ข่าวสารในสนามรบ-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ไปไวมาก…

            คงต้องรบกันทุกวัน สำหรับสงครามข่าวสาร

เรื่องเก่าจบ เรื่องใหม่มา เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ หาที่สิ้นสุดไม่ได้

            เราอยู่ในวิกฤติโรคระบาด แต่ต้องคอยทำสงครามข่าวสารไปด้วย หลายสิ่งหลายอย่างจึงยากขึ้นเป็นเท่าตัว

            ข่าวโรคระบาดควรจะอ้างอิงข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์  ต้องว่ากันด้วยงานวิจัย แต่กลับพบว่าข่าวสารวันนี้เต็มไปด้วย ข่าวปลอม ข่าวปล่อย เพื่อหวังผลทางการเมือง แทบทั้งสิ้น

            และดูเหมือนเป็นข้อมูลหลักที่คนจำนวนมากพากันเชื่อว่านั่นคือข้อเท็จจริง

            อันที่จริงน่าจะเป็นสูตรสำเร็จ เกิดเหตุการณ์เกี่ยวกับอะไร ให้ฟังผู้เชี่ยวชาญด้านนั้น

            แต่วันนี้นักการเมือง นักเคลื่อนไหว กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในทุกเรื่อง ไม่เว้นกระทั่งทางการแพทย์

            เรื่องวัคซีน หากไม่อ้างอิงงานวิจัย กลับใช้แต่ความรู้สึกมาตัดสิน ก็ไม่ต่างอะไรกับการจมปลักอยู่กับข่าวปลอม ได้ความรู้แบบปลอมๆ

            แต่การตัดสินใจบนข้อมูลปลอม ส่งผลเสียมากมายมหาศาล

            เพราะจะกลายเป็นสังคมที่ไม่ได้อยู่กับข้อเท็จจริงเลย

            ฉะนั้น เรื่องโรคระบาด ควรต้องฟัง หมอ นักวิจัย เป็นหลัก

            ส่วนนักการเมือง ฟังได้แต่ควรเอาล้านหาร

            หลายวันมานี้ติดตามเฟซบุ๊ก ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา  นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในนั้นเต็มไปด้วยความรู้ครับ

            บางคนอ่านแล้วไม่ชอบ เพราะไม่ตรงกับจริต

            บางคนอ่านแล้ว เอาไปขยายความต่อเพราะข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง

            ก็สุดแท้แต่ จะไขว่คว้ากัน

            แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ มันก็คือวิทยาศาสตร์ หากมีการบิดเบือนเมื่อไหร่ นั่นหมายความว่ามีเจตนาร้าย เป็นที่ตั้ง  

            ดร.อนันต์ พูดถึงวัคซีนหลายตัว ในหลายกรณี

            อย่างภูมิคุ้มกันจาก Sinovac ไม่น่าเหลือพอที่จะยับยั้งเดลตา ซึ่งก็เป็นความจริง แต่ถามว่าภูมิยังเหลือหรือไม่  ก็ยังเหลือ เพียงแต่ยับยั้งเดลตาไม่ได้

            นั่นเป็นที่มาของการฉีดสลับชนิดวัคซีน 

            ใช้วัคซีน AZ เป็นตัว Boost ต่อจาก Sinovac

            โจทย์คือ ตอนนี้เรามีสายพันธุ์เดลตาบุกหนัก แต่วัคซีนที่มีคือ Sinovac, Sinopharm กับ AZ เราจะทำอย่างไรที่จะบริหารจัดการวัคซีน ๒ ชนิดนี้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด

            ส่วน mRNA vaccine ยังต้องรอ ๒-๓ เดือน

            Sinovac เป็นวัคซีนที่ทำจากไวรัสโดยตรง ถึงแม้จะกระตุ้นภูมิไม่ดี แต่ฉีดเข้าสู่ร่างกายแล้ว ร่างกายมองเห็นสิ่งแปลกปลอมนั้นได้

            ข้อดีคือ สามารถฉีดเข็มสองกระตุ้นได้ไว

            แต่ว่าการใช้ Sinovac เองเป็นตัวกระตุ้นจะได้ภูมิที่ไม่มาก

            จึงจำเป็นต้องใช้เข็มที่ ๒ ควรเป็นแบบอื่นซึ่งคือ AZ ที่เรามีอยู่

            ถ้า Sinovac เข็มแรก + AZ เข็มสอง เราจะมีภูมิได้ภายใน ๕-๖ สัปดาห์

            ส่วนกรณีของ AZ มีข้อเสียตรงที่ว่าเข็มสองต้องรอนานไปกว่า ๘-๑๒ สัปดาห์ ทำให้มีความเสี่ยงต่อเดลตา

            เอาไปเอามา กลายเป็นว่า คนฉีด Sinovac เข็มแรกไปแล้วและกระตุ้นด้วย AZ อาจโชคดีกว่า คนฉีด AZ  เข็มแรก แล้วรอเข็ม ๒ อีก ๓ เดือน

            เพราะกระตุ้นภูมิได้เร็วกว่า

            สรุปง่ายๆ ในภาวะขาดแคลนวัคซีนเช่นนี้ Sinovac  ยังจำเป็นอย่างยิ่ง

            ฉะนั้นอย่าคิดว่า Sinovac คือน้ำเปล่าฉีดแล้วไม่มีประโยชน์อะไร

            สำหรับ AZ มีเรื่องราวดรามามาโดยตลอด

            ล่าสุด มีการเปิดจดหมายลับ ไทยสั่ง AZ แค่เดือนละ  ๓ ล้านโดส

            จากคำอธิบายของคนที่อยู่กับงานมาตั้งแต่ต้นคือ คุณหมอโอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เรื่องนี้ไม่มีอะไรในกอไผ่

