อยู่แบบนี้อีกนานแค่ไหน?-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

อย่าเพิ่งเบื่อ “โอมิครอน”

เพราะดูแนวโน้ม ยังต้องพูดถึงไปอีกหลายเดือน

แม้จะมีข่าวดีว่า ยังไม่พบผู้ป่วยรายที่สองในไทย แต่ก็ใช่ว่าจะหยุดอยู่ที่รายที่หนึ่ง

ลักษณะการระบาดของ “โอมิครอน” ในอเมริกา และยุโรป เป็นเครื่องยืนยันว่า อีกไม่นาน ไวรัสโควิด-๑๙ สายพันธุ์นี้ จะลามไปทั่วโลก

มาไทยเต็มๆ เมื่อไหร่ ไม่ต้องไล่เช็กบิล อ้างว่ามีคนปล่อยให้ “โอมิครอน” เข้ามา เพราะถ้าทำแบบนั้น ทุกประเทศทั่วโลกต้องไล่รัฐบาลตัวเองออก

ไม่มีใครอยากให้ไวรัสระบาดหรอกครับ

แต่การสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่านั้น มันไม่ง่าย

อย่าไปด่าคุณอนุทิน ที่บอกว่า “จะช้าหรือเร็วทุกประเทศต้องพบเชื้อโอมิครอน” เพราะมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ

เพราะขนาด ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังยอมรับว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่เคสผู้ติดเชื้อโอมิครอนจะเกิดขึ้นในสหรัฐฯ

หรือดูกรณีอังกฤษเป็นตัวอย่าง

ตัวเลขผู้ป่วยโควิด “โอมิครอน” ในอังกฤษล่าสุด อาจมีมากกว่า ๑ พันคนแล้ว

คิดเป็นเกือบสี่เท่าของตัวเลขที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการ

มีคาดการณ์ว่า “โอมิครอน” แพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา มากกว่า ๒ เท่า ฉะนั้นมีความเป็นไปได้ว่า   “โอมิครอน” จะกลายเป็นโควิดสายพันธุ์หลักในระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือนนับจากนี้

ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ประเทศยักษ์ใหญ่ต่างไม่รอดจาก “โอมิครอน”

ประเด็นนับจากนี้จึงอยู่ที่การรับมือของภาครัฐ ว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน

ถ้าดูจากความตั้งใจ ณ ปัจจุบันยังถือว่าโอเคอยู่

อย่างกรณีการพบเชื้อรายแรก ต้องนำตัวอย่างมาปั่นหาเชื้อถึง ๓๖ รอบจึงจะพบ ก็แสดงให้เห็นว่า เจอปัญหาแล้วไม่ได้ปล่อยผ่าน

ก็ยังพอสบายใจได้ แม้จะเจอ “โอมิครอน” รายแรกในไทย ก็เหมือนยังไม่เจอ เพราะเจอในพื้นที่ปิด ผู้ป่วยมีเชื้อเล็กน้อย แพร่เชื้อยาก

แต่อนาคตอันใกล้ต้องเจออีก

เป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศไทยประเทศเดียวจะปลอดเชื้อ ขณะที่ “โอมิครอน” ระบาดไปทั่วโลก

ฉะนั้น นอกจากตัว “โอมิครอน” แล้ว การตื่นตัวของประชาชน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ที่ตัดสินว่า การระบาดเวฟ ๕ จะรุนแรง หรือเบากว่ารอบที่ผ่านๆ มา

ข้อมูลจนถึงวันนี้ ยังไม่มีประเทศไหนในโลกประกาศปิดเมืองเพราะ “โอมิครอน”

สถานการณ์ปัจจุบันยังเป็นการเฝ้ามอง และตรวจสอบ ว่า “โอมิครอน” จะสามารถก่อความรุนแรงได้แค่ไหน แต่เท่าที่เห็น ระบาดง่าย แต่ความดุของเชื้อต่ำ

