ผักกาดหอม
คนยุบไม่ได้พูด
คนพูดไม่มีสิทธิ์ยุบ
พูดถึงเรื่องยุบสภาครับ
“ลุงป้อม” แอ่นอกรับว่า พูดเรื่องยุบสภาจริง เพราะหลังประชุมเอเปกที่ไทยเป็นเจ้าภาพเสร็จสิ้น รัฐบาลว่าง ถึงตอนนั้นถ้ายุบก็ยุบได้
มันก็มองได้หลายมุม
หากประเมินว่า รัฐบาลประสบความสำเร็จจากการจัดประชุมเอเปก ใครๆ พากันแซ่ซ้องว่ารัฐบาลเก่งกาจไร้เทียมทาน ก็จะเป็นการยุบสภาในสถานการณ์ที่รัฐบาลได้เปรียบ
ประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านประชาธิปไตยหลายประเทศเขาก็ทำกัน อังกฤษก็ใช้วิธีนี้บ่อย
ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
อีกมุม มีการตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าเอาตาม “ลุงป้อม” ผู้นำต่างประเทศที่จะมาร่วมประชุมเอเปก อยากพบกับผู้นำรัฐบาลไทยที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งมาหยกๆ และจะอยู่ในวาระไปอีกนานพอสมควร
หรืออยากจะพบหารือกับผู้นำรัฐบาลไทยที่หลังการประชุมเอเปกจบแล้วตั้งใจจะยุบสภา
ในทางทฤษฎีน่าคิดครับ!
แต่ในทางปฏิบัติ การเมือง มีความไม่แน่นอนสูงมาก
สถานการณ์เปลี่ยนได้ตลอดเวลา อยู่ที่เหตุปัจจัยว่าเอื้อต่อการยุบสภามากแค่ไหน
การยุบสภาเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี นั่นคือหลักในทางกฎหมาย
ในทางปฏิบัตินายกรัฐมนตรี ไม่ได้ตัดสินใจคนเดียว
สำหรับรัฐบาล ลุงตู่ อย่างน้อยๆ ลุงป้อม ลุงป๊อก ต้องโอเคด้วย ถึงจะยุบสภาได้
แล้วมีเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้ “สามลุง” มีความเห็นพ้องต้องกันว่า ถึงเวลายุบสภาแล้ว?
ศึกษาจากอดีต การยุบสภา ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งในรัฐบาลเอง
การยุบสภาของประเทศไทยเกิดมาแล้ว ๑๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ วันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๑ พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศยุบสภาเพราะ รัฐบาลโหวตเสียงแพ้ในสภา
ครั้งที่ ๒ วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ยุบสภาเพราะ สภาผู้แทนยืดอายุมานานในช่วงสงคราม จนสมควรแก่เวลา
ครั้งที่ ๓ วันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๙ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยุบสภาเพราะ ความขัดแย้งภายในรัฐบาล
ครั้งที่ ๔ วันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๖ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประกาศยุบสภาเพราะ สภาผู้แทนราษฎรขัดแย้งกับวุฒิสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ครั้งที่ ๕ วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๙ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ยุบสภาจากสาเหตุรัฐบาลขัดแย้งกับสภา กรณีการตราพระราชกำหนด
ครั้งที่ ๖ วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๑ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ยุบสภาจากความขัดแย้งภายในรัฐบาล
ครั้งที่ ๗ วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๕ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นรัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อยุบสภา หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง
ครั้งที่ ๘ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๘ นายชวน หลีกภัย ประกาศยุบสภา จากความขัดแย้งภายในรัฐบาล กรณี ส.ป.ก.๔-๐๑
ครั้งที่ ๙ วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๙ นายบรรหาร ศิลปอาชา ยุบสภาจากความขัดแย้งภายในรัฐบาล
ครั้งที่ ๑๐ วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๔ นายชวน หลีกภัย ยุบสภาหลังปฏิบัติภารกิจตามเป้าหมายเสร็จ ทั้งในเรื่องการแก้กฎหมาย และเศรษฐกิจ
ครั้งที่ ๑๑ วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๙ ทักษิณ ชินวัตร เกิดวิกฤตการณ์การเมืองจากการชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรี ทำให้ ทักษิณ ต้องยุบสภา
ครั้งที่ ๑๒ วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาหลังวิกฤตการณ์ทางการเมือง เป็นการยุบสภาตามที่ให้สัญญาไว้
ครั้งที่ ๑๓ วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๖ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นการยุบสภากรณีเดียวกับ ทักษิณ คือมีการชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรี
จากสถิตินี้ แม้การยุบสภาส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล แต่นับตั้งแต่ วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๔ ทั้งหมดไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล
แต่เกิดจากปัจจัยนอกสภา
การยุบสภาของ “ชวน” กับ “อภิสิทธิ์” มีความใกล้เคียงกัน เป็นการยุบเมื่อรัฐบาลบรรลุภารกิจที่ให้สัญญาไว้
ขณะที่การยุบสภาของ สองพี่น้องชินวัตร เพราะไปต่อไม่ได้ เนื่องจากประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้านจำนวนมาก
จากสถิตินี้ก็เป็นไปได้เช่นกันว่า รัฐบาลประยุทธ์ อาจไม่ได้ยุบสภา เพราะแพ้เสียงโหวตในสภา
และเมื่อพิจารณาไปถึงสาเหตุการยุบสภา เพราะรัฐบาลแพ้เสียงโหวตนั้น ต้องถอยกลับไปปี ๒๕๓๑ หรือ ๓๔ ปีที่แล้วเลยทีเดียว
วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๑ เหตุที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ต้องยุบสภาเพราะ กลุ่ม ๑๐ มกรา นำโดย “วีระ มุสิกพงศ์” นำ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ๓๒ คนลงมติไม่รับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ลิขสิทธิ์ของฝ่ายรัฐบาลที่ได้นำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติในวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๓๑
แม้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะผ่านสภาด้วยคะแนน ๑๘๓ ต่อ ๑๓๔ เสียง แต่พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะต้นสังกัดก็ตัดสินใจลาออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
เป็นการแสดงความรับผิดชอบ
เหตุผลที่ปรากฏในพระราชกฤษฎีกายุบสภา ระบุว่า
“…โดยที่นายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลฯ ว่า นับแต่ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๙ เป็นต้นมา ปรากฏว่า พรรคการเมืองต่าง ๆ หลายพรรคไม่สามารถจะดำเนินการในระบบพรรคการเมืองได้อย่างมีเอกภาพ
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคการเมือง ยังไม่ยอมรับรู้ความคิดเห็นหรือมติของสมาชิกฝ่ายข้างมากในพรรคของตน อันเป็นการขัดต่อวิถีทางการปกครองในระบบประชาธิปไตย และก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินและการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก
สมควรยุบสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่…”
แล้วรัฐบาลลุงตู่ จะเข้ากรณีไหน?
มีการเคลมว่าพรรคเล็กที่ไม่มีรัฐมนตรีมี กลุ่ม ธรรมนัส กับกลุ่ม ๑๖ มี ส.ส.ประมาณ ๓๐ คน เมื่อเทียบเคียงกับกลุ่ม ๑๐ มกราในอดีตมี ๓๒ คน ก็ถือว่าสามารถชี้เป็นชี้ตายรัฐบาลได้
แต่อุดมการณ์ น่าจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
กลุ่มพรรคเล็กที่ไม่มีรัฐมนตรี ถือเป็นกลุ่มร้อยพ่อพันแม่ แนวคิดทางการเมืองไม่เป็นเอกภาพ เพราะมาจากหลายพรรค
๓๐ เสียงจึงมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะอยู่ด้วยกันไปตลอดรอดฝั่ง
การยุบสภาเพราะความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลจึงไม่ชัดเจน ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลพรรคหลัก ยังยืนยันทำงานร่วมกันต่อไป
ขณะที่การยุบสภา วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๖ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ให้เหตุผลว่า
“…รัฐบาลได้ให้ความสําคัญในการปฏิรูปการเมืองโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง แต่เนื่องจากปัจจุบันได้เกิดปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกของชนในชาติ ส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนชื่อเสียงของประเทศชาติ
ทั้งนี้ รัฐบาลได้พยายามคลี่คลายปัญหาด้วยสันติวิธี และดําเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและวิถีทางของรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม แต่ไม่อาจยุติปัญหาดังกล่าวได้
จึงเห็นสมควรยุบสภาผู้แทนราษฎร…”
จะเห็นว่าการยุบสภาที่เกิดจากสาเหตุนอกสภานั้น มาจากการชุมนุมกดดันรัฐบาล จนไม่สามารถบริหารประเทศต่อได้
รัฐบาลลุงตู่ ถูกกดดันจากการชุมนุมเกือบตลอดปี ๒๕๖๔ แต่การชุมนุมที่ถูกตั้งคำถามเรื่องวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่อาจล้มรัฐบาลได้เนื่้องจากแนวร่วมอยู่ในวงจำกัด
ในวันนี้จึงพอสรุปได้ว่า อาจไม่มีความจำเป็นต้องยุบสภา เพราะไม่มีปัจจัยนำไปสู่สถานการณ์ดังกล่าว
แต่การเมืองเป็นเรื่องไม่แน่นอน
และการยุบสภาถือเป็นอุบัติเหตุทางการเมือง