“เฉลิมชัย” นำทีมปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืดในพื้นที่กรุงเทพฯ 6 จุด รวม 3 ล้านตัว ตั้งเป้าฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ สร้างรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานกิจกรรมปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืด “โครงการฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาน้ำจืด” พร้อมด้วย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ณ โรงเรียนสุเหร่าศาลาแดง เขตหนองจอก กรุงเทพ

ว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ และคงความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งต้องการคุ้มครองและสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์น้ำ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรประมงน้ำจืดให้เกิดประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงได้ให้ความสำคัญและขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ด้านการส่งเสริมและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยมุ่งหวังที่จะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสร้างความตระหนักรู้แก่ชุมชนและประชาชนในพื้นที่ให้เห็นคุณค่าของทรัพยากร ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ
จึงได้จัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืด ภายใต้โครงการฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาน้ำจืด ในวันนี้ จำนวนทั้งสิ้น 3 ล้านตัว ใน 6 จุดพื้นที่กรุงเทพฯ ครอบคลุม 3 เขต ได้แก่ เขตหนองจอก เขตมีนบุรี และเขตลาดกระบัง
“จากการลงพื้นที่เขตหนองจอกที่ผ่านมา ได้แก้ไขปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำให้แก่เกษตรกร และพบว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีแหล่งน้ำสาธารณะโดยรอบ ประกอบกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายในการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบของเกษตรกรจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
จึงได้มอบหมายให้กรมประมงจัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืด ภายใต้โครงการฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาน้ำจืดขึ้น ในแหล่งน้ำสาธารณะ ครอบคลุมเขตหนองจอก มีนบุรี และลาดกระบัง รวมปล่อยพันธุ์ปลาทั้งสิ้น 3 ล้านตัว เพื่อเป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้แก่เกษตรกรและประชาชนในบริเวณนี้ รวมทั้งได้ถือโอกาสมาดูเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวและต้องพึ่งพาน้ำในการทำการเกษตร
นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ด้วย อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตรเข้ามาส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อยชนิดอื่นเป็นการหมุนเวียนและสร้างรายได้ โดยการขายผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ รวมทั้งศูนย์ AIC ที่กระจายทั่วประเทศทั้ง 77 จังหวัด พร้อมที่จะช่วยเหลือ สนับสนุนเกษตรกรด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อขยายผลโครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ ไปสู่เกษตรกรและประชาชน และเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร นั่นหมายถึงเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืนนั่นเอง” รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าว
ด้านนายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาน้ำจืด” กำหนดจักขึ้นในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก จำนวน 3 เขต ซึ่งนับเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งอาหารที่สำคัญของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง
โดยจะปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืดและสนับสนุนพันธุ์ปลาน้ำจืด ให้แก่ชุมชนนำไปปล่อยในแหล่งน้ำสาธารณะบริเวณใกล้เคียง จำนวนรวมทั้งสิ้น 3 ล้านตัว ประกอบด้วย ปลาตะเพียนขาว ปลากระแห ปลากาดำ ปลาตะเพียนทอง และปลาหมอไทย โดยกำหนดจุดปล่อยพร้อมกันจำนวน 6 จุด ดังนี้
จุดที่ 1 : โรงเรียนสุเหร่าศาลาแดง แขวงหนองจอก เขตหนองจอก กรุงเทพฯ
จุดที่ 2 : วัดทองสัมฤทธิ์ แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ
จุดที่ 3 : วัดพลมานีย์ แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ
จุดที่ 4 : โรงเรียนวัดทรัพย์สโมสรนิกรเกษม แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพฯ
จุดที่ 5 : โรงเรียนนารีราษฎร์ประดิษฐ์ (วัดพระยาปลา) แขวงคลองสิบสอง เขตหนองจอก กรุงเทพฯ
จุดที่ 6 : ถนนคนเดินคลองลำไทร แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพฯ
สำหรับการจัดงานในวันนี้นอกจากจะมีการปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืดลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะแล้ว กรมประมงได้จัดพื้นที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมประมงให้คำแนะนำข้อมูลความรู้ทางด้านวิชาการไว้บริการให้แก่ประชาชนที่ร่วมงานสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับเกษตรกรชาวประมง เยาวชนและประชาชนในพื้นที่ เพื่อเป็นการปลูกสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นถิ่นของตนเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำสูงสุดด้วย” อธิบดีกรมประมง กล่าว
Written By
More from pp
“เฮยยิน” ขอแนะนำ 4 เมนูปูขนเลิศรส ในสไตล์ฮ่องกงแท้ โดยฝีมือเชฟชาวฮ่องกง
“เฮยยิน” ร้านอาหารจีนสไตล์กวางตุ้งขนานแท้ที่ผสมผสานความเป็นโมเดิร์นได้อย่างลงตัว ขอแนะนำความอร่อยจากปูขนที่ส่งตรงจากทะเลสาบหยางเฉินอู๋ เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งมีเนื้อแน่น มันปูสดและหวาน
Read More
0 replies on ““เฉลิมชัย” นำทีมปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืดในพื้นที่กรุงเทพฯ 6 จุด รวม 3 ล้านตัว ตั้งเป้าฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ สร้างรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่”