ถ้าอาการเจ็บป่วยดีกรีพอๆ กับไข้หวัดธรรมดา มนุษย์ก็จะอยู่ร่วมกับ “โอมิครอน” เหมือนกับอยู่ร่วมกับไข้หวัด โดยไม่ต้องตื่นตระหนก วิตกกังวลกันอีกต่อไป

ในส่วนที่เอารัฐบาลไปด่ากันในโซเชียล ว่าถ้าไม่รีบปิดประเทศ ต้องรับผิดชอบ หาก “โอมิครอน” ระบาด ก็ต้องใจเย็นๆ

เปิด-ปิด ประเทศ ไม่ใช่เล่นขายของ เพราะเกี่ยวข้องกับผู้คนมากมาย หลากหลายสาขาอาชีพ

เผด็จการชี้นิ้วสั่งง่ายอยู่แล้วครับ

แต่ประเทศไทยมันไม่ได้เป็นแบบนั้น

สุ่มสี่สุ่มห้าปิดประเทศตอนนี้รัฐบาลโดนถล่มเละ

ขุดโคตรพ่อโคตรแม่มาด่าสนุกปาก

สู้กับโควิด เอาแต่ใจไม่ได้ มันต้องเอาข้อมูลที่โลกมีอยู่มาแบ เพราะขณะนี้ทั่วโลกล้วนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับ “โอมิครอน”  ไปพร้อมๆ กัน

ประเด็นที่น่าสนใจ และมีการตั้งคำถามกันเยอะ แล้วเราต้องอยู่กับโควิดไปอีกนานเท่าไหร่

ถ้าเทียบกับไข้หวัดสเปน ก็พอมองเห็น แสงสว่างปลายอุโมงค์อยู่บ้าง

จุดสิ้นสุดของไข้หวัดสเปน หลังจากการระบาดรุนแรงรอบที่สองในช่วงปลายปี ๒๔๖๑ ผู้ป่วยรายใหม่ลดลงอย่างฉับพลัน อย่างไม่น่าเชื่อ

แทบจะไม่มีผู้ป่วยเลยหลังจากผ่านจุดระบาดสูงสุดในระลอกที่สอง

เช่นกรณีการระบาดในฟิลาเดลเฟีย มีผู้เสียชีวิต ๔,๕๙๗  ราย เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ในวันที่ ๑๖ ตุลาคม ปีดังกล่าว

แต่มาถึงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ไข้หวัดสเปนกลับหายตัวไปจากเมืองอย่างไร้ร่องรอย

มีคำอธิบายหนึ่งสำหรับการลดลงอย่างรวดเร็วของโรคนี้คือ ความรู้ทางการแพทย์มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการป้องกันและรักษาโรคปอดบวมที่พัฒนาขึ้นหลังจากผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส

นอกจากนี้ยังมีอีกทฤษฎีหนึ่งเชื่อว่า เชื้อไวรัสได้กลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นสายพันธุ์ที่มีความร้ายแรงน้อยลง

นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไปกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ กล่าวคือ มีแนวโน้มว่าไวรัสก่อโรคจะมีความร้ายแรงน้อยลงตามกาลเวลา

เนื่องจากสายพันธุ์ที่อันตรายมากกว่ามีแนวโน้มที่จะตายจากไปจนหมด

คล้ายกับการหายไปของเดลตาในญี่ปุ่น

“อิทูโระ อิโนอุเอะ” นักพันธุศาสตร์จากสถาบันพันธุศาสตร์แห่งชาติ เชื่อว่าญี่ปุ่นโชคดีที่ได้เห็นสายพันธุ์เดลตาซึ่งส่วนใหญ่กำจัดไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์อื่นๆ ได้กำจัดตัวมันเอง

ไวรัส RNA แบบเดียวกับที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-๑๙ มักจะมีอัตราการกลายพันธุ์ที่สูงมาก ซึ่งช่วยให้พวกมันปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมได้อย่างรวดเร็ว

