กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนทำงานที่บ้าน หรือ Work from home นั่งนาน นั่งไม่ถูกวิธี ปวดหลัง ปวดศีรษะได้ เสี่ยงเป็นออฟฟิศซินโดรม แนะ 6 วิธี ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมขณะทำงาน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากนโยบายทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home เพื่อขอความร่วมมือให้คนไทยอยู่บ้าน งดการเดินทาง หวังแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ ซึ่งวัยทำงานจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและสถานที่ในการทำงาน
อีกทั้งอุปกรณ์สำนักงานในบ้านอาจไม่เพียงพอ ไม่เหมาะกับสรีระ หรือลักษณะการนั่งไม่ถูกวิธี อาจก่อให้เกิดโรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ตามมาได้ โดยอาการที่เป็นสัญญาณเตือนและพบบ่อยคือ ปวดหลังเรื้อรังจากการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์วันละ 8 ชั่วโมง โดยเฉพาะการนั่งหลังค่อม ทำให้กล้ามเนื้อต้นคอ สะบัก เมื่อย เกร็งอยู่ตลอดเวลา ทำให้กระบังลมขยายได้ไม่เต็มที่ สมองได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ ส่งผลต่อศักยภาพในการทำงาน ไม่เต็มร้อย รวมถึงอาการปวดศีรษะเรื้อรัง (Tension Headache) ที่สะสมจากความเครียด การพักผ่อน ไม่เพียงพอ ความร้อน และการขาดฮอร์โมนบางชนิด เป็นปัจจัยก่อให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีอาการมือชา เอ็นอักเสบ นิ้วล็อก การอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ เส้นเอ็นและนิ้วมือ ซึ่งเกิดจากการ ใช้คอมพิวเตอร์ การจับเมาส์ในท่าเดิมนาน ๆ ทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นจนอักเสบเกิดพังผืดยึดจับบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ปวดปลายประสาท นิ้วล็อก หรือข้อมือล็อกได้ หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาการจะรุนแรงจนถึงขั้นหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทได้
“ทั้งนี้ วัยทำงานสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้เหมาะสมขณะทำงานได้ด้วย 6 วิธี ดังนี้
1) ปรับความสูงของเก้าอี้และโต๊ะให้เหมาะสม นั่งสบาย
2) หากใช้คอมพิวเตอร์ กึ่งกลางของจอควรอยู่ในระดับสายตา การพิมพ์งาน แป้นคีย์บอร์ด ควรอยู่ในระดับข้อศอก ข้อมือ ใช้เมาส์โดยพักข้อศอกบนที่รองแขน และสามารถเคลื่อนไหวได้แบบไม่จำกัดพื้นที่
3) ขณะนั่งทำงาน ควรนั่งหลังตรงชิดขอบด้านในของเก้าอี้ กะพริบตาบ่อย ๆ พักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ทุก ๆ 10 นาที เปลี่ยนท่าการทำงานทุก 20 นาที ยืดเหยียดกล้ามเนื้อมือและแขนทุก 1 ชั่วโมง
4) ปลูกต้นไม้ในร่ม ช่วยดูดซับสารพิษและเป็นที่พักสายตาจากการจ้องมองจอคอมพิวเตอร์
5) กินอาหารให้ตรงเวลาและครบ 5 หมู่ และ
6) ควรเปิดหน้าต่างที่บ้านเพื่อให้อากาศหมุนเวียนถ่ายเทบ้าง อย่างน้อยในตอนเช้าและพักกลางวัน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว