อีกสมัยก็ “สายเกินแก้” – เปลว สีเงิน

www.plewseengern.com

เปลว สีเงิน

มีเวลา “ให้ซื้อ-ให้แจก” กันแค่สัปดาห์นี้สัปดาห์เดียวเท่านั้นนะ
ถึง ๒๔ กันยา.๖๕
กกต.ก็จะเป่านกหวีด “หมดเวลา” เข้าสู่โหมดก่อนเลือกตั้งใหญ่ ๖ เดือน ห้ามหาเสียงแจกกล้วย “ตกเขียว” ล่วงหน้า

สัญญิง-สิญญา “ว่าจะให้” อะไรไม่ได้ทั้งนั้น
“ผิดกฎหมาย” ถึงขั้น “ยุบพรรค”!

พูดถึงพรรค ตั้งใหม่เยอะ แถมชื่อเหมือนๆ กันจนผมจำผิด-จำถูก
สมัยที่แล้ว จะพูดถึงพรรคกำนันสุเทพขึ้นมาที ต้องเปิดทำเนียบพรรคดูชื่อที เพราะจำยาก
“พรรครวมพลังประชาชาติไทย”

แต่ตอนหลัง “ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์” มาเป็นหัวหน้าพรรค ตัดเหลือแค่ “รวมพลัง” สองคำ พญานาคราชเป็นโลโก้
ค่อยเรียกง่าย-จำง่าย และขูด “ขอหวย” ง่ายหน่อย!

ตอนนี้ เอาอีกแล้ว ชื่อพรรคมาในธีมเดียวกันให้ปวดหัวจำอีกหลายพรรค มีอะไรล่ะ ก็เช่น….
ของนางพญาสุดารัตน์ “ไทยสร้างไทย”

ของดร.สมคิด “สร้างอนาคตไทย”
ของคุณพีระพันธ์ “รวมไทยสร้างชาติ”

และอีกเยอะแยะ นึกไม่ทันตอนนี้ ที่ยาวและใหญ่แต่กลับจำง่าย มีอยู่พรรคหนึ่ง

คือเพื่อไทย ไม่เปลี่ยนชื่อพรรค แต่รีแบรนดิ้งสะอิ้งสร้อยเป็น “ครอบครัวใหญ่ ของคนหัวใจเดียวกัน…เพื่อไทย”

๒ นางพญา “ตัวแม่-ตัวลูก” อ้อ-อุ๊งอิ๊ง ขี่คอคชสาร นำทัพเอง!

ดูเขาโชว์ตัว หาเสียง แสดงวิสัยทัศน์กันแล้ว ก็สนุกนะ แต่ละพรรค มีนโยบายเป็น “สินค้าขาย” หลายหลาก

ของนางพญาสุดารัตน์ หวือหวา-หวาดเสียว แจกบำนาญประชาชน คนละ ๓ พัน/เดือน
แบบนี้ หลัง ๒๔ กันยา.จะเข้าข่ายหาเสียงสัญญิง-สัญญา “ว่าจะให้ “ระวังนะ “พี่ศรี” เอาแน่!

ของดร.สมคิด ทั้ง “อุตตม-สนธิรัตน์” เก่งเศรษฐกิจ ชูดร.สมคิดเป็น “จุดขาย” ในตำแหน่งว่าที่นายกฯ
ผมช่วยลุ้นอีกคน ชื่อสมคิด เป็นนายกฯ ทำให้คนไทยสมคิดได้ด้วยละก็ จากปี ๖๖ ยกเก้าอี้ให้นั่งยาวไปถึง ปี ๗๔ โน่นเลย

ส่วน ๒ นางพญาแม่-ลูก เท่าที่ฟังมาตลอด เป้าหมายนโยบายที่หาเสียง นางพญาตัวลูก ชูประเด็น “พาพ่อกลับบ้าน”

นี่ถ้านางพญาตัวแม่ขึ้นเวที ก็คงชูประเด็น “พาอดีตสามีกลับบ้าน” นี่คือภารกิจเพื่อชาติ-ประชาชน ของพรรคเพื่อไทย

ส่วน “รวมไทยสร้างชาติ” ดูเหมือนจะเป็นพรรคน้องใหม่ล่าสุดของพรรษานี้
คุณพีระพันธุ์ “หัวหน้าหน้าพรรค” จะขายอะไร ได้ยินในท้องตลาดเขาว่า “ตั้งขึ้นมารองรับนายกฯ ประยุุทธ์”!

