ที่มา “วัคซีนพระราชทาน” -เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

ครับ….
กรณีศาลสั่งให้ธนาธรลบคลิปไลฟ์สด “วัคซีนพระราชทาน:ใครได้ ใครเสีย” ตามที่กระทรวงดีอีเอสร้องขอ ต่อมานายธนาธรร้องคัดค้าน นั้น
เมื่อวาน (๘ กพ.๖๔) ศาลมีคำสั่ง สรุป เพื่อความเข้าใจกันง่ายๆ ว่า
ธนาธร “ผู้คัดค้าน” ชนะ
กระทรวงดีอีเอส “ผู้ร้อง” แพ้!

ธนาธรไม่ต้องลบคลิปไลฟ์สดนั้น ไม่ต้องนำออกจากระบบคอมพิวเตอร์
ด้วยเหตุผลใดจึงเป็นเช่นนั้น ก่อนลงรายละเอียด ผมอยากบอกกับทุกท่านว่า
ทุกเรื่อง-ทุกคดีที่ศาลอาญาตัดสิน ก่อนที่ใครจะมีความคิดเห็นหรือวิพากษ์-วิจารณ์ ควรต้องอ่านคำตัดสินนั้นให้เข้าใจก่อน

อย่าพลันด่วนใช้ความรู้สึกและอารมณ์เป็นทัศนคติออกมาตอบสนองคำตัดสินของศาลเป็นอันขาด

ต้องเข้าใจให้ตรง……
อย่างเรื่องนี้ ต้องเข้าใจให้ชัด กระทรวงดีอีเอส ร้องว่าไลฟ์สดนั้น กระทบต่อความมั่นคง และคำว่าวัคซีนพระราชทาน เป็นการหมิ่นพระมหากษัตริย์
ให้ธนาธรลบคลิปและนำออกจากระบบคอมพิวเตอร์

ดีอีเอส ร้องให้ศาลพิจารณาในประเด็นนี้เท่านั้น
ไม่ได้ฟ้องให้ดำเนินคดีอาญาต่อธนาธรด้วยความผิดตามมาตรา ๑๑๒ แต่อย่างใด

ดังนั้น …..
การพิจารณาจะพิจารณาตามกรอบคำร้องเฉพาะ “ลบ-ไม่ลบ” เท่านั้น ไม่มีผลไปถึงธนาธร “ผิด-ไม่ผิด” มาตรา ๑๑๒
“ตั้งสติ-ตั้งใจ” ให้ตรง……

ผมจะนำสาระหลักในคำสั่งศาล ที่ MGR ออนไลน์เผยแพร่มาให้อ่านกัน ค่อยๆ อ่าน ทำความเข้าใจแต่ละประเด็นไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็นว่า

ทุกคำวินิจฉัย มีคำอธิบายเป็นที่มา-ที่ไป และมีตัวบทกฎหมายรองรับ บนฐานพยานหลักฐานตามที่โจทก์-จำเลยนำมาแสดงและหักล้างกันชัดเจน

และต้องเข้าใจ…..
ศาลอาญามีหน้าที่รับฟังทั้งสองฝ่าย แล้วพิเคราะห์เป็นคำตัดสินตามพยานหลักฐานที่โจทก์-จำเลยนำมาแสดงเท่านั้น

ฉะนั้น เรื่องนี้ ถ้าถามว่า ดีอีเอส แพ้เพราะอะไร?
ตอบได้เลย ส่วนหนึ่งเพราะ “ทนายผู้ร้อง” เหลี่ยมสู้ฝ่ายธนาธรไม่ได้ ไม่สามารถนำหลักฐานมาหักล้างข้อกล่าวหาของธนาธรได้

อ่านและศึกษากันดู เริ่มจากเหตุที่ศาลรับคำร้องคัดค้านของธนาธรไปเลย ดังนี้

-ศาลได้อ่านคำสั่งพิเคราะห์แล้ว คดีมีเหตุให้รับคำคัดค้านไว้พิจารณาหรือไม่ เห็นว่า
การออกคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลโดยชัดแจ้งและถาวร เมื่อสิ้นสุดกระบวนการแล้วไม่มีโอกาสให้ผู้ใดได้โต้แย้งอีกต่อไป

การอนุโลมใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ถูกต้องแก่คำร้องเช่นนี้ สมควรที่จะรับพิจารณาเสมือนหนึ่งเป็นคดีอาญาคดีหนึ่ง

ซึ่งต้องให้โอกาสคู่ความทุกฝ่ายได้ต่อสู้คดีเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้ การให้โอกาสดังกล่าว ยังเป็นหลักการสำคัญสำหรับการทำงานขององค์กรตุลาการตามหลักนิติธรรม

