พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ เป็นประธานเปิดและปล่อยขบวนประกวดเรือพนมพระทางบก “ประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว จังหวัดสุราษฎร์ธานี” อย่างยิ่งใหญ่ โดยมีข้าราชการระดับสูง หัวหน้าส่วนราชการท้องถิ่น และพี่น้องชาวสุราษฎร์ธานี รอต้อนรับและมาร่วมงานกันอย่างคึกคัก ระบุเพื่อเป็นการสืบทอดประเพณีอันดีงามให้ลูกหลาน พร้อมเดินนำขบวนเรือพนมพระกว่า 109 ลำ ที่ถูกจัดตกแต่งมาอย่างสวยงามและยิ่งใหญ่ หลังงดจัดงานมาราว 2 ปี เนื่องจากปัญหาโควิด-19
11 ตุลาคม 2565 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดและปล่อยขบวนประกวดเรือพนมพระทางบก “ประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว จังหวัดสุราษฎร์ธานี” ประจำปี 2565 หรืองานเดือน 11 ของชาวสุราษฎร์ธานี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-15 ตุลาคม 2565
โดยมีนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง และประธานสมาพันธุ์องค์การบริหารส่วนจังหวัดภาคใต้ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนชาวสุราษฎร์ธานีให้การต้อนรับเป็นจำนวนมาก
นายพีระพันธุ์ กล่าวก่อนเปิดงานว่า “ประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว จังหวัดสุราษฎร์ธานี” นับเป็นประเพณีสำคัญของชาวสุราษฎร์ธานี ที่ยังคงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ดีงาม และความเชื่อทางพุทธศาสนาที่สำคัญ ที่ได้รับการสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าที่ผ่านมาจะไม่สามารถจัดงานได้เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่าในปีนี้ทุกภาคส่วนได้ร่วมใจกันจัดงานขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำกิจกรรมของท้องถิ่นแล้ว ยังจะเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดกันมาหลายชั่วคนต่อไปถึงลูกหลานอีกด้วย โดยจะเห็นได้ว่าประเพณีนี้ได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมหลากหลายภายนอกเข้าสู่สังคมที่ได้รับมาจนเป็นแนวปฏิบัติหลากหลายผสมผสานกับการดำรงชีวิต และประเพณีท้องถิ่น ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นวิถีการดำเนินชีวิตในสังคมของชาวสุราษฎร์ธานี
“โดยเฉพาะศาสนาที่มีความเชื่อเป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า ทำให้พวกเราได้บุญกุศลในวันนี้ด้วย วัดวาอารามต่างๆ ก็ได้สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของพุทธศาสนาที่มีต่อสังคมของเรา และทำให้เห็นว่าทุกคนในสังคมให้ความสำคัญและร่วมมือกันบำรุงศาสนา และศิลปะอันงดงามในครั้งนี้
วันนี้เรือพนมพระ จาก 19 อำเภอ จำนวน 109 ลำ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิถีการดำเนินชีวิตของชาว จ.สุราษฎร์ธานีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ให้ยังคงสืบสานประเพณีอันดีงามนี้ไว้เป็นตัวอย่างให้กับลูกหลานรุ่นหลังที่จะมาสืบทอดต่อไป” นายพีระพันธุ์กล่าว
จากนั้น นายพีระพันธุ์ ได้ทำพิธีตีฆ้องเปิดงาน และร่วมเดินนำขบวนเรือจากทั้ง 19 อำเภอ ของ จ.สุราษฎร์ธานี ที่มาร่วมในงาน“ประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว จังหวัดสุราษฎร์ธานี” ประจำปี 2565 พร้อมด้วย นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี,นายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี คณะกรรมการจัดงาน หัวหน้าส่วนราชการ รวมไปถึงนายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง และประชาชนชาวสุราษฎร์ธานี
สำหรับ “ประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว จังหวัดสุราษฎร์ธานี” เป็นประเพณีทำบุญหลังออกพรรษาของชาวท้องถิ่นภาคใต้ ซึ่งเป็นตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ของทุกปี โดยเชื่อกันว่าเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จฯไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อมาโปรดพระมารดา เมื่อครบพรรษาเสด็จฯ มายังโลกมนุษย์ พุทธศาสนานิกชนจึงได้มารอรับเสด็จฯ แล้วอัญเชิญพระพุทธเจ้าขึ้นประทับบนบุษบกแห่ไปรอบเมือง
โดยกว่าหนึ่งเดือนก่อนถึงวันออกพรรษา วัดและชาวบ้านในชุมชนต่าง ๆ ทั่วทั้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะช่วยกันจัดเตรียมตกแต่งเรือพนมพระทางบกและเรือพนมพระทางน้ำ ซึ่งวัดที่อยู่ติดแม่น้ำลำคลอง ก็จะใช้เป็นเรือพนมพระทางน้ำ โดยนำมาประดับตกแต่งลวดลายอย่างประณีตงดงามตามจินตนาการ บวกกับความคิดสร้างสรรค์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นรูปสัตว์ในวรรณคดี
เช่น พญานาค หงส์ พญาครุฑ หนุมาน เป็นต้น นัยว่าเป็นราชพาหนะของพระพุทธเจ้า จากนั้นก็นำบุษบกขึ้นประดับ เรียกว่า “พนมพระ” ก่อนนำพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกเพื่อทำการสรงน้ำ และพร้อมที่จะร่วมขบวนแห่ในวันแรม 1 ค่า เดือน 11 (หลังวันออกพรรษา 1 วัน) ซึ่งเรือพนมพระเป็นเรือล้อเลื่อน
นอกจากนี้ ยังมีการประดับประดาตกแต่งพุ่มผ้าป่าซึ่งมีที่เดียวในประเทศไทย เรียกว่า พุ่มผ้าป่าหน้าบ้าน ขึ้นทั่วทุกมุมเมืองในเขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ทั้งหน่วยงานราชการ องค์กรต่าง ๆ สถาบันการศึกษา อาคารบ้านเรือน โดยการจัดจำลองฉากเป็นภาพพุทธประวัติ หรือพุทธชาดก ประดับประดาตกแต่งด้วยวัสดุต่าง ๆ ประกอบแสง สี เสียงและที่ขาดไม่ได้คือ
ต้องมีต้นไม้สาหรับแขวนเครื่องอัฏฐะบริขาร (พุ่มผ้าป่า) และ ในรุ่งเช้าของวันแรม 1 ค่า เดือน 11 พระสงฆ์จากวัดต่าง ๆ จะทยอยกันออกมาทำการชักพุ่มผ้าป่าตามหมายเลขพุ่มที่ได้รับ นับเป็นประเพณีสำคัญของชาว จ.สุราษฎร์ธานีที่ยังคงสืบทอดต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบันและกลายเป็นเทศกาลและประเพณีที่มีชื่อเสียงของ จ.สุราษฎร์ธานี อีกด้วย