            ๓ ล้านโดสที่ว่าไม่ใช่คำสั่งซื้อ แต่เป็นการอ้างอิง ศักยภาพในการฉีดวัคซีนต่อเดือนของไทย

            และข้อเท็จจริงก็ปรากฏให้เห็นแล้วว่า AZ ได้ส่งมอบวัคซีนในปริมาณเท่าไหร่

            ๒๘ กุมภาพันธ์ ส่งมอบ ๑๑๗,๓๐๐ โดส

            ๒๘ พฤษภาคม ส่งมอบ ๒๔๒,๑๐๐ โดส

            ๔ มิถุนายน ส่งมอบ ๑,๗๘๗,๑๐๐ โดส

            ๑๖ มิถุนายน ส่งมอบ ๖๑๐,๐๐๐ โดส

            ๑๘ มิถุนายน ส่งมอบ ๙๗๐,๐๐๐ โดส

            ๒๓ มิถุนายน ส่งมอบ ๕๙๓,๓๐๐ โดส

            ๒๕ มิถุนายน ส่งมอบ ๓๒๓,๖๐๐ โดส

            ๓๐ มิถุนายน ส่งมอบ ๘๔๖,๐๐๐ โดส

            ๓ กรกฎาคม ส่งมอบ ๕๙๐,๐๐๐ โดส

            ๙ กรกฎาคม ส่งมอบ ๕๕๕,๔๐๐ โดส

            ๑๒ กรกฎาคม ส่งมอบ ๑,๐๕๓,๐๐๐ โดส

            ๑๖ กรกฎาคม ส่งมอบ ๕๐๕,๗๐๐ โดส

            รวมทั้งสิ้น ๘,๑๙๓,๕๐๐ โดส

            ๒ ล็อตแรกคือนำเข้า ที่เหลือส่งจากโรงงาน สยามไบโอไซเอนซ์

            ฉะนั้นเดือนกว่าที่ผ่านมา มันมากกว่า ๓ ล้านโดสเป็นเท่าตัว จึงไม่น่าจะเป็นประเด็นหยิบยกมาให้เสียเวลาชี้แจง

            อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักคือ วัคซีน ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในการต่อสู้กับโควิด

            เพราะไวรัสพัฒนาตัวเองไปไกลกว่าวัคซีน

            เฟซบุ๊กของ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา เล่าเรื่องนี้เอาไว้เช่นกัน

—————-

            สามีภรรยาชาวอินเดียคู่หนึ่งเดินทางไปงานแต่งงานที่เทกซัส สหรัฐอเมริกา ก่อนเดินทางเข้าประเทศมีการตรวจหาเชื้อแล้วได้ผลลบ ก่อนเดินทางมาทั้งคู่ได้รับวัคซีนเชื้อตาย COVAXIN เข็มสองครบมาแล้ว ๑๐ วัน ในงานแต่งงานมีแขกมาร่วมงาน ๙๒ คน จัดงานกลางแจ้ง โดยผู้มาร่วมงานทุกคนต้องได้รับวัคซีนครบโดสกันหมด เย็นวันนั้นภรรยาเริ่มบ่นปวดเมื่อยตัวแต่คิดว่าอาจจะเป็นเพราะเหนื่อยจาก jet lag หลังจากนั้น ๒-๓ วันทั้งสามีและภรรยาเริ่มมีอาการไข้ ไอ จนวันที่ ๔ หลังจากงานแต่งงาน ทั้งคู่ตรวจพบว่าติดโควิด สามีอาการหนักขึ้นจนต้องส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาล รักษาตัวอยู่ประมาณ ๑ เดือนก็เสียชีวิต ส่วนภรรยาอาการป่วยหนักเหมือนกันแต่ไม่รุนแรงเท่าสามี

            ในงานแต่งมีแขกที่มาร่วมงานอีก ๔ คนที่มีการสัมผัสใกล้ชิดกับสามีภรรยาคู่นี้ โดยทั้ง ๔ คนได้รับวัคซีน Pfizer  หรือ Moderna ครบหมดแล้ว พบว่าทั้ง ๔ คนมีอาการป่วยจากโควิดมากน้อยต่างกัน โดยหนึ่งในนั้นมีอาการปอดอักเสบรุนแรง ต้องรักษาตัวในวันที่ ๑๐ หลังวันแต่งงาน ผู้ป่วยรายนี้ได้รับ Pfizer ครบ

            ผลการถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสจากผู้ป่วยทุกคน พบว่าเป็นไวรัสสายพันธุ์เดลตา และมีความใกล้เคียงกันที่บอกได้ว่าน่าจะแพร่มาจากสามีภรรยาคู่นี้จริงๆ

            เคสนี้น่าสนใจครับ เพราะเป็น Breakthrough  infection ในกลุ่มคนที่ได้รับวัคซีนครบเป็นจำนวนคลัสเตอร์ค่อนข้างใหญ่ อาการป่วยหนักและเสียชีวิตยังพบได้ในคนที่มีภูมิจากวัคซีนแล้ว และไวรัสสามารถแพร่กระจายได้ในพื้นที่เปิด และอาจจะใช้เวลาอยู่ด้วยกันไม่นาน…

            *** ไม่แน่ใจว่าแขกคนอื่นมีผู้ป่วยแบบไม่มีอาการอีกหรือไม่

————-

            ครับ…ใครที่รอ Pfizer, Moderna ก็เผื่อใจเอาไว้บ้าง.

0 replies on “ข่าวสารในสนามรบ-ผักกาดหอม”