ดังนั้น สำหรับคดีนี้ …….
ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลในวันที่ 29 ม.ค. 2564 และศาลไต่สวนพยานผู้ร้องฝ่ายเดียว แล้วมีคำสั่งในทันที เป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ
จึงมีเหตุให้รับคำคัดค้านของผู้คัดค้านไว้เพื่อพิจารณา

-ประเด็นมีเหตุสมควรระงับการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์เรื่องนี้หรือไม่
เห็นว่า เมื่ออ่านถ้อยคำในมาตรา 14 (3) ซึ่งกำหนดความผิดสำหรับการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา นั้น

เห็นว่า ถ้อยคำที่ว่า “อันเป็นความผิด” แสดงว่ากฎหมายประสงค์จะลงโทษผู้ที่นำข้อมูลซึ่งได้มีการวินิจฉัยโดยชัดแจ้งแล้วว่าเป็นความผิดเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

ทั้งนี้ เจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อมิให้ความผิดตามมาตรา 14 (3) ซ้ำซ้อนกับกับความผิดประมวลกฎหมายอาญาที่มีโทษสูงกว่าอยู่แล้ว

ดังนั้น เมื่อยังไม่มีการฟ้องเกี่ยวกับข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามคำร้องนี้ให้รับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
จึงไม่มีกรณีต้องวินิจฉัยตามมาตรา 14(3) และไม่เข้าเหตุตามมาตรา 20 (1)

-มีข้อพิจารณาต่อไปว่า กรณีตามคำร้องจะเข้าเหตุตามตามมาตรา 20 (2) หรือไม่
สำหรับการพิจารณาในชั้นนี้ …….
ศาลพิจารณาเฉพาะตัวข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเฉพาะข้อมูลนั้นว่าอาจกระทบต่อความมั่นคงอันสืบเนื่องจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่

การวินิจฉัยคดีนี้ ……
จึงไม่เป็นการวินิจฉัยว่าผู้ใดจะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 หรือไม่
ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องและศาลที่มีเขตอำนาจจักได้พิจารณาต่างหากไป
และเมื่อมีคำพิพากษาให้บุคคลรับผิดทางอาญาแล้ว จึงมีผลให้ศาลอาจสั่งระงับ

-คดีมีข้อพิจารณาคำว่า อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร มีความหมายเพียงไร
สมควรต้องแปลความ โดยพิจารณากรอบของรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ซึ่งบัญญัติบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ย่อมมีความหมายว่า การห้ามหรือระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลเป็นข้อยกเว้น การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จะทำได้เมื่อมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดและเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองประโยชน์อันชอบธรรมของรัฐ และการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ต้องได้สัดส่วนกับความจำเป็น
จึงต้องตีความอย่างเคร่งครัดและเป็นภาวะวิสัย การพิจารณาว่า

ข้อความใดจะเป็นข้อความที่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะต้องพิจารณาจากข้อความทั้งหมด มิใช่พิจารณาเฉพาะตอนหนึ่งตอนใด
จากข้อความที่ผู้คัดค้านนำเสนอนั้น
เนื้อหาเกือบทั้งหมดมุ่งเน้นในเรื่องการกล่าวหารัฐบาลว่า บกพร่องในการจัดหาวัคซีน โดยมีการนำข้อมูลหลายอย่างมาสนับสนุน
ซึ่งมีการบรรยายถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องหลายบริษัท รวมทั้งกล่าวถึงผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นด้วย

ข้อมูลที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่ระบุเกี่ยวกับการถือหุ้นเป็นเพียงข้อมูลส่วนน้อยและไม่ใช่ประเด็นหลักของการนำเสนอ

เมื่อพิจารณาถึงข้อความที่กล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะเจาะจง

-ในส่วนแรก เป็นการกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด

ซึ่งความข้อนี้ ผู้คัดค้านนำสืบบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเอกสารราชการและผู้ร้องไม่ได้คัดค้าน จึงฟังว่าเป็นความจริง
ข้อเท็จจริงเพียงว่า ……

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือหุ้นบริษัทดังกล่าว มิได้ทำให้เสื่อมเสีย ถูกดูหมิ่น หรือเกลียดชัง หรือไม่เป็นที่เคารพสักการะแต่อย่างใด

-สำหรับในส่วนที่สอง เป็นส่วนเสริมจากข้อมูลส่วนใหญ่ของการนำเสนอที่กล่าวหารัฐบาลว่าผิดพลาดในการให้วัคซีนเกือบทั้งหมดถูกผลิตในบริษัทเดียว

