.ส.เพื่อไทยถึง ๖ เขต
เหลือเขตเดียวคือเขต ๑ เป็นเขตเมืองร้อยเอ็ด และอำเภอศรีสมเด็จ เป็นของ “อนุรักษ์ จุรีมาศ” พรรคชาติไทยพัฒนา
ไปดูผลการเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ กันหน่อยครับ ว่าแต่ละเขตพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเท่าไหร่
เริ่มที่่เขต ๑ “วราวงษ์ พันธุศิลา” ได้ ๑๘,๔๗๗ คะแนน สอบตก
ที่เหลืออีก ๖ เขต ส.ส.เป็นของพรรคเพื่อไทยทั้งหมด
เขต ๒ ฉลาด ขามช่วง ได้ ๔๘,๕๘๘ คะแนน
เขต ๓ นิรมิต สุจารี ได้ ๓๗,๐๙๔ คะแนน
เขต ๔ นิรันดร์ นาเมืองรักษ์ ได้ ๔๓,๙๗๒ คะแนน
เขต ๕ จิราพร สินธุไพร ได้ ๕๘,๖๔๐ คะแนน
เขต ๖ กิตติ สมทรัพย์ ได้ ๕๑,๓๐๐ คะแนน
และเขต ๗ ศักดา คงเพชร ได้ ๓๘,๐๖๔ คะแนน
รวมคนร้อยเอ็ดหย่อนบัตรเลือกพรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น ๒๙๖,๑๓๕ คะแนน
ผลเลือกตั้งนายก อบจ.ร้อยเอ็ดอย่างเป็นทางการ “เศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์” ได้ไป ๓๐๑,๑๘๗ คะแนน ได้มากกว่าเลือกตั้ง ส.ส.ปี ๒๕๖๒ กว่า ๕ พันคะแนน
เอาเข้าจริงเลือกนายก อบจ. ในหลายๆ จังหวัด คนชนะได้คะแนนระดับ สอง-สามแสน ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
เช่นเลือกนายก อบจ.สงขลา เมื่อปี ๒๕๖๓ ที่ ๑ กับ ๒ ฟัดกันสนุก ได้มาเกิน ๒ แสนคะแนนทั้งคู่
ประชาธิปัตย์ชนะพลังประชารัฐไปแบบต้องลุ้นกันเกือบหยดสุดท้าย
“ไพเจน มากสุวรรณ์” จากประชาธิปัตย์ ได้ ๒๖๕,๔๗๕ คะแนน
“พ.อ. (พิเศษ) สุชาติ จันทรโชติกุล” จากพลังประชารัฐ ได้ ๒๓๙,๗๘๖ คะแนน
ไปดูในภาพรวมผลเลือกตั้งนายก อบจ.ปี ๒๕๖๓ พรรคเพื่อไทย ได้ไป ๒๐ คน ส่วนใหญ่ชนะทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง
พรรคพลังประชารัฐ ได้ ๑๘ คน กระจายอยู่เกือบครบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้
พรรคภูมิใจไทย ได้ ๑๕ คน แถบอีสานใต้เป็นหลัก
พรรคประชาธิปัตย์ ยังยึดพื้นที่ภาคใต้ไว้ได้ ได้ไป ๙ จังหวัด
ขณะที่คณะก้าวหน้า กินไข่
ฉะนั้นในภาพรวม การเลือกนายก อบจ. จะล้อตามเขตเลือกตั้ง ส.ส.เสียเป็นส่วนใหญ่
ทั้งหมดนี้เป็นการอธิบายว่า ชัยชนะการเลือกตั้งนายก อบจ.ที่ร้อยเอ็ดของพรรคเพื่อไทย ใช่แลนด์สไลด์จริงหรือไม่
และแลนด์สไลด์หมายถึงอะไร
ต้องได้ที่นั่ง ส.ส.เท่าไหร่ ถึงจะเรียกแลนด์สไลด์
ก็ไม่มีข้อกำหนดอะไรตายตัวครับ เพราะเอาเข้าจริง แค่ชนะการเลือกตั้งธรรมดา เหมือนการเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ พรรคเพื่อไทยก็อาจเรียกว่าแลนด์สไลด์ได้
แล้วแต่จะนิยามกัน
เพียงแต่ช่วงนี้เข้าสู่บรรยากาศเลือกตั้งเต็มตัวแล้ว พรรคเพื่อไทยพยายามชูแลนด์สไลด์เป็นจุดขาย หวังว่าจะได้กลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง หลังจากห่างหายไป ๘ ปีเต็ม ซึ่งถือว่านานพอสวมควร
ฉะนั้นอย่าแปลกใจอะไรหากแกนนำพรรคนี้ พยายามสรรหาอุบายต่างๆ มาขายเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง
แต่สิ่งหนึ่งที่ประชาชนควรจำไว้เป็นบทเรียน
รัฐบาลระบอบทักษิณมีรัฐมนตรีติดคุกมากที่สุด
นายกฯ ๒ คนหนีไปต่างประเทศ
หากมีแลนด์สไลด์ เรื่องเดิมๆ จะเกิดขึ้นอีก
ไม่เชื่อก็ลองดู…