3 พฤศจิกายน 2564 – ที่ห้องพิจารณา 914 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการประกันตัว คดี ดำ อ. 287/64 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา7 ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งปล่อยชั่วคราว นายอานนนท์ นำภา จำเลยที่ 2 น.ส.ปนัสยา หรือรุ้ง สิทธิจิรวัฒนกุล จำเลยที่ 5 และนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธ์ หรือแอมมี่ เดอะ บอททอมบลูส์ จำเลยที่ 17 แกนนำกลุ่มราษฎร จำเลยคดีดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง และร่วมกันมั่วสุมชุมนุม เนื่องจากจำเลยทั้งสามได้ผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราว ของศาล
โดยวันนี้น.ส.ปนัสยา นายไชยอมร เดินทางมาศาล พร้อมทนายความ และครอบครัวนาย จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายสุธรรม แสงปทุม อดีต คนเดือนตุลา พร้อมตัวแทนประมาณ 30 คน นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี อดีตศิลปินแห่งชาติ เดินทางมาให้กำลังใจ
ขณะที่วันนี้ ศาลอาญา ได้จัดระเบียบ การเข้า -ออกศาล อย่างเข้มงวดมีเจ้าพนักงานตำรวจศาล เจ้าหน้าที่ ตำรวจ สน.พหลโยธิน และ รปภ. คอยดูแลความเรียบร้อย
นายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวถึง การใช้มาตรา 112 ฐานหมิ่นสถาบันฯ ว่า มีข้อกังวลทั้งในเนื้อหาสาระและการบังคับใช้ ขั้นตอนต่างๆ ของการดำเนินคดี ตั้งแต่การจะกำหนดว่าใครเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ได้ การตั้งข้อหา การไม่ได้ประกันตัว การดำเนินคดีที่ใช้เวลายาวนานและทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมทั้งใช้ข้อหานี้กลั่นแกล้ง ทำลายผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการสร้างความปรองดองในสังคม ไม่เป็นผลดีต่อการทำให้สถาบันฯเกิดความมั่นคง เพราะมีการแอบอ้างไปใช้ประโยชน์ในทางการเมือง ซึ่งทั้งกระบวนการนี้เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในเรื่องนี้จึงควรต้องมีการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า พวกเราที่มากันวันนี้เคยเป็นผู้ที่ถูกกระทำในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เมื่อ 40 กว่าปีก่อน มีทั้งใช้กำลังความรุนแรงปราบปราม และใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งก็มีการใช้กฎหมายทำนองเดียวกับ มาตรา 112 การดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับเหตุการณ์ในอดีต ยิ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้ง เป็นบาดแผลของสังคม เราไม่อยากเห็นเหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นอีก นักศึกษาเยาวชนในขณะนี้มีความเห็นต่างจากผู้มีอำนาจ แต่เขาต้องการเห็นสังคมที่ดีงาม วิธีที่ดีที่สุดคือ ต้องให้มีการหารือพูดจากัน ถ้ามีการดำเนินคดีก็ให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาและประชาชน
เมื่อถามว่า ศาลเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวแกนนำม็อบแล้ว แต่กลับออกไปก่อความวุ่นวายซ้ำซากอีก มีความคิดเห็นอย่างบ้าง
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การจะไม่ให้ประกันตัวนั้น มีหลักเรื่องจะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน แต่ถ้าจะบอกว่าให้ประกันตัวไปแล้ว แต่กลับไปกระทำผิดซ้ำนั้น เท่ากับไปตัดสิทธิ์ว่า สิ่งที่เขาพูดหรือสิ่งที่เขาทำนั้นผิดกฎหมายไปแล้ว เงื่อนไขไม่น่าสอดคล้องกับหลักนิติธรรม ซึ่งตอนนี้สังคมไทยควรมีการแก้ปัญหาให้เกิดความสมดุล เป็นประโยชน์ทั้งต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองปกป้องประมุขของประเทศ ความสมดุลนี้ใช้หลักนิติธรรมและหลักที่ปฏิบัติกันในนานาอารยประเทศ และจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย
เมื่อถามว่า มีการล่ารายชื่อขอยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 มีความเห็นอย่างไร นั้น
นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า มีพรรคการเมืองเสนอเรื่องนี้กันอยู่ คิดว่าการเสนอแก้กฎหมายไม่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทางออกคือให้รัฐสภาพิจารณาไปตามกระบวนการ ได้ข้อยุติอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ถ้าได้ข้อยุติธรรม พรรคการเมืองหรือประชาชนยังต้องการเสนอต่อไปอีก ก็สามารถทำได้ แต่ไม่ควรไปตัดตอน หรือไปห้ามด้วยเหตุผลว่าข้อเสนอหรือร่างข้อกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ด้านนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีม.ธรรมศาสตร์และนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวว่า เป็นความจำเป็นทางใจเมื่อลูกศิษย์ของเราได้ดำเนินการมาถึงขนาดนี้แล้ว เราจะอยู่เพิกเฉยก็เป็นสิ่งที่น่าละอายสำหรับคนที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ฉะนั้นในแง่หลักนิติธรรม หลักนิติรัฐ ผมก็ต้องการให้ทางฝ่ายตุลาการผู้พิพากษาเคารพต่อหลักการอันนี้ ซึ่งคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยก็สอนเรื่องนี้
เมื่อถามว่า คิดเห็นอย่างไรต่อการยกเลิก กฎหมายหมิ่นสถาบันเบื้องสูง มาตรา 112
ขณะที่ นายชาญวิทย์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้ว ตนเองและนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี เมื่อปี 2555 เราก็ได้เสนอเรื่องนี้แล้ว โดยการรวบรวมบุคคลจากหลายอาชีพ จำนวน 2-3 หมื่นรายชื่อ ในสมัยพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงสูง แล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเราไปยื่นข้อเสนอ แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการในรัฐสภาไปไกลเท่าไหร่ ไม่เป็นไปอย่างที่เราคาดคิด แม้จะมีกระแสการแก้กฎหมายดังกล่าว แต่ก็ไม่มากเท่ากับสมัยนี้ สิ่งที่น่าดีใจ และเศร้าใจในเวลาเดียวกันที่เยาวชนคนหนุ่มสาวปัจจุบันตื่นตัวมากกว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ต้องถูกจับกุม
ผู้สื่อข่าว รายงานว่า วันเดียวกันนี้ เวลา 13.00 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 712 ศาลอาญา นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราว คดี ดำ อ. 2608/64 ที่อัยการคดีอาญาเป็น โจทก์ ฟ้องนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ที่ 1 กับพวก 18 คน ที่นายทรงพล สนธิรักษ์ หรือยาใจ จำเลยที่ 3 กับพวก นายนวพล ต้นงาม นายปวริศ แย้มยิ่ง และนายวชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์ ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวด้วย