ผมก็ยังไม่เคยได้ยินคุณพีระพันธุ์ขึ้นเวทีบอกว่าตั้งพรรคขึ้นมาด้วยเป้าหมายใด และสินค้าที่จะขายของพรรคคืออะไร

เพิ่งวานซืน ดูให้สัมภาษณ์ “คุณอัญชะลี ไพรีรักษ์” ในรายการ Top Talk ค่อยฟ้าแจ้งจางปาง

สะดุดหูตรงที่คุณพีระพันธ์ “อดีตตุลาการ” มองปัญหาที่ต้องแก้ไม่เหมือนใคร ทั้งยังไม่เคยได้ยินพรรคไหนทั้งในอดีตและปัจจุบัน มองในมุมนี้มาก่อน

วานซืนนี้แหละ ที่คุณพีระพันธุ์หยิบปัญหาที่เป็น ขึ้นมาพูดให้ประชาชนเห็น เป็น “นามธรรม” แต่มองข้ามกันมาตลอด!
ลองอ่านแล้วใคร่ครวญตามกันนะครับ ผมจะแกะบางตอนมาให้เห็นทางสว่าง

@ ความฝันคุณพีระพันธ์ คืออะไร?

-ผมอยากเห็นบ้านเมืองของเรามีความเจริญก้าวหน้า ผมไม่คิดว่าทำไม่ได้

ผมชอบศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสิงคโปร์ ช่วงเวลา ๖๓ ปี เขาสามารถ จากประเทศ…ซึ่งในอดีตเนี่ย ต้องขอโทษ ในความเป็นจริงของสังคม ถือว่า สื่อมวลชนสมัยก่อนวิจารณ์ว่าเป็น “สลัมทั้งประเทศ”

“ลี กวน ยู” ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกปี ๒๕๐๒ วันนั้น ประเทศเราถึงไหนแล้ว?

เขายังต้องส่งคนมาดูงานบ้านเราหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องความเป็นอยู่ ที่อาศัยของคน
แต่ ๖๓ ปี เขาไปถึงไหนแล้ว แล้วเราอยู่ตรงไหน?

สิ่งหนึ่ง ผมอยากจะเรียนครับว่า “ลี กวน ยู” เป็นนักกฎหมาย เป็นทนายความ เขามองปัญหาประเทศเขาเป็นระบบ

เขามองว่า…เขาต้องการเห็น ว่าประเทศเขาเป็นอย่างที่ผมพูด แต่เขาวางแผนเป็นระบบว่า
“เริ่มต้นของปัญหาวันนี้คืออะไร ต่อไป จะเป็นอะไร-ยังไง?”

แต่อันแรกเลยที่เขาทำ ก็คือ “แก้กฎหมาย” หมดเลย!
ผมคิดว่าเป็นแนวทางที่ถูก

กฎหมายมันก็เหมือนกติกาของบ้านเมือง เราอยู่ที่ไหน เราก็ต้องมีกฏกติกา เรามีความคิดดี อยากเห็นสังคมเป็นอย่างนั้น-อย่างนี้ เราอยากเห็นสังคมมีภาวะเศรษฐกิจที่ดี อยากเห็นคนทำมาค้าขายคล่อง

แต่………
“กฎหมายเป็นอุปสรรคหมด”!

หลายอย่างไม่มีกฎหมายให้ทำได้ หลายอย่างทำอะไร ก็ต้องไปรอใบอนุญาต หลายอย่าง…ที่วันนี้ เจริญเติบโตเป็น SME เป็นทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัล กฎหมายทำทันมั้ยครับ? ไม่ทัน……

ไม่ทันแล้วไปไหนล่ะครับ ต่อให้มีทีมเศรษฐกิจ ๑๐ ทีมก็ทำไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่เปิดช่อง เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่ “ลี กวน ยู” ทำวันนั้น

สิ่งแรกคือแก้ไข-ปรับปรุงกฎหมายที่เป็นปัญหาอุปสรรคของการพัฒนาประเทศและการทำเศรษฐกิจทั้งหมดเลย

นี่คือ “จุดเริ่มต้น” ความเจริญประเทศ เขา “ปลดล็อก” หมดเลย ผมคิดว่า “นี่คือ….วิธีการที่ถูกต้อง”

อันที่สอง ก็คือ ในสังคมที่รู้สึกว่าไม่เท่าเทียมกัน มีความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เป็นธรรมของสังคม

นี่อีกเหมือนกัน สามารถแก้ไข ปรับปรุงสังคมได้ โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ทำให้เกิดการเจือจางกันได้

เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกันได้ ความเหลื่อมล้ำหายไปได้ ก็เหมือนกัน (สิงคโปร์) เขาก็ทำนะครับ

จากตรงนั้นแหละ ที่ทำให้สิงคโปร์ถึงได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว อยู่ดีๆ เขากลายเป็น “ศูนย์กลางการเงิน” ได้ไงครับ ผมถามว่านักเศรษฐกิจศาสตร์มานั่งคิด มันเกิดได้มั้ย?

ที่เขาเป็นมาได้เพราะ “ลี กวน ยู” เขาแก้กฎหมาย ทำกฎหมายใหม่หมดเลย
ที่ทำได้เพราะอะไร?

เพราะเขาเป็นนักกฎหมาย เขารู้ว่าต้องทำอะไร แบบไหน นึกออกมั้ยครับ

ประเทศเราเนี่ย มันไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ หากแต่ว่า มันไม่มีใครทำ และเวลาทำของเรา เวลาพูดการเมือง เรามองการเมืองเป็นการเมือง

แต่ “ลี กวน ยู” เขาไม่ได้มองการเมืองเป็นการเมือง เขามองการเมือง “เป็นภารกิจ” เป็น “งานที่ต้องทำ”

ประการต่อไปที่ผมเห็นข้อแตกต่าง ก็คือว่า ประเทศเราส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ “ต่างคนต่างอยู่”

ต่างคน-ต่างมีนโยบาย, ต่างคน-ต่างมีแนวทาง เราก็มักจะบอกว่า…อันนี้ เรื่องของตรงนี้เค้า-ตรงโน้นเค้า
ของ “ลี กวน ยู” เขาไม่ใช่ ….

ทุกอัน คือหน่วยงานเดียว แต่แบ่งหน้าที่กันทำ!

เพราะฉะนั้น ต้อง centralize ในการรวมศูนย์กลางในการกำหนดทิศทางนโยบาย

สมมติว่า เราจะพัฒนาปรับปรุง เรื่องจะทำอย่างไร จะให้ที่ดินของประเทศไทยเนี่ยนะครับ ที่มากมายใหญ่โตก่ายกองกว่าสิงคโปร์

แต่ทำไมเรายังมีปัญหาที่ทำกิน ทำไมเรามีปัญหาที่อยู่อาศัย?
เพราะอะไรครับ กฎหมายป่าไม้ กฎหมายสิ่งแวดล้อม ตีกันไปหมด กฎหมายที่ดินอีก

ทำไมเราไม่สามารถรวมศูนย์ แล้วแก้ปัญหา นโยบายรัฐบาลอย่างนี้ออกมาปั๊บ ……..

ทุกส่วนราชการต้องถือกฎหมายเดียวกัน ถือคำสั่งเดียวกัน นโยบายเดียวกัน เพื่อที่จะแก้ไขปรับปรุงปัญหาทั้งหมดได้

ไม่ใช่ว่ากระทรวงนี้ทำเสร็จ นึกว่าปลดล็อกแล้ว ไปที่ไหนได้…อีกกระทรวงบอก…ฉันไม่เกี่ยว ต้องไปที่ใหม่อีก!

