10 กันยายน 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference)
นายกรัฐมนตรียังกล่าวแสดงความพอใจหลังจากที่ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงพยาบาลสนามที่เป็นความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน และสถานประกอบการในโครงการ Factory Sandbox ซึ่งขอให้เป็นต้นแบบในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย เพราะไม่อาจคาดคะเนได้ว่าไวรัสโควิด-19 จะอยู่นานแค่ไหน รัฐบาลยังเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน และขอให้ประชาชนปฏิบัติตาม Universal Prevention และทุกองค์กรเน้น COVID-19 FREE Setting (สถานประกอบการ ลูกค้า/ประชาชน) ให้ครอบคลุมทั้งในพื้นที่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคด้วย
นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการดูแลเด็กนักเรียน โดยศบค. และสธ. จะเร่งปูพรมฉีดวัคซีนเด็กนักเรียนอายุ 12-18 ปื ภายในเดือนตุลาคม โดยจะต้องได้รับการยินยอมผู้ปกครอง ยึดหลักและคำแนะนำทางการแพทย์ ครอบคลุมทั้ง นักเรียน ครูและเจ้าหน้าที่ เพี่อสร้าง “โรงเรียนปลอดภัย” รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับกลุ่มคนที่ปฏิเสธการฉีดวัคซีน ว่าการฉีดวัคซีนสามารถลดอาการเจ็บป่วย ลดการเสียชีวิต
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบเป้าหมายให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในเดือนตุลาคม 2564 ให้ครอบคลุมประชากรทั้งหมด อย่างน้อยร้อยละ 50 ทุกจังหวัด ขยายกลุ่มอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน และวางแผนให้เข็มกระตุ้นในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน Sinovac ที่ครบ 2 เข็มในช่วงมีนาคม – พฤษภาคม 2564 รวมทั้งเห็นชอบคงระดับของพื้นที่และมาตรการป้องกันควบคุมโรคตามระดับพื้นที่สถานการณ์ ถึง 30 กันยายน นี้ ประกอบด้วย พื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด 29 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด 37 จังหวัด พื้นที่ควบคุม 11 จังหวัด คงมาตรการเคอร์ฟิว WFH เพิ่มความเข้มข้นตามมาตรการ COVID Free Setting
นายกรัฐมนตรียังมีความเป็นห่วงสถานประกอบการ/ธุรกิจขนาดเล็ก หรือ Micro SMEs ซึ่งจะได้หาแนวทางแบ่งเบาภาระที่เกิดขึ้น จากการเตรียมรองรับมาตรการของรัฐทั้งมาตรการ Bubble and Seal และ Factory Sandbox อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกคนปฏิบัตตามมาตรการเพื่อประโยชน์ของตนเอง ภายใต้ความร่วมมือ 3 ฝ่าย ประกอบด้วยรัฐบาล เอกชนและประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้สามารถเดินหน้าตามเป้าหมายในการเปิดประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งหลายประเทศได้จับตามองไทย เพื่อใช้เป็นตัวอย่างในการดำเนินงานเช่นกัน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่า ในที่ประชุม ศบค. นอกเหนือจากการเร่งแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 แล้ว นายกรัฐมนตรียังห่วงใยสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ โดยกำชับทุกส่วนราชการเตรียมแผนเผชิญเหตุในทุกพื้นที่ทั้งส่วนภูมิภาครวมทั้งกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที เพราะในขณะนี้ รัฐบาลกำลังเดินหน้าแก้ปัญหาทุกมิติ ทั้งโควิด-19 เศรษฐกิจและภัยธรรมชาติไปพร้อม ๆ กัน