ราวกลางปีพ.ศ.๒๕๖๓ ดิฉันกับน้องเจี๊ยบ-คุณสายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์ ได้รับมอบหมายจากทางวัดเหนือและจาก ผศ.ฟ้อน เปรมพันธุ์ สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ให้เข้าไปถ่ายภาพ เก็บข้อมูล ตรวจสอบข้อมูลต่างๆเพื่อทำหนังสือเรื่องของจิตรกรรมวัดเหนือ
ขณะนี้ หนังสือจิตรกรรมวัดเหนือได้ดำเนินการจัดทำรูปเล่มไปมากแล้ว แต่ยังต้องใช้เวลาในการผลิตอีกพักใหญ่ กว่าจะได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือออกมา
มีหลากหลายเรื่องราวในภาพจิตรกรรมวัดเหนือ โดยเฉพาะเกี่ยวกับภาพเทพเจ้าองค์ต่างๆ ที่ครูช่างเขียนไว้บริเวณผนังโบสถ์เก่า ที่บัดนี้คือวิหารสำคัญของวัดเหนือ มีพระพุทธรูปหลากหลายสมัยให้กราบเคารพบูชา
หนึ่งในภาพจิตรกรรมน่าสนใจยิ่งที่ครูช่างเขียนไว้ คือภาพของ “เทพเจ้าจีน”
เทพเจ้าจีนชุดนี้ ดิฉันได้ถ่ายภาพมาตั้งแต่ไปชมงานวัดเหนือในครั้งแรกเมื่อราว ๒ ปีก่อน และคุณเจี๊ยบสายัณห์ก็ได้ถ่ายภาพมาอีกครั้ง อย่างงามกริ๊บไปเลย
ครูช่างเขียนภาพเทพเจ้าจีนไว้ด้านข้างของพระประธาน ที่มีจิตรกรรมงามหลากหลายเทพ ปรากฏให้เห็น เช่นบางส่วนที่ดิฉันขอนำมาเล่าให้ฟังดังนี้
จิตรกรรมฝาผนังหลังพระประธาน และช่องแรกขนาบซ้ายขวาของพระประธาน ท่ามกลางหมู่เมฆ ที่สถิตของนักสิทธิ์ วิทยาธร นางฟ้า เทวดาไทยนั้น เราได้พบภาพ “เซียน” จีน หรือเทพเจ้าจีนในคตินิยมทางเทวปรัชญา ศาสนาของคนจีนปรากฏอยู่ในอุโบสถแห่งนี้ด้วยเช่นกัน ดังที่ปรากฏอยู่ตรงด้านข้างไหล่ขวาของพระประธานในโบสถ์
เทพเจ้าจีนทั้ง ๒ องค์นี้ เพื่อนรักของดิฉัน คุณพิเชษฐ์ วนวิทย์ ผู้ศึกษาเรื่องจีน-นักแปลงานพุทธศาสนาวัชรยานตันตระ ให้ความเห็นว่าเป็นภาพ เง็กเซียนฮ่องเต้(จักรพรรดิหยก)กับพระชายาคือเจ้าแม่ซีหวังหมู่ เจ้าแม่แห่งสวรรค์ทิศประจิม ผู้ควบคุมกาลเวลา มิติ และความตาย ซึ่งเง็กเซียนฮ่องเต้ผู้คุ้มครองดูแลสวรรค์นี้ คือคู่กรณีโดยตรงกับ “เห้งเจีย” เทพเจ้าลิงในวรรณกรรม “ไซอิ๋ว” ที่เหาะขึ้นไปถล่มสวรรค์
ในจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดเหนือ ใต้ภาพเง็กเซียนฮ่องเต้และพระชายา มีภาพคนธรรพ์ นักสิทธิ์ วิทยาธร และใต้เส้นสินเทาแบ่งเขตไว้ ครูช่างได้เขียนภาพ “เห้งเจีย” ที่คนจีนนับถือเป็นเทพเจ้าเอาไว้ด้วย และผนังฝั่งตรงข้าม ข้างแขนซ้ายของพระประธาน ครูช่างก็ได้เขียนภาพ “ตือโป้ยก่าย” ตัวละครสำคัญในไซอิ๋ว ไว้ด้วยเช่นกัน
สำหรับเทพเจ้าจีน อย่างเง็กเซียนฮ่องเต้กับพระชายา เทพลิงเห้งเจีย เทพหมูตือโป้ยก่าย ตัวละครสำคัญในวรรณกรรมไซอิ๋ว มาเกี่ยวข้องกับพุทธปรัชญา จนมาปรากฏอยู่ในภาพจิตรกรรมฝาผนังวิหารทางพุทธศาสนาได้อย่างไรนั้น ผู้สนใจหาคำตอบในประเด็นนี้ ควรศึกษาเพิ่มเติมจาก หนังสือ “ลิงจอมโจก” ของท่านโกวิท เขมานันทะ ที่ได้ตรวจสอบวิเคราะห์ไว้อย่างละเอียด ดังที่ท่านเขมานันทะเขียนไว้ในคำนำหนังสือลิงจอมโจก (เดินทางไกลกับไซอิ๋ว) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑ ว่า
“ความเยี่ยมยอดและวิเศษของไซอิ๋วที่ไม่เหมือนวรรณกรรมอื่น อยู่ที่ผู้อ่านจะต้องลืมความเป็นคนให้หมด ไม่มีพระถังซัมจั๋ง ไม่พระเจ้าหลีซิบิ๋น ไม่มีพระพุทธเจ้า ไม่มีลิงเห้งเจีย ไม่มีหมูตือโป้ยก่าย ไม่มีเงือกซัวเจ๋ง มีแต่ “คุณะ” หรือ “ค่า” ที่ยืมชื่อของบุคคลในประวัติศาสตร์มาเรียกเท่านั้น มิฉะนั้นความที่ไซอิ๋วนั้นซับซ้อนนั่นเอง จะปกปิดอรรถรสเสียหมด แล้วท่านผู้อ่านเองจะเป็นฝ่ายลดระดับค่าของวรรณกรรมนี้ลง ขณะที่อ่านนั้น เรามักจะเผลอไปจากระนาบนี้ เพราะว่าพระพุทธองค์ที่ประทับอยู่ที่วัดลุยอิมยี่นั้น ก็หาใช่พระพุทธเจ้าทางกายภาพไม่ แต่กลับเป็นพุทธภาวะ และดังนั้น ขันติคุณแห่งชีวิต(พระถัง) ที่อาศัยโพธิจิต(เห้งเจีย) และบารมีอื่นประกอบสนับสนุน จึงได้บรรลุถึงพุทธภาวะ
สมัยใดที่เห้งเจียไม่นำทาง ให้โป้ยก่าย(ศีล)นำ คือจูงม้า(วิริยะ) โป้ยก่ายจะนำเข้ารกเข้าพง เข้าถ้ำผีจนถูกกักขัง และรอให้เห้งเจีย(ปัญญา) มาช่วยปลดปล่อยดังนี้เป็นต้น
แม้แต่เจดีย์ หาบห่อ ต้นไม้ ภูเขา ถ้ำ ลำธาร และอาวุธวิเศษต่างๆ ก็ล้วนเป็นความหมายทางธรรมทั้งสิ้น และที่ยิ่งไปกว่านั้น พระสงฆ์ก็หาได้หมายถึงพระสงฆ์ไม่ กลับหมายถึงเจตสิกธรรม
ในขณะที่อ่านไซอิ๋วเป็นปริศนานี้ ท่านจะพบกับความขบขันในปริศนาธรรมขั้นลึก ความขบขันที่โพธิปัญญาดูหมิ่นดูแคลนศีล หรือว่าโพธิปัญญาทะเลาะกับขันติ ที่มันเอาแต่จะทนฝ่ายเดียว มิได้เชื่อโพธิในการฆ่ากิเลส อรรถรสในปริศนาธรรมที่ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ช่างแสนสนุก ตรงที่ได้นึกทายหรือคาดการณ์ว่าปีศาจตัวนี้คือกิเลสตัวไหนหนอ และปัญญาจะผ่านปีศาจได้อย่างไรหนอ เมื่อกระทำในใจเพื่อจะอ่านไซอิ๋วเช่นนี้ จะได้ความหรรษาในธรรมสโมธานอย่างลึกซึ้ง
ผู้อ่านจะพบว่า การอ่านไซอิ๋วเป็นดุจการได้สนทนากับชีวิต ไซอิ๋วจึงเป็นคัมภีร์ที่ลึกซึ้ง เท่าๆกับความเป็นวรรณกรรม”
ด้วยความลึกซึ้งในมิติทางพุทธศาสนาของวรรณกรรม “ไซอิ๋ว” ดังที่ท่านโกวิท เขมานันทะได้วิเคราะห์ไว้เช่นนี้ จึงทำให้ครูช่างรุ่นร้อยกว่าปีก่อน วาดภาพเทพเจ้าจีนในไซอิ๋ว ไว้ใกล้ชิด เป็นเรื่องราวหนึ่งเดียวกันกับพระประธานปางมารวิชัย เอาชนะมารในการบรรลุโลกุตรธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มาประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถหลังเดิม ของวัดเทวสังฆาราม