เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ที่ห้องแถลงข่าวคณะก้าวหน้า นางสาวพรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า แถลงข่าว “เปิดวงจรอุบาทว์ไอโอ ผู้มูฟออนเป็นวงกลม” เปิดโปงรายละเอียดข้อมูลการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) ของกองทัพและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมตอบโต้การแถลงข่าวของกองทัพบกเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมาโดยนางสาวพรรณิการ์กล่าวว่าเป็นเวลาเกือบ 1 ปีมาแล้ว ที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เปิดโปงขบวนการ IO ของกองทัพในสภาผู้แทนราษฎร
เกือบ 1 ปีผ่านไปแทนที่เราจะได้เห็นกองทัพยุติปฏิบัติการกลับไปทำภารกิจหลัก แต่เรากลับเห็นการ “มูฟอออนเป็นวงกลม” ในตลอด 1 ปีที่ผ่านมา โดยมีวิวัฒนาการที่ตกต่ำกว่าเดิม ทำปฏิบัติการ IO ที่ด้อยประสิทธิภาพให้ประชาชนจับผิดได้บ่อยครั้ง โดยผลิตความรักและความเกลียดจอมปลอมดังเดิม
จากกรณีข่าวนักคอมพิวเตอร์จับผิดปฏิบัติการ IO เปิดเผยเอกสาร 25 หน้าของกองทัพ พร้อมระบุว่าเป็นข้อมูลที่ใช้อบรมปฏิบัติการ IO แม้ภายหลังกองทัพจะออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่ปฏิบัติการ IO แต่ยอมรับว่าเป็นเอกสารของกองทัพจริง
เอกสารทั้ง 25 หน้านั้นบอกอะไรกับเราบ้าง ถ้าอ่านอย่างตั้งใจจะพบว่านี่คือปฏิบัติการที่เป็นแบบแผนทางการทหารอย่างชัดเจน เป็นระบบปฏิบัติการที่แบ่งเป็นสองฝ่าย คือ “ฝ่ายขาว” และ “ฝ่ายดำ” โดยมีผู้ควบคุมอยู่ที่ศูนย์กลาง ฝ่ายขาวเผยแพร่ข้อมูลเทิดทูนสถาบัน แสดงความจงรักภักดี ประชาสัมพันธ์ด้านบวกกองทัพ ส่วนฝ่ายดำตอบโต้ ด้อยค่า สร้างมลทิน “ฝตข.” (ฝ่ายตรงข้าม) ซึ่งระบุชัดเจนว่าคือคณะราษฎร คณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกล และผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
เครื่องมือในการปฏิบัติการคือสิ่งที่เรียกว่า Twitter Broadcast ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นทำหน้าที่ปั่น hashtag Twitter หลายข้อความได้ในเวลาเดียวกัน ทั้งสีขาวและสีดำ โดยการ follow และ retweet กันและกันเองไปมา สิ่งที่เกิดขึ้นคือปรากฏข้อมูลชุดหนึ่งจนเป็นกระแสขึ้นมาใน Twitter ซึ่งเป็นการถักทอความจริงขึ้นมาโดยจงใจ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นความเท็จ
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการ ก็คือรายชื่อของผู้ที่อยู่ในปฏิบัติการ เฉพาะ พล.ร.2 รอ. (บูรพาพยัคฆ์) ที่ปราจีนบุรีแห่งเดียว มีบัญชีปฏิบัติการถึง 17,562 บัญชี แต่ทว่าหากนับทั้งหมด 19 หน่วยงาน จะพบว่ามีถึง 54,800 บัญชี ทำให้เราไม่แปลกใจเลยว่าเหตุใดจึงมี trend อะไรแปลกๆ เกิดขึ้นมาบ่อยครั้งในระยะที่ผ่านมา
ระบบปฏิบัติการ IO นี้ยังแบ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติการกับฝ่ายสนับสนุน โดยฝ่ายปฏิบัติการแบ่งเป็น ซ.1 ผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นฝึกการใช้งาน, ซ.2 ผู้ที่ใช้งานเป็นบ้างแล้ว ทำการเข้าไปกดรีtweet กดหัวใจ กดติดตาม และ ซ.3 ทำหน้าที่ทวีตข้อความ rich content ที่มีเนื้อหาสาระในทางที่ได้รับคำสั่งมาพร้อมกับรูปประกอบ
นอกจากนี้ ในหมวด ซ.3 ยังแบ่งออกเป็น ซ.3.1 ที่เน้นการสร้างผู้ติดตามให้มากที่สุด โดยทั่วไปมักจะมี follower หลายร้อยคน เป็นผู้ปล่อยข้อมูลชุดสีขาว เป็นนักเล่าเรื่องผลิตเนื้อหาเชิงบวกเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับกองทัพและสถาบันพระมหากษัตริย์ และ ซ.3.2 ที่เป็นผู้ปล่อยข้อมูลชุดสีเทาและสีดำ แพร่ข้อมูลด้อยค่าฝ่ายตรงข้าม โดยมีเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูล ค้นเพิ่ม หาภาพและข้อมูลมาประกอบ
จากนั้นนางสาสพรรณิการ์จึงได้ขึ้นหน้าจอไสลด์ปล่อย qr code ที่รวบรวมรายชื่อบุคคลในชุดปฏิบัติการของกองทัพกลุ่มหนึ่ง พร้อมระบุว่าเมื่อเข้าไปตรวจสอบแล้ว พบว่ามีอย่างน้อยที่สุด 600 บัญชีเป็นทหาร ที่มีตำแหน่ง ยศ และหน่วยงานที่ชัดเจน
บัญชีต่างๆ เหล่านี้ มีพฤติกรรมที่สรุปง่ายๆ ได้ว่า เพิ่งจะเปิดบัญชี Twitter เมื่อสามเดือนนี่ผ่านมา ทวีตข้อความซ้ำซากเป็นจำนวนมาก ติด hashtag พร้อมๆ กันในห้วงเวลาเดียวกัน ติดตามกันและกันเองในวงแคบๆ แต่มีหลายคน บางครั้งทวีตแปลกๆ ไม่เป็นธรรมชาติ ทำให้ถูกจับผิดได้บ่อย บางคนเปิดหน้าเป็นทหารชัดเจน แต่ส่วนใหญ่ใช้รูปหมาแมวหรือดาราเกาหลีเป็นโปรไฟล์แทน
ยกตัวอย่าง “เฮียตือหนามเป้า” ที่ใช้ชื่อแอคเคาท์ว่า “ทัน มาลัยทอง” @Thunmalaithong ซึ่งเป็นชื่อ-นามสกุลจริงของเจ้าตัว เป็นหนึ่งในรายชื่อ IO ข้างต้น ตัวจริงคือ พ.ท.ธรรม์ มาลัยทอง สังกัด พล.ม.2 รอ. ในแต่ละวันทวีตพร้อมติด hashtag จำนวนมาก ซึ่งแม้ดูเหมือนไม่มีอะไรผิดปกติ คนธรรมดาทั่วไปก็ทวีตอะไรแบบนี้ได้ แต่ความผิดปกติที่เกิดขึ้น ก็คือมีการแสดงความจงรักภักดีด้วยข้อความเดียวกันเป็นพันๆ ข้อความเกิดขึ้น ใช้ภาพเดียวกัน ข้อความเดียวกันทุกตัวอักษรเกิดขึ้นตามมาจากหลายพันบัญชีบน Twitter แบบเดียวกับของ พ.ท.ธรรม์ฝ
“ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเราเห็น hashtag แปลกๆ อยู่ดีๆ ก็ขึ้นมาเต็มไปหมดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ก่อนสามเดือนไม่มีปรากฏการณ์แบบนี้ มีอยู่ช่วงหนึ่งเกิด hashtag เป็นรหัส เช่น #1200z11, #B111900 เราเข้าใจเองเองว่านี่คงเป็นรหัสที่ใช้ในการสื่อสารกันและในการตรวจงาน คงไม่มีใครในโลกนี้ติด hashtag เป็นรหัส และนี่ก็คือโฉมหน้าของปฏิบัติการ IO ของกองทัพ” พรรณิการ์กล่าว
นางสาวพรรณิการ์กล่าวต่อไปอีก ว่าการมูฟออนเป็นวงกลมครั้งนี้ยังมีสิ่งแปลกใหม่เกิดขึ้นมาอีก นั่นคือตอนที่นักคอมพิวเตอร์จับผิดปฏิบัติการ IO ของกองทัพได้ มีการจับผิดผ่านสองแอปพลิเคชัน คือ Twitter Broadcast และ Free Messenger โดยเมื่อนักคอมพิวเตอร์ท่านนั้นลองไปสืบค้นเพิ่มเติม ก็พบว่าผู้ที่เเผยแพร่แอปดังกล่าว คือคนที่ชื่อว่าวิมกริช วงศ์วิเศษศิริ และยังเป็นเลขาธิการโครงการคืนคุณแผ่นดินด้วย
ทั้งสองแอปใช้ server เดียวกันกับแอป M-Help Me ซึ่งเป็น แอปเกี่ยวกับการช่วยเหลือและข้อมูลจราจร โดย Mhelpme.com เป็นโดเมนเนมที่เป็นของบริษัท S-Planet ที่มีผู้บริหารคือ นายชินนริทธิ์ โชติสุริยพงศ์ ที่เป็นวิทยากรอบรมจิตอาสา 904 ด้วย ทั้งสองคนอยู่ภายใต้นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก นักธุรกิจที่โด่งดังขึ้นมาในช่วงเวลาเพียง 3 ปี เป็นเจ้าของ M Group ที่เป็นผู้ทำ application M-Help Me แล้วยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลายน่าสนใจ ลงเรียนหลักสูตรของจิตอาสาพระราชทาน เป็นผู้ถวายผ้ากฐินพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับเกียรติเข้าไปบรรยายหลักสูตรพิเศษ อบรมการใช้โซเชียลของโรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน 904 เข้านอกออกในกองทัพ มีภาพคู่กับผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ อย่างสนิทสนม เข้าไปจัดหลักสูตรอบรมวิธี boost post วิธีจัดการ Twitter ต่างๆ
นายประสิทธิ์เป็นนักธุรกิจธรรมดาหรือไม่? เหตุใดจึงอยู่ดีๆ เข้านอกออกในกองทัพ มีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาได้ เมื่อเราลองไปสืบค้นดูจะพบว่านายประสิทธิ์เพิ่งจะมีการสร้างตัวตนเกิดขึ้นมาในช่วงเวลาเพียง 3 ปีที่ผ่านมานี้เอง ผ่านการออกรายการต่างๆมากมาย มีการอวดอ้างว่าจะยิ่งใหญ่กว่า Google ให้ได้ และตัวเขาเองมีทรัพย์สินกว่า 5 พันล้านบาท
และเมื่อสืบค้นลงไปอีก จะพบว่าบริษัท M Group ของนายประสิทธิ์มีบริษัทในเครือถึง 20 บริษัท ฟังดูก็น่าจะรวยถึง 5 พันล้านบาทได้ แต่เมื่อไปตรวจสอบการเงินของบริษัทในเครือของนายประสิทธิ์ทั้งหมด จะพบว่า 18 จาก 20 บริษัทขาดทุนสะสม หลายบริษัทล้มละลายทางบัญชี มีหนี้สินเกินทุน ยกตัวอย่างเช่น S-Planet ขาดทุนสะสมกว่า 4.9 ล้านบาท, เว็บ สวัสดี จำกัด ขาดทุนสะสมกว่า 245 ล้านบาท, บริษัท มัณดาวีต์ จำกัด ขาดทุนสะสมกว่า 6 ล้านบาท เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัทในเครือของประสิทธิ์ยังเคยถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เตือนไม่ให้ขายหุ้นกู้ให้กับประชาชนในลักษณะที่เคยทำ สุดท้ายเมื่อไม่เชื่อฟังจึงถูกปรับโดย กลต. เป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท
“นี่ก็คือผู้ที่เข้ามามีส่วนในปฏิบัติการ IO ที่เราพูดถึงไปเมื่อสักครู่นี้ เขาจะเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จหรือไม่ ร่ำรวย 5 พันล้านจริงหรือไม่ ก็ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน เขาเหมาะสมที่จะเข้ามาร่วมมือกับกองทัพแบบ PPP ในปฏิบัติการ IO เป็นตัวเลือกที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ในการทำงานให้กับกองทัพเรื่องนี้ ก็คงเป็นสิ่งที่ทุกท่านสาารถคิดได้”
