ผักกาดหอม
เอาละเว้ย……
พรรคก้าวไกล จี๊ดจ๊าด ฟอร์มไม่ตกจริงๆ
พยายามสร้างผลงานชิ้นโบดำ ตั้งแต่ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ปฏิรูปกองทัพ แก้รัฐธรรมนูญ แก้ ม.๑๑๒
ล่าสุดช่างเด็ดดวง
ก้าวไกลมีมติที่ประชุมพรรค เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ….ว่าด้วยการเอาผิดเจ้าพนักงานยุติธรรมในฐาน ‘บิดเบือนกฎหมาย’
ส.ส.ร่วมลงชื่อกันคึกคัก เพื่อบรรจุเป็นญัตติเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ต่อไป
สาระและความสำคัญของร่างกฎหมาย เห็นแล้วเสียวแทน
เป็นการเพิ่มฐานความผิดเข้าไปในประมวลกฎหมายอาญา ภาค ๒ ความผิด ลักษณะ ๓ ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม หมวด ๒ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
ได้แก่ ความผิดฐาน “บิดเบือนกฎหมาย” ของเจ้าพนักงานในการยุติธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
พรรคก้าวไกลให้เหตุผลการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า….
“….เนื่องจากเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นงานสอบสวนทั้งตำรวจและฝ่ายปกครอง ผู้ว่าคดี พนักงานอัยการ ตลอดไปจนถึงผู้พิพากษาและตุลาการ ได้ถูกตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจหน้าที่ไม่เป็นไปตามหลักในทางนิติธรรม หรือไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามที่กฎหมายกำหนดในหลายกรณี
ผลที่เกิดขึ้นคือ มีการบิดเบือนและทำให้เกิดความเสียหายที่ไม่ใช่ต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์เท่านั้น แต่ได้สร้างความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรม
ซึ่งอาจจะถูกทำลายและอาจทำให้ประชาชนหมดสิ้นศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมได้…”
ทีนี้มาดูรายละเอียดการเสนอแก้ไขของพรรคก้าวไกล
เป็นการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา โดยเพิ่มมาตรา ๒๐๐/๑ ในวรรคหนึ่ง กำหนดฐานความผิดจากการบิดเบือนกฎหมายของพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี และพนักงานสอบสวน ความว่า
“…ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน กระทำการบิดเบือนกฎหมายในการสอบสวนและการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี ด้วยการทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี หรือกระทำความเห็นทางคดีอย่างอื่นอันจะมีผลกระทบต่อการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่ผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี
วรรคสอง กำหนดฐานความผิดจากการบิดเบือนกฎหมายของผู้พิพากษาและตุลาการ ความว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ กระทำการบิดเบือนกฎหมายในการพิจารณาคดี การทำคำสั่งรับหรือไม่รับฟ้อง การทำคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี หรือการทำคำสั่งคำร้องหรือคำขออื่นใด เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี…”
ขณะที่ มาตรา ๒๐๐ ปัจจุบันที่ใช้อยู่ บัญญัติว่า…
“…ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
วรรคสอง ถ้าการกระทำหรือไม่กระทำนั้น เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ รับโทษหนักขึ้น หรือต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท…”
มาดูความแตกต่าง
ของเดิม บัญญัติว่า “กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ”
พรรคก้าวไกลแก้เป็น “กระทำการบิดเบือนกฎหมาย”
แค่การใช้คำในกฎหมาย สะท้อนให้เห็นถึงวุฒิภาวะของพรรคก้าวไกล ว่าต้องการเอาคืนกระบวนการยุติธรรม มากกว่าแก้กฎหมายให้รอบคอบรัดกุม หรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ลองเปรียบเทียบถ้อยความในกฎหมายดู
“กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ” คือลักษณะการห้ามที่กินขอบเขตกว้างกว่า “กระทำการบิดเบือนกฎหมาย” ชนิดเปรียบกันไม่ได้
และเมื่อไปอ่านเหตุผลในการยื่นแก้กฎหมาย ก็พบเจตนาชัดเจนว่ามีพื้นฐานมาจากอะไร
การอ้างว่าที่ผ่านมา เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นงานสอบสวนทั้งตำรวจและฝ่ายปกครอง ผู้ว่าคดี พนักงานอัยการ ตลอดไปจนถึงผู้พิพากษาและตุลาการ ได้ถูกตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจหน้าที่ไม่เป็นไปตามหลักในทางนิติธรรม หรือไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามที่กฎหมายกำหนดในหลายกรณี
ขอถามกลับไปยังพรรคก้าวไกลว่า ใครเป็นคนตั้งคำถาม
และตั้งคำถามบนพื้นฐานอะไร
รวมทั้งคนส่วนใหญ่ตั้งคำถามแบบเดียวกับพรรคก้าวไกลหรือไม่
ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีความพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม
“ทักษิณ” เคยอ้างว่า ยุติธรรมสองมาตรฐาน เมื่อผลการพิจารณาคดีความไม่เป็นคุณกับตัวเอง
พรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้าโดยธนาธร-ปิยบุตร และพวก โจมตีกระบวนการยุติธรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อคำวินิจฉัย หรือคำพิพากษาของศาล ไม่เป็นไปตามที่ตัวเองคิด
คณะสามกีบภายใต้ความช่วยเหลือของคณะสามสัส โจมตีกระบวนการยุติธรรม อย่างรุนแรง โดยเฉพาะกรณีการให้ประกันตัวคดี ม.๑๑๒
คนกลุ่มนี้ไม่ยึดตัวบทกฎหมาย แต่ยึดเอาตามความพึงพอใจของตนเองเป็นหลัก
การเพิ่มโทษติดคุกขั้นต่ำเป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ
มาตรา ๒๐๐ ปัจจุบัน บัญญัติเอาไว้ กรณี “กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ” มีโทษจำคุกตั้งแต่ ๖ เดือนถึง ๗ ปี
กรณีแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ จำคุกตั้งแต่ ๑ ปีถึง ๒๐ ปี
มาตรา ๒๐๐ ที่พรรคก้าวไกลเสนอ กรณี “กระทำการบิดเบือนกฎหมาย ในการสอบสวนและการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี” ต้องโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ ปีถึง ๑๐ ปี
และกรณีการทำคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๓ ปีถึง ๒๐ ปี
ที่บอกว่าน่าสนใจคือ ก่อนนี้พรรคก้าวไกลเสนอให้แก้ ม.๑๑๒ ลดโทษจำคุกเหลือไม่เกิน ๑ ปี ปรับไม่เกิน ๓ แสนบาท อ้างว่าเป็นการป้องกันพระเกียรติยศ
แต่กับการทำหน้าที่ของตุลาการ พรรคก้าวไกลเสนอเพิ่มโทษ
ทั้งหมดนี้มาจากพื้นฐานอะไร
หากมองความคิดของพรรคก้าวไกลในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็น แก้ ม.๑๑๒ ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เอาคืนผู้พิพากษา ล้วนเป็นยุทธศาสตร์ที่มีการวางแผนให้สอดรับกัน
จะแก้ได้ทั้งหมด หรือแก้ไม่ได้เลย แต่นี่คือการประกาศทำสงครามรอบใหม่
เริ่มต้นด้วยการด้อยค่ากระบวนการยุติธรรม
จับผู้พิพากษามาเป็นคู่ขัดแย้ง.