‘กำไร’ ที่ไม่เหมือนกัน – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ก็แปลกดี…..        

            ไม่รู้ อยากแก้ข่าว หรืออยากเป็นข่าวกันแน่ 

อยู่เงียบๆ ก็ไม่น่าจะมีใครไปตอแยด้วย

            แต่ “ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ” พี่สาวธนาธร เกิดอยากชี้แจงเรื่องที่เคยไปให้ สัมภาษณ์ในนิตยสาร  Forbes เมื่อเดือน กรกฎาคม ๒๕๖๑ ขึ้นมา

            เธอขอใช้สิทธิ์ชี้แจงเรื่องเมื่อ ๓ ปีที่แล้วดังนี้ครับ

            “….ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมากลุ่มไทยซัมมิทต้องเผชิญความผันผวนในหลายด้าน ตั้งแต่ภัยน้ำท่วมปี ๒๕๕๔  นโยบายรถคันแรก หรือแม้แต่ช่วงราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ  จึงทำให้ตัวเลขรายได้รวมของกลุ่มไทยซัมมิทมีความผันผวน อย่างไรก็ตาม รายได้ยังเติบโตเฉลี่ย ๕ เปอร์เซ็นต์ ต่อปี และเติบโตสูงสุดที่ ๗.๕ หมื่นล้านบาทในปี ๒๕๕๕  จากนโยบายคืนภาษีรถคันแรก ส่งผลให้ยอดผลิตรถยนต์ในประเทศสูงถึง ๒.๔ ล้านคัน และมียอดขายในประเทศถึง  ๑.๔ ล้านคัน

                แม้หลังจากนั้นยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศจะไม่เคยแตะ ๒ ล้านคันอีกเลย เช่นเดียวกับที่ยอดขายรถยนต์ในประเทศก็ไม่เคยขึ้นไป ๙ แสนคัน จึงตั้งเป้าต่อจากปีนี้ตั้งเป้าว่าหากมาตรการภาษีรถคันแรกจบ ยอดขายรถยนต์ในประเทศน่าจะขึ้นไปได้ถึง ๘ แสนคัน”

                จากบทสัมภาษณ์ดังกล่าวหากอ่านให้ครบถ้วนกระบวนความ จะเข้าใจความหมายได้ว่า ถ้อยคำได้มุ่งเน้นว่า ยอดการผลิตรถยนต์ของไทยในปี ๒๕๕๕ สูงมากเนื่องจากมีนโยบายรถคันแรก เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมโดยรวมเนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปีก่อนหน้า ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่ที่โดนน้ำท่วมเป็นโรงงานผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน และหลายบริษัทเป็นบริษัทญี่ปุ่น

                จึงมีการทวงถามจากบริษัทต่างชาติและการทวงถามในเชิงรัฐต่อรัฐถึงการช่วยเหลืออย่างมาก รัฐบาลจึงออกหลักเกณฑ์รถคันแรกขึ้น ซึ่งเป็นธรรมดาว่าเมื่อยอดขายของลูกค้าคือผู้ผลิตรถยนต์มีมากขึ้น ในฐานะของผู้ผลิตชิ้นส่วนก็ย่อมขายมากไปด้วย

                คำสัมภาษณ์ดังกล่าวผ่านมา ๓ ปี และเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านมาเกือบ ๑๐ ปี แต่ก็ยังมีผู้พยายามนำเรื่องนี้ไปโยงการเมือง ว่ามีการออกนโยบายรถคันแรกเพื่อเอื้อไทยซัมมิท ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลานั้น ไม่มีบุคคลในครอบครัวคนใดข้องเกี่ยวกับทางการเมืองเลย

                และมีข่าวให้เห็นมากมายว่าผู้ที่เดือดร้อน และกดดันรัฐบาลคือนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ตาม จากที่มีผู้โจมตีบิดเบือนว่า งบ ๙.๑ หมื่นล้านที่รัฐบาลในขณะนั้นออกมาเพื่อช่วยเหลือ ไทยซัมมิทกวาดงบรัฐไป ๗.๕ หมื่นล้าน ความเป็นจริงก็คือ ตัวเลขดังกล่าวคือยอดขายของไทยซัมมิททั้งหมดในปีนั้น แต่บริษัทก็มีฐานยอดขายของตัวเองเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว และไทยซัมมิทก็ไม่ได้เป็นผู้เรียกร้องวิ่งเต้นใดๆ ในเรื่องนโยบายนี้เลย การขึ้นลงของรายได้เป็นไปตามปกติจากคำสั่งซื้อของลูกค้าเท่านั้น ซึ่งเรื่องนโยบายรถคันแรก ก็ไม่ได้ส่งผลกับผู้ประกอบการมากเท่ากับผู้ซื้อเอง ที่เป็นประชาชนคนไทยทั่วไป

                งบประมาณเหล่านี้ยังถูกนำไปช่วยสนับสนุนแก่ประชาชนผู้ถูกน้ำท่วมและประชาชนที่ซื้อรถ เป็นนโยบายที่สร้างประโยชน์แก่ประชาชน ไม่ได้เป็นการสนับสนุนบริษัทใดๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนเป็นพิเศษ

                เข้าใจได้ว่าการมีคนในครอบครัวเข้ามายุ่งการเมือง ทำให้ต้องถูกโจมตีบ้างเป็นธรรมดา แต่การบิดเบือนข้อมูลจากคำสัมภาษณ์มาตลอดแบบเดิมๆ เป็นระยะเวลา ๓ ปี  ทำให้ดิฉัน และบริษัทได้รับความเสื่อมเสีย และข้อความนี้ก็ยังถูกนำมาใช้ และใช้อย่างบิดเบือนอยู่ตลอดแม้จนถึงปัจจุบันเมื่อต้องการโจมตีให้บริษัทเข้าไปพัวพันกับการเมือง

                ดังนั้นจึงขอใช้พื้นที่ตรงนี้ชี้แจงข้อเท็จจริงแก่พี่น้องประชาชน เพื่อทำความเข้าใจ และใช้วิจารณญาณในการรับรู้ข่าวสาร และดิฉันอยากขอความเป็นธรรมให้แก่กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ที่ประกอบกิจการด้วยความซื่อสัตย์โปร่งใสตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาด้วย….”

            ใครเอาเรื่องนี้ไปโจมตีไทยซัมมิท มันก็นานาจิตตัง

            โลกโซเชียลมันก็เป็นแบบนี้ คุมกันได้ที่ไหน

            แต่บทสัมภาษณ์ก็ตรงๆ ไม่เห็นต้องไปตีความอะไร

                “….เติบโตสูงสุดที่ ๗.๕ หมื่นล้านบาทในปี ๒๕๕๕  จากนโยบายคืนภาษีรถคันแรก…”

            มันก็ตามนั้น!

            กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท เป็นบริษัทเอกชน ก็ต้องค้าขายหากำไร

            การค้าที่ได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐ มันจะแปลกอะไรล่ะ ในเมื่อหลายๆ บริษัทก็ได้ประโยชน์เช่นกัน

            เพียงแต่นโยบายประชานิยมรถคันแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ สร้างความเสียหายกับอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศ เพราะนำอุปสงค์ของรถยนต์จากอนาคตมาใช้

