หุบเหวที่ก้าวไกล – ผักกาดหอม

 

ผักกาดหอม

เห็นพรรคก้าวไกลง่วนอยู่กับการตรวจสอบงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ถามว่าทำได้หรือไม่

คำตอบคือได้

งบประมาณทุกหน่วยงานที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี รัฐสภามีอำนาจในการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ

รัฐสภาชุดก่อนๆ ทำไมไม่ตรวจสอบ

คำตอบคือ มีการตรวจสอบอย่างให้เกียรติ

ต้องยอมรับความจริงว่า พรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า  มีปัญหาเรื่องท่าทีของสถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ก่อกำเนิดพรรคอนาคตใหม่แล้ว

ไม่ได้พุ่งเป้าที่งบประมาณเพียงอย่างเดียว แต่ประกาศเจตนารมณ์ว่า ต้องการปฏิรูปสถาบัน

ฉะนั้นปัญหาไม่ได้เกิดเพราะการตรวจสอบงบประมาณของสถาบัน แต่เป็นเรื่องท่าทีของพรรคก้าวไกล  ภายใต้การสนับสนุนและชี้นำจากคณะก้าวหน้า

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกครับที่มีปัญหาด้านงบประมาณระหว่างนักการเมืองกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีความพยายามลดบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีมาเป็นเครื่องมือ

เช่นการ ตัดงบประมาณในการเสด็จฯ เพราะ ในหลวง  ร.๙ เป็นที่รักเคารพของประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ

รวมถึงการตัดงบในการเสด็จพระราชดำเนินไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจในต่างประเทศอีกด้วย

กลับมาที่พรรคก้าวไกล สื่อสารกับสาธารณะผ่านเพจ พรรคก้าวไกล – Move Forward Party ตั้งหัวข้อว่า

“การตรวจสอบงบประมาณ รวมทั้งงบสถาบันกษัตริย์  คือหน้าที่ของผู้แทนราษฎร ถ้าตรวจสอบไม่ได้ เราจะมีสภาไปทำไม?”

การตั้งหัวข้อลักษณะนี้ ก็มีปัญหาเรื่องท่าทีแล้ว

สำหรับเนื้อในก็ตามนี้…

—————-

….พรรคก้าวไกลขอยืนยันว่า การตรวจสอบงบสถาบันกษัตริย์เป็นหน้าที่ของผู้แทนราษฎร และ ส.ส. พรรคก้าวไกลก็จะยังคงทำหน้าที่ในการตรวจสอบตามปกติ เพื่อให้คุ้มค่าภาษีที่ประชาชนจ่ายมาให้พวกเราทำงาน แม้จะมีความพยายามโยงว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยที่ไม่มีแจกแจงรายละเอียดให้ชัดเจนว่าผิดอย่างไร

ก่อนหน้านี้ พรรคก้าวไกลได้รับหนังสือจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรียกไปชี้แจงกรณีจากการที่สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ทำหน้าที่อภิปรายตรวจสอบงบประมาณและเผยแพร่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณของหน่วยราชการในพระองค์ ระหว่างการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ อาจขัดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา ๙๒(๒) เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่

-ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า  หนังสือที่ กกต. ส่งมา ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ข้อความใดของ  ส.ส. และพรรคก้าวไกล ที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุข มีแต่ความคลุมเครือ ทั้งที่ข้อหาร้ายแรงถึงขั้นยุบพรรคการเมือง

-ขณะที่การอภิปรายงบประมาณก็เป็นการทำหน้าที่ตามปกติที่ผู้แทนราษฎรต้องปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง และไม่ใช่เหตุที่ทำให้ถูกยุบพรรคได้

-“การทำหน้าที่ของผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล มีแต่ทำให้เกิดผลประโยชน์กับประชาชนในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุด และยังทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นที่เคารพ ดำรงอยู่อย่างสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย มีพระราชสถานะดำรงไว้ดังเช่นนานาอารยประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ” ชัยธวัชกล่าว

-ด้านเบญจา แสงจันทร์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ กล่าวว่าการอภิปรายทั้งหมดเป็นการอภิปรายตามชื่อโครงการและหน่วยงานตามเอกสารรับงบประมาณทั้งสิ้น เมื่อ ส.ส. เห็นงบประมาณไม่เหมาะสม ก็มีหน้าที่ตัด จัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งจากการลงพื้นที่ ประชาชนก็สนับสนุนการตัดลดงบส่วนราชการในพระองค์ และให้กำลังใจพรรคก้าวไกลให้ทำงานต่อไป