การกล่าวอ้างถึงคำถามต่อประชาชนต่อสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งอาจกระทบต่อสถาบันฯ นั้น
ไม่ได้มีลักษณะเป็นการชักชวนให้ประชาชนกล่าวโทษ แต่โดยลักษณะของข้อความที่สืบเนื่องกันมา มีลักษณะเป็นการกล่าวหา ว่า

การกระทำของรัฐบาลจะกระทบถึงสถาบันฯ เพื่อให้คนฟังรู้สึกว่า ความบกพร่องของรัฐบาลเป็นเรื่องร้ายแรง
ด้วยลักษณะของการนำมาอ้างเพื่อให้รัฐบาลรับผิดชอบมากขึ้น จึงไม่ได้มีการกล่าวถึงกรรมการผู้จัดการของบริษัท เพราะไม่ได้มุ่งเน้นความรับผิดของบริษัท
คดีนี้ มิใช่การพิจารณาความผิดของผู้คัดค้าน

และจักต้องพิจารณาอย่างเคร่งครัด คือข้อความที่สมควรถูกห้ามนั้น ต้องมีความชัดแจ้งที่จะเป็นความผิด

ซึ่งเมื่อพิจารณาแต่เฉพาะถ้อยคำตามตัวอักษรข้อความที่ผู้คัดค้านกล่าวสืบเนื่องมาทั้งหมดของเรื่องนี้
ยังไม่สามารถเห็นได้อย่างกระจ่างชัดเจน ว่าจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังสถาบันแต่อย่างใด

-ในส่วนการนำเสนอของผู้คัดค้าน มีข้อความหัวเรื่องว่า “วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย”
ผู้คัดค้านอ้างว่า เป็นคำพูดที่นายกรัฐมนตรีเคยพูดทำนองนี้ และหน่วยงานของรัฐบาลเคยใช้คำนี้

ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ผู้ร้องมิได้โต้
ข้อเท็จจริง จึงฟังข้อเท็จจริงได้ตามที่ผู้คัดค้านนำสืบ ทั้งนี้ แม้ว่าถ้อยคำอาจไม่ตรงกันทั้งหมด
แต่น่าจะแสดงว่า ก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลได้มีการใช้ถ้อยคำที่แสดงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประกอบการจัดหาวัคซีนแล้ว
การที่ผู้คัดค้านนำข้อความดังกล่าวมานำเสนอ จึงมิใช่ความเท็จ

และลำพังข้อความดังกล่าว หากมิใช่ความเท็จ ก็ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระองค์ จึงไม่ใช่การใส่ความ

เมื่อพิจารณาข้อความทั้งหมดแล้ว ……..
แม้ว่าผู้คัดค้านจะบรรยายว่า องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด
แต่ก็มิได้มีข้อความใด ที่แสดงให้เห็นชัดเจนเป็นการกล่าวหา หรือตำหนิติเตียน หรือกล่าวให้สงสัยในความสุจริตต่อพระองค์ไม่ว่าในทางใดๆ

จึงไม่มีลักษณะชัดเจนและเห็นได้ในทางภาวะวิสัยที่แสดงว่าข้อความนี้อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันจะเป็นเหตุให้ศาลสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด

ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาตั้งแต่การไต่สวนและมีคำสั่งของศาล ซึ่งย่อมมีผลให้คำสั่งศาลในวันที่ 29 ม.ค. 2564 เป็นอันสิ้นผล และมีคำสั่งยกคำร้อง

ครับ….
อ่านโดยทำความเข้าใจแต่ละประเด็น จะเห็นว่าเรื่องนี้ ศาลแยกแยะเป็นขั้นตอนชัดเจน

ที่ธนาธรอ้าง “วัคซีนพระราชทาน” เป็นคำพูดนายกฯและศาลบอก “ไม่ใช่ความเท็จ” นั้น เพราะอะไร?

เหตุหนึ่ง เพราะ “ทนายดีอีเอส” นั่งเฉย ทั้งไม่โต้
ทั้งไม่มีพยานหลักฐานมาหักล้างข้ออ้างธนาธรเลย
ถ้าจะวังเวง “ทีมทนายดีอีเอส” นี่แหละ วังเวง!

Written By
More from plew
“มาฆบูชา” กับ “อโสโก ภิกขุ” – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน วันนี้….. พุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ตรงกับวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์...
Read More
0 replies on “ที่มา “วัคซีนพระราชทาน” -เปลว สีเงิน”