            และผลที่ตามมาคือตลาดรถยนต์ผิดเพี้ยน รถใหม่ขายไม่ออก เซลส์นั่งตบยุง

            เต็นท์รถมือสอง พินาศ

            ลีสซิงกุมขมับ เพราะหนี้เสียพุ่ง

            สถิติจำหน่ายรถยนต์ หลังนโยบายรถคันแรก ตามนี้ครับ 

            ปี ๒๕๕๖ ยอดขายรวม ๑,๓๓๐,๖๖๘ คัน ลดลง  ๗.๔%

            ปี ๒๕๕๗ มียอดขายอยู่ที่ ๘๘๑,๘๓๒ คัน ลดลง  ๓๓.๗%

            ปี ๒๕๕๘ ยอดขาย ๗๙๙,๕๙๔ คัน ลดลง ๙.๓%

            ปี ๒๕๕๙ ยอดขายอยู่ที่ ๗๖๘,๗๘๘ คัน ลดลง ๓.๙%

            สรุปยอดรวมรถที่ขอคืนภาษีทั้งสิ้น ๑.๒๕๕ ล้านคัน

            คิดเป็นเงินที่รัฐบาลต้องคืนภาษีรวม ๙.๑ หมื่นล้านบาท

            ก็เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนมาจนถึงทุกวันนี้ โครงการประชานิยมลักษณะนี้ควรจะมีหรือไม่ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับกับสิ่งที่รัฐต้องเสียไป มันคุ้มกันหรือไม่ ขณะที่บริษัทเอกชนโกยกำไร

             ผมเห็นมีการแชร์ข่าว บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์  จำกัด มีกำไร ๓๖ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๓

            ส่วนรายได้รวม ๓๐๒ ล้านบาท

            จำได้มั้ยครับ “ธนาธร” เคยเอาตัวเลขขาดทุน ของสยามไบโอไซเอนซ์ มาโชว์

            ปี ๒๕๕๙ ขาดทุน ๗๙ ล้านบาท

            ปี ๒๕๖๐ ขาดทุน ๑๑๔ ล้านบาท

            ปี ๒๕๖๑ ขาดทุน ๗๗ ล้านบาท

            ปี ๒๕๖๒ ขาดทุน ๗๐ ล้านบาท

            โชว์แล้วตั้งคำถามว่า ไม่ประสบความสำเร็จทางด้านการเงิน เหมาะสมที่จะทำภารกิจนี้หรือเปล่า

            เป้าหมายองค์กรระหว่าง สยามไบโอไซเอนซ์ กับ ไทยซัมมิท แตกต่างกันชัดเจน

            สยามไบโอไซเอนซ์ ก่อตั้งตามพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพของคนไทย

            ล่าสุดเป็นศูนย์ผลิตวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า ในอาเซียน

            ที่สำคัญ ไม่ค้ากำไร

            ส่วน ไทยซัมมิท ค้ากำไร

            กำไรมากเท่าไหร่ถือเป็นความสำเร็จของตระกูล

            ปี ๒๕๖๓ กำไรเกือบ ๓ พันล้านบาท

            และข้อมูลข้างต้นจาก พี่สาวธนาธรคือ เติบโตสูงสุดที่  ๗.๕ หมื่นล้านบาทในปี ๒๕๕๕ จากนโยบายคืนภาษีรถคันแรก

            ครับ…ทั้งหมดแค่จะบอกว่า กำไรของแต่ละบริษัทนั้นมีความหมายไม่เหมือนกัน

            เพราะเป้าหมายของแต่ละบริษัทไม่เหมือนกัน

            ไทยซัมมิท ทำเพื่อใคร

            สยามไบโอไซเอนซ์ ทำเพื่อใคร

            ทุกคนมีคำตอบในใจอยู่แล้ว

            อ้อ…ฝาก กลต.ตรวจสอบหน่อย ไฟเซอร์ทิพย์  BioNTech ทิพย์ มาได้ไง

            มีใครไปปั่นหุ้นโรงพยาบาลธนบุรีหรือเปล่า

            เพราะเห็นหลังปีศาจตลาดหุ้นแว็บๆ.

 

Written By
More from pp
แถลงผลการจับกุมยาเสพติดรายสำคัญรายใหญ่ ในพื้นที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี มูลค่ากว่า 139 ล้านบาท
วันที่ 10 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.00 น. ที่ สถานีตำรวจภูธรสายบุรี ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี...
Read More
0 replies on “‘กำไร’ ที่ไม่เหมือนกัน – ผักกาดหอม”