 “ในฐานะ ส.ส. ยืนยันว่า จะยังคงทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และตรวจสอบงบประมาณต่อไป เราจะต่อสู้ ยืนหยัด ยืนตรง ประจันหน้าต่อผู้มีอำนาจ เพื่อเรียกศรัทธาให้กับสภาผู้แทนราษฎร เพื่อที่จะทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน” เบญจา กล่าว

-ขณะที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุว่า การที่ ส.ส. ทำหน้าที่ของตัวเองแล้วถูกฟ้องร้องข้อหาถึงยุบพรรคเช่นนี้ สุดท้ายก็จะตัดงบประมาณไม่ได้เลย ก็ไม่รู้ว่าจะมีสภาผู้แทนราษฎรไว้ทำไม

-พรรคก้าวไกลจะพิทักษ์ผลประโยชน์ให้พี่น้องประชาชนอย่างถึงที่สุด.

—————–

ครับ…ถ้าพรรคก้าวไกลยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย ทุกองค์กรต้องมีการตรวจสอบ พรรคก้าวไกลต้องยอมรับที่จะถูกตรวจสอบด้วย

แต่ประเด็นคือการอภิปรายในสภาของพรรคก้าวไกลมีปัญหาใช่หรือไม่

งบประมาณซึ่งเกี่ยวข้องกับหน่วยราชการในพระองค์อันมีอยู่ ๓ หน่วยงาน คือ

สำนักพระราชวัง

สำนักองคมนตรี

หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

ได้รับงบประมาณเพียง ๘,๗๐๐ ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนประมาณ ๒๐๐ ล้าน

ส่วนใหญ่ ๙๐% เป็นงบค่าจ้างเงินเดือน

แต่ ส.ส.ก้าวไกลอภิปรายในสภาว่า งบประมาณเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ตามร่างที่เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์สำนักงบประมาณ หน่วยงานต่างๆ ตั้งงบใช้จ่ายเกี่ยวกับสถาบันที่พบรวมประมาณ ๓๕,๗๖๐  ล้านบาท

เป็นการนำงบประมาณของโครงการหลวง โครงการพระราชดำริ งบทหาร ตำรวจ มาปนไว้ด้วย

ฉะนั้นเจตนาคืออะไร?

พรรคก้าวไกลจะรู้เห็นหรือไม่ ก็ไม่ทราบได้ แต่ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล รวมทั้งคณะก้าวหน้าไปไกลถึงขนาดบอกว่า ถ้า ๔ พันโครงการดี ผ่านมา ๗๐ ปีทำไมเป็นแค่ประเทศด้อยพัฒนา

รวมไปถึงให้ตรวจสอบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ด้วย

การให้ข้อมูลผิดๆ แล้วไปจับแพะชนแกะราวกับว่าพระมหากษัตริย์มีสถานะเป็นผู้บริหารประเทศ จะต้องรับผิดชอบ ที่ประเทศพัฒนาไปไม่ถึงไหน ถือว่าอันตราย

จะเข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่ ต้องตรวจ

นี่เป็นตัวอย่างจากการให้ข้อมูลอย่างมีอคติเหมารวมว่า ทุกอย่างที่เป็นของพระมหากษัตริย์ล้วนมาจากภาษีประชาชน

ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อข้องใจ ว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์สามารถตรวจสอบได้มั้ย? โดยอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นผู้ให้คำตอบดังนี้ครับ

Q : ถามว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์สามารถตรวจสอบได้มั้ย?

A : ได้ครับ เพราะเป็นทรัพย์สินของรัฐประเภทหนึ่งตามที่ได้อธิบายไปแล้ว จึงสามารถตรวจสอบได้ ตามกฎหมายครับ ดูได้จากเว็บสำนักพระราชวัง เรื่อง สิทธิของประชาชน หรือหากใครคิดว่าสงสัยเรื่องความโปร่งใสเรื่องใดที่เกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็ทำเรื่องร้องเรียนได้ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้เลยครับ

แต่ถ้าถามว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีหน้าที่ต้องเปิดเผยการใช้เงินมั้ย?