ในมุมกลับกัน นี่ก็เป็นการเปิดประตูสำหรับสิ่งที่เรียกว่า หายนะจากข้อผิดพลาด

เมื่อมีการกลายพันธุ์ที่ไม่ดี

ในที่สุดก็ทำให้เกิดการสูญพันธุ์อย่างสมบูรณ์

แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่า “โอมิครอน” คือโควิดตัวสุดท้าย  เพราะติดง่าย แต่อาการน้อย จนเป็นหนึ่งในหายนะจากข้อผิดพลาดหรือไม่

หรือจะยังมีการกลายพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ

ก็อาจเป็นเรื่องโชคดีของมวลมนุษยชาติที่ “โอมิครอน” โผล่มาในช่วงที่ประชาชนหลายประเทศในโลกฉีดวัคซีนกันไปเยอะแล้ว

ติดง่าย แต่อาการน้อย มุมหนึ่งเหมือนมนุษย์มีแต้มต่อไวรัส

ท่ามกลางข้อกังวลว่า “โอมิครอน” จะไปจบที่ไหน

เศรษฐกิจก็น่าห่วง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ในสถานการณ์ของเดลตา เศรษฐกิจทั้งปี ๒๕๖๕ ยังน่าจะสามารถฟื้นตัวได้ที่ ๓.๗%

ในกรณีเลวร้ายสุด สายพันธุ์โอมิครอน มีความรุนแรงเทียบเท่ากับสายพันธุ์เดลตา และประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันลดลงอย่างมาก

ส่งผลต่อความจำเป็นต้องมีการนำมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศมาใช้ อาทิ ปิดประเทศ รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศตามระดับความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่

จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี ๒๕๖๕ ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ ๒.๘%

ก็พอจะมีข่าวดีอยู่บ้าง “โอมิครอน” มิได้ชกมนุษย์เพียงข้างเดียว

บริษัทยาอังกฤษชื่อว่าแกล็กโซสมิทไคล์นหรือ GSK  ประกาศว่า การรักษาโควิด-๑๙ ด้วยแอนติบอดี ที่ทางบริษัทได้พัฒนาร่วมกับบริษัท Vir Biotechnology ของอเมริกา ใช้ได้ผลกับการกลายพันธุ์ของไวรัสที่หนามโปรตีนทั้งหมด ๓๗  จุดที่ระบุได้จนถึงปัจจุบัน

นั่นหมายความว่า สามารถรักษาโควิดกลายพันธุ์ได้ทุกชนิด

รวมทั้ง “โอมิครอน”

ผลการทดลองที่เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แสดงให้เห็นว่า ตัวยา ชื่อ “โซโตรวิแมบ” ใช้ได้ผลกับ “โอมิครอน” อย่างมีนัยสำคัญ

ครับ…ข้อกังวลหลังจากนี้ อาจไม่ใช่ “โอมิครอน” แต่เป็นมนุษย์

มนุษย์ที่หยิบเอา “โอมิครอน” มาเล่นการเมือง


Written By
More from pp
PEA จัดโครงการรณรงค์ “การใช้ไฟฟ้าอย่างปลอดภัยและประหยัด (SAVE THAI)” ชวนคนไทย “ใช้ไฟ เซฟ เซฟ” เป็นฮีโร่ช่วยชาติ
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) จัดโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ “การใช้ไฟฟ้าอย่างปลอดภัยและประหยัด (SAVE THAI)” เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้แนวคิด “เซฟไทย คนไทยใช้ไฟ เซฟ เซฟ”
Read More
0 replies on “อยู่แบบนี้อีกนานแค่ไหน?-ผักกาดหอม”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
'); }); var ratingTotalIndicator = function() { var indicator = document.querySelectorAll('.rating-total-indicator'); if (typeof indicator === 'undefined' || indicator === null) { return; } for ( var i = 0, len = indicator.length; i 0 || bottom > 0) && top