นายกรัฐมนตรีย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญด้านสาธารณสุขควบคู่เศรษฐกิจ ทุ่มเททำงานต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ด้วยการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

1 ก.ย. 64 เวลา 14.05 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3 ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ดังนี้

1. ภาคการผลิตการเกษตร เน้นการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชทดแทนพืชหลัก 6 ชนิด รวมถึงการปรับทุนต้นทุนการผลิต มีมาตรการประกันราคาข้าวตามวงเงินงบประมาณที่กำหนดไว้ รัฐบาลได้เด็ดขาดกับการทำประมงผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นการทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติทางทะเลจำนวนมาก

2. วัคซีน รัฐบาลได้มีการเตรียมการตั้งแต่ต้นปี 2563 แต่ขณะนั้นการวิจัยและพัฒนาวัคซีนยังไม่มีผลสัมฤทธิ์ชัดเจน เมื่อ WHO รับรองก็เริ่มทยอยจัดหามาเพิ่มเติม ทั้งนี้ วัคซีนเป็นสินค้าฉุกเฉิน การนำเข้ามาจะขึ้นอยู่กับผู้จำหน่ายและประเทศต้นทางด้วย วันนี้ ยังได้ปลดล็อกมาตรการ จัดรูปแบบการเดินทางให้กับผู้ป่วยโควิด-19 ที่เดินทางกลับบ้าน เช่น โรงพยาบาลสนาม การทำ Home Isolation และ Community Isolation

3. การเยียวยาประชาชน รัฐบาลใช้นโยบายการเงินการคลังขนาดใหญ่เพื่อเยียวยาและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด เช่น การเยียวยา ม.33 ม.40 การจ่ายสมทบเพื่อลดอัตราการว่างงาน การผ่อนปรนการชำระหนี้ ลดภาระหนี้ ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย และปรับโครงสร้างหนี้ ปรับวิธีคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ รวมทั้งมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ถูกปิดกิจการ ปัจจุบันได้ช่วยเหลือลูกหนี้ภาคประชาชนไปแล้วกว่า 5.1 ล้านบัญชี ยอดหนี้ได้รับความช่วยเหลือกว่า 1.91 ล้านล้านบาท ช่วยลูกหนี้ภาคธุรกิจแล้วกว่า 8.9 แสนราย ยอดหนี้กว่า 1.94 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังเดินหน้าแก้ไขหนี้สินประชาชนรายย่อยกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ หนี้ กยศ. หนี้สินครู นอกจากนี้ รัฐบาลจัดสรรเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยเหลือครัวเรือน กลุ่มเปราะบาง รวมถึงเร่งรัดการเบิกจ่ายให้เร็วขึ้น จัดหางบประมาณกลางเพิ่มเติมสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย

4. ภาพรวมเศรษฐกิจ การรายงานของธนาคารโลก (World bank) เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ไทยขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือทางสังคมแบบก้าวกระโดด จาก 0.8% ของ GDP ในปี 2562 เป็น 3.2% ของ GDP ในปี 2563 หนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้และไม่ส่งผลกระทบในระยะปานกลาง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ: IMF รายงานเทียบกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economy) พบว่า ไทยใช้นโยบายการคลังในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ขนาดใหญ่ประมาณ 11.4% ของ GDP สูงเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศชิลี และสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เม็ดเงินประมาณ 8.5 แสนล้านบาทไหลเข้าสู่กระเป๋าประชาชนกว่า 42.3 ล้านคน เป็น 1 ใน 4 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือ 5% ของ GDP จากผลกระทบโควิด-19 ทั้งนี้ หนี้สาธารณะของไทยส่วนใหญ่ยังเป็นเงินตราในประเทศ และไทยยังมีสภาพคล่องอย่างเพียงพอ

5. โควิด-19 เป็นปัญหาระดับโลก อัตราการติดเชื้อต่อประชากรไทย ค่าเฉลี่ยร้อยละ 1.77 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ที่ร้อยละ 2.97 อัตราการเสียชีวิตต่อการติดเชื้อของไทย ค่าเฉลี่ยร้อยละ 0.95 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ร้อยละ 2.07 รัฐบาลมุ่งหวังที่จะทำให้ดีกว่านี้ พัฒนาต่อไปให้ดีที่สุด ไม่ต้องการให้สูญเสียประชากรเพิ่มอีกแม้เพียงคนเดียว

นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลยืนยันยังมุ่งหน้าทุ่มเททำงานต่อไป เพื่อแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน โดยใช้งบประมาณจากเงินภาษีของพี่น้องประชาชนอย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยตัวเลขทั้งหมดไม่ว่าด้านสาธารณสุข การใช้นโยบายการเงินการคลังที่เข้มข้นในการดูแลเศรษฐกิจ ทำให้ปัญหาใหญ่ส่งผลรุนแรงน้อย ดีกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และหลาย ๆ ประเทศ และองค์กรชั้นนำอย่างธนาคารโลกและ IMF ก็อ้างถึงในทางบวก การใช้เงินเยียวยาถึงมือประชาชนโดยตรง เป็นการยืนยันว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับปากท้องของพี่น้องประชาชน และแน่นอนวิกฤตครั้งนี้ใหญ่มากและยังไม่จบ

Written By
More from pp
“พรรคไทยภักดี” บุก กกต. ยื่นสอบนโยบาย “พรรคก้าวไกล” เข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือไม่
18 ตุลาคม 2565-พรรคไทยภักดี นำโดย นายสุขสันต์ แสงศรี โฆษกพรรคไทยภักดี, นายสานนท์ บุญมี รองโฆษกพรรคไทยภักดี, นายภัทรพล หมดมลทิน...
Read More
0 replies on “นายกรัฐมนตรีย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญด้านสาธารณสุขควบคู่เศรษฐกิจ ทุ่มเททำงานต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ด้วยการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าเกิดประสิทธิภาพสูงสุด”