ต้องตอบว่าไม่มีหน้าที่ แต่ถึงไม่มีหน้าที่ต้องเปิดเผย  แต่ในทางปฏิบัติก็มีการเปิดเผยอยู่เพื่อทำเป็นบัญชี แต่ไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศทั่วไป แต่ถ้าใครอยากรู้เรื่องไหนก็ไปขอดูได้ แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามระเบียบ อย่าลืมว่า ทรัพย์สินส่วนนี้ แม้ยกให้แผ่นดินก็จริง แต่ถือว่าเดิมเป็นทรัพย์สินส่วนที่ได้มาจากราชวงศ์จักรี ไม่ได้เกิดจากการเก็บภาษีจากประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยและไม่ใช่จากงบประมาณแผ่นดินนะครับ

Q : ทรัพย์สินส่วนพระองค์สามารถตรวจสอบได้มั้ย?

A : ไม่ได้ครับ ก็เพราะมันเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ชาติ  (ประกอบด้วย ๓ สถาบัน) คนไทยทุกคนต้องจ่ายภาษีให้สถาบันฯ ชาติทุกคน ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม แล้วทำไมแค่เงินงบประมาณที่รัฐบาลให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์เพียงปีละประมาณ ๒,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายทุกอย่างตามข้างต้น กลับมีคนจ้องโจมตี ก็เพราะคนที่จ้องโจมตีมันไม่ต้องการให้มีสถาบันฯ อยู่แล้ว ทุกอย่างจึงล้วนผิดหมด

เงินส่วนพระองค์จริงๆ ปีละประมาณแค่ ๑๐๐ ล้าน ซึ่งพระองค์ก็นำไปช่วยเหลือประชาชนอีกต่อหนึ่ง กลับโดนพวกไม่จงรักภักดีสถาบันฯ จ้องโจมตี แต่ผู้บริหาร  ปตท. มีเงินเดือนเดือนละ ๑๓ ล้านบาทยังไม่รวมโบนัส  กลับไม่มีใครสนใจ ทั้งๆ ที่ ปตท.ก็เป็นของประชาชนแท้ๆ  แต่ถูกนักการเมืองนำไปแปรรูปฯ

ฉะนั้นการที่ FOBES นำเสนอว่า ในหลวงเรารวยที่สุดในโลกจึงไม่เป็นความจริง แต่ถ้านำเสนอว่า ในหลวงคือกษัตริย์ที่มีจำนวนประชาชนร่วมถวายทรัพย์แด่พระองค์ เพื่อให้พระองค์นำไปพัฒนาช่วยเหลือความเป็นอยู่ให้ประชาชนดีขึ้นมากที่สุดในโลก อย่างนี้ถึงจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องที่สุดครับ


ตบท้าย ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็น สาธารณรัฐ นั้น อย่าคิดว่าไม่มี

ขบวนการคิดและทำเรื่องนี้มันมีอยู่

สดๆ ร้อนๆ จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลี้ภัยอยู่ฝรั่งเศส สร้างเครือข่ายดำเนินการเรื่องนี้อยู่

โพสต์ในเฟซบุ๊กล่าสุด ในการสดุดี วัฒน์ วรรลยางกูร “จรัล” เผยว่า

“ความตายของวัฒน์นักต่อสู้นักปฏิวัติ มีผลสะเทือนต่อความคิดจิตใจของบรรดาผู้ร่วมขบวนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตย และสาธารณรัฐ  จักมีคนเดินตามอุดมการณ์ไม่ขาดสาย ความตายของวัฒน์ จึงหนักดังขุนเขา”

ใครอยู่ร่วมขบวนการนี้บ้างยกมือขึ้น

 

ที่มา:https://www.thaipost.net/columnist-people/114084/

Written By
More from pp
จุดยืนการเมือง ‘อนุทิน’ ไม่แย่งชิงอำนาจ อยู่อย่างสงบ มุ่งทำงานใหญ่ ภารกิจเพื่อชาวโลก
ท่ามกลางความอลเวงเรื่องปมนายกฯ 8 ที่ล่าสุด “บิ๊กตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ จนส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง
Read More
0 replies on “หุบเหวที่ก้าวไกล – ผักกาดหอม”