ผมถึงบอกว่า บ้านเมืองเราเนี่ย มองการเมืองเป็นการเมือง ผมไม่ได้มองการเมืองเป็นการเมือง ผมมองการเมืองคือ “สิ่งที่ต้องทำงาน” แก้ไข

“ผมอยากเรียนคุณอัญชะลีว่า ในระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยมี ๓ อย่าง คือ บริหาร, ตุลาการ, นิติบัญญัติ เขาแบ่งภารกิจหน้าที่แล้ว

“บริหาร” ก็ดูแลบ้านเมืองไป
“ตุลาการ” ก็พิจารณาพิพากษาคดีไป
“นิติบัญญัติ” ก็ต้องดูแลกฎหมาย ปรับปรุงกฎหมาย ไปทำกฎหมายให้มันดีกับบ้านเมืองซีครับ

แล้ว “นิติบัญญัติ” คือใคร?
คือ ส.ส…..แต่ส.ส.เรา เคยเห็นผลงานเรื่องกฎหมายกี่คนมีมั้ย… สื่อมวลชน เคยสนใจเรื่องกฎหมายมั้ย?

เพราะฉะนั้น “นิติบัญญัติ” เราจึงไม่ได้ฟังก์ชัน ไม่ได้ทำหน้าที่ นิติบัญญัติของเราเป็นการเมืองครับ ไม่ใช่นิติบัญญัติ”
นี่คือ ปัญหาของประเทศไทยวันนี้…..

เมื่อเป็นอย่างนี้ พรรคการเมืองก็เลยกลายเป็นพรรคการเมืองจริงๆ ไม่ใช่พรรคการเมืองที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติดูแลสิ่งเหล่านี้ให้บ้านเมือง

อย่างในสหรัฐอเมริกา คนที่จะมาเป็นนักการเมืองต้องเรียนกฏหมาย ตอนที่ผมไปเรียนปริญญาโทเนี่ย บางคนอายุมากกว่าเราตั้งเยอะ ถามว่ามาเรียนทำไม เขาบอกว่า “จะไปเป็นนักการเมือง”

“อ้าว…แล้วทำไมต้องมาเรียนกฎหมาย?” เขาบอก “ถ้าไม่เรียนกฎหมาย คนไม่เลือก”!
เพราะอะไร เพราะการเป็นผู้แทนของอเมริกา เป็นระดับผู้แทน

“ส.ส.กับ วุฒิ” เขาเรียก Senator กับ Representative
แต่สองคนเนี่ย ของเราเรียก “สส.-สว.” ใช่มั้ยครับ

สองกลุ่มเนี่ย อเมริกาเขาเรียก legislator “ผู้บัญญัติกฎหมาย” เขาบอก…ถ้าไม่จบกฎหมาย คนไม่เลือกหรอก เพราะว่า “งานคือการออกกฎหมาย แต่ไม่รู้กฎหมาย ใครจะเลือกฉัน”

แต่ของเราเนี่ย คนละแบบ เห็นมั้ย…

เพราะเรามอง “นักการเมืองคือการเมือง” บ้านเมืองถึงเป็นอย่างนี้

แล้วนี่คือ แนวทางที่ผมคิดว่า “การสร้างพรรครวมไทยสร้างชาติขึ้นมาเป็นพรรคการเมือง เพื่อทำงานให้บ้านเมือง ไม่ใช่มาเล่นการเมือง”

“จะได้แค่ไหนผมไม่ทราบ แต่อย่างน้อยผมลงมือทำ”
……………………………

น่าสนใจมั้ยครับ?
กับเนื้อหาในมิติคิด-มิติทำพรรคการเมือง ของหัวหน้าพรรค “รวมไทยสร้างชาติ” ที่ชื่อ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค”
ผู้ได้ชื่อว่า “ใจเป็นด้าม-วาจาเป็นขวาน”

ถ้าไม่ “ผ่าซาก” การเมือง ที่เป็นอุปสรรคการพัฒนาประเทศเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้
ปล่อยทิ้งอีกสมัย ก็จะ… “สายเกินแก้”!

เปลว สีเงิน
๑๙ กันยายน ๒๕๖๕

 

Written By
More from plew
“วัว-ควายต้องต้อน-คนต้องนำ”
“เรามีเวลาซ้อมใหญ่ มา ๒ เดือนแล้ว ขณะนี้ ทุกคนจะต้องทำจริง ไม่มีการซ้อมอีกแล้ว” -ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ๑๕ มีค.๖๓
Read More
0 replies on “อีกสมัยก็ “สายเกินแก้” – เปลว สีเงิน”