อย. ย้ำ !! ปรุงอาหารเมนูกัญชาไม่ผิด กม. จ่อปลดล็อกทำเครื่องสำอาง-ยา ใช้ภายนอก

ภายหลังจากที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ภายใต้การนำของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2563 ปลดล็อกส่วนของพืชกัญชา-กัญชง ประกอบด้วย เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก และใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย ให้พ้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดตามหลักความปลอดภัย

โดยประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 และได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการธุรกิจอย่างมากในการนำส่วนต่างๆ ที่ปลดล็อกแล้วไปใช้ประโยชน์ ต่อยอดธุรกิจและสร้างเศรษฐกิจของประเทศ

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทราบ ก่อนนำส่วนของพืชกัญชา-กัญชง ที่ได้รับการปลดล็อกแล้วไปใช้ในการปรุงอาหาร หรือเครื่องดื่ม ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ร้านค้า/ร้านอาหาร ที่นำส่วนประกอบของพืชกัญชาไปประกอบอาหาร เครื่องดื่มจำหน่าย จะต้องซื้อมาจากแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตจาก อย. เท่านั้น

อาทิ วิสาหกิจชุมชนที่ปลูกร่วมกับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งข้อมูลผู้ที่ได้รับอนุญาตปลูกกัญชาอย่างถูกกฎหมาย สามารถตรวจสอบได้ในเว็บไซต์ กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือที่ https://www.fda.moph.go.th/sites/Narcotics/Pages/Main.aspx เพื่อเป็นหลักฐานแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบว่า วัตดุดิบที่นำมาปรุงอาหารนั้น ได้รับการยืนยันมาจากแหล่งปลูกที่ถูกกฎหมาย

ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า เมื่อได้รับใบหรือส่วนของพืชกัญชาจากแหล่งที่ปลูกถูกต้องตามกฎหมายมาแล้ว สามารถนำมาปรุงใส่อาหารจำหน่ายที่ร้านได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจาก อย. อีก “เสมือนหนึ่งว่า ใบกัญชา เป็นวัตถุดิบอย่างหนึ่งในการประกอบอาหาร เพียงแต่ว่าจะต้องมีหลักฐานแสดงต่อเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจนเมื่อมีการตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรจะต้องระมัดระวัง คือ ใบกัญชาเองมีสารอื่นๆ เช่น สารเทอร์พีน (Terpene) ที่มีผลต่อความไวในการตอบสนองของมนุษย์ต่างกัน ฉะนั้น เมื่อนำมาปรุงอาหารขาย จะต้องมีความระมัดระวังความเข้มข้นของกัญชา ควรใส่ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป หรืออาจหลีกเลี่ยงสำหรับผู้บริโภคบางกลุ่ม เช่น โรคประจำตัว เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคหัวใจ” รองเลขาธิการ อย. กล่าว

ทั้งนี้ ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า โรงพยาบาล (รพ.) เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ก็มีความพยายามในการเผยแพร่เมนูอาหาร หรือ เครื่องดื่มจากพืชกัญชา-กัญชง ให้สำหรับผู้ที่สนใจ เช่น น้ำชาใบกัญชา ก็จะไม่ใช่การนำใบมาปั่นแล้วดื่มได้ทันที แต่จะมีส่วนประกอบอื่นด้วย อาทิ น้ำใบกัญชาผสมกับน้ำผึ้งและมะนาว เพื่อไม่ให้มีความเข้มข้นเกินไป ป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ในผู้ที่ไวต่อสารสกัดจากกัญชา

ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า สำหรับผู้ที่จะนำส่วนของพืชกัญชา ไปทำเป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์เพื่อการจำหน่ายที่ต้องผ่านการขอเลขจดแจ้งจาก อย. นั้น ในส่วนนี้จะต้องขออนุญาตซึ่ง อย. กำลังทยอยทำประกาศปลดล็อกการนำส่วนของพืชกัญชาไปใส่ในอาหารและผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น ขณะนี้ที่มีการปลดล็อกออกมาแล้วคือ การกำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ.2564 ปลดตำรับยากัญชาแผนไทย 5 ตำรับที่มีส่วนประกอบของใบ และกิ่งก้านกัญชาจากบัญชีตำรับยาเสพติดให้โทษ

ได้แก่ ยาศุขไสยาศน์ ยาแก้นอนไม่หลับ/ยาแก้ไข้ผอมเหลือง ยาแก้ลมแก้เส้น ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง และยาแก้โรคจิต โดยเปิดให้ภาคเอกชนสามารถยื่นขอผลิตยาดังกล่าวได้ที่กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร อย. ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป

“ส่วนต่อไปที่คาดว่าจะออกมาได้เร็วที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากกัญชา-กัญชง สมุนไพรที่ใช้ภายนอก เช่น ลูกประคบ ยาดม ยาหมอง ในสัปดาห์หน้าก็จะมีการปลดล็อกผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น น้ำมันและเมล็ดกัญชง ต่อไปก็จะปลดล็อกส่วนของใบ กิ่ง ก้าน เพื่อสามารถนำใส่ในเบเกอร์รีได้ และจะปลดล็อกสารซีบีดี (CBD) ในเครื่องดื่มต่อไป ซึ่งจะทยอยเป็นเฟสตามความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์” ภญ.สุภัทรา กล่าว

Written By
More from pp
กูร์เมต์ มาร์เก็ต และ กูร์เมต์ อีทส์ จัดงาน “VEGETARIAN FOOD FESTIVAL 2021” เปิดกรุตำนานอาหารเจ พร้อมคัดสรรวัตถุดิบเจ จากตลาดและร้านดัง
กูร์เมต์ มาร์เก็ต และ กูร์เมต์ อีทส์ ต้อนรับเทศกาลกินเจ จัดงาน “VEGETARIAN FOOD FESTIVAL 2021” เปิดกรุตำนานอาหารเจ...
Read More
0 replies on “อย. ย้ำ !! ปรุงอาหารเมนูกัญชาไม่ผิด กม. จ่อปลดล็อกทำเครื่องสำอาง-ยา ใช้ภายนอก”