นางสาวพรรณิการ์ยังกล่าวต่อไป ว่าส่วนที่กองทัพบก ได้มีการออกแถลงการณ์ยืนยันว่าเอกสารทั้ง 25 หน้าเป็นการสอนเพื่อพัฒนาการสื่อสารออนไลน์แอปพลิเคชันที่ใช้ก็เป็น free software ที่ใครๆ ก็ใช้ได้ แต่อย่าลืมว่าทั้งสองแอปพลิเคชันเกาะใช้เซิร์ฟเวอร์ของนายประสิทธิ์ ที่เขียนขึ้นมาโดยคนของนายประสิทธิ์ และใช้ในปฏิบัติการของจิตอาสา 904 เป็นแอปพลิเคชันที่ต้องมีรหัสการเข้าใช้ ใช้ได้แต่เฉพาะคนภายในที่มีรหัสเท่านั้น
และยังเป็นแอปพลิเคชัน ที่ป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลผ่านการแคปหน้าจอด้วย (ถ้าลูกน้องแคปหน้าจอ ระบบจะแจ้งเตือนไปที่หัวหน้าทันที) ที่สำคัญแอปพลิเคชันทั้งสองถูกดึงออกจาก Google Playstore และ App Store ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากถูกเปิดโปง ทำให้เป็นที่น่าสงสัยว่าสิ่งที่กองทัพออกมาแถลงนั้น ไม่ใช่ความจริง
นอกจากนี้ กองทัพบกยังบอกว่าเนื้อหาที่ลงเหล่านั้น เป็นการประชาสัมพันธ์เชิงบวก เป็นภารกิจของกองทัพบกปกติ ไม่ได้มีลักษณะของการดำเนินการให้เกิดความสูญเสียหรือผลกระทบต่อส่วนรวม แต่จริงหรือไม่ไม่เราได้ควรดูที่แถลงการณ์ แต่ต้องดูที่พฤติกรรม ว่าเต็มไปด้วยการเผยแพร่ข้อมูลด้อยค่าผู้ประท้วงเต็มไปหมด
นอกจากนี้ เรายังเห็นได้ว่ามีภาพที่ปรากฏออกมาในช่วงเวลาเดียวกัน ว่ามีการบังคับให้ทหารเกณฑ์ใช้โทรศัพท์ทำ IO เป็นกลุ่ม ซึ่งแม้กองทัพบกจะออกมาชี้แจงว่าเป็นข่าวปลอม เป็นรูปทหารใหม่ใช้โทรศัพท์ติดต่อกลับบ้านเท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว คำแถลงของกองทัพต่างหากคือการบิดเบือน เมื่อดูหน้าจอโทรศัพท์ทั้งหมดที่ทหารถืออยู่ในภาพ ล้วนแต่เป็น interface ของ Twitter ทั้งสิ้น คำถามก็คือเวลาทหารใหม่ติดต่อที่บ้านพวกเขาติดต่อผ่าน Twitter อย่างนั้นหรือ?
“นี่คือภาพที่น่าเศร้า ทหารเกณฑ์เหล่านี้ถูกบังคับให้อยู่ในปฏิบัติการเผยแพร่ความรักโดยถูกบังคับ เผยแพร่ความเกลียดก็โดยถูกบังคับ ทั้งหมดทำไปโดยใช้ภาษีของประชาชน ทั้งหมดโดยใช้ทรัพยากรหลวง เวลาหลวง เวลาซึ่งควรจะเอาไปทำภารกิจหลักของกองทัพ ภารกิจปกป้องประชาชน ปกป้องประเทศชาติจากศัตรูภายนอก ไม่ใช่เอามารบกับประชาชนในโลกออนไลน์”
ถ้าใครยังไม่ปักใจเชื่อว่ากองทัพบกมีปฏิบัติการ IO โจมตีประชาชน ก็ขอให้ดูจากสิ่งที่ทวิตเตอร์ทำโดยตนเอง นั่นคือเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมาทวิตเตอร์ได้ประกาศแบนบัญชีไอโอ กว่า 926 บัญชีที่ตรวจสอบพบว่ามีความยึดโยงกับกองทัพบก เมื่อวานนี้ทวิตเตอร์ก็ยังสั่งระงับบัญชีทางการของโรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน ด้วยข้อหาเป็น spam และ platform manipulation ที่ทำให้เกิดกระแสบิดเบือนข้อเท็จจริงในทวิตเตอร์ซึ่งทำให้เห็นชัดเจนว่าพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนแต่ไม่ได้ทำไปโดยบริสุทธิ์ใจอย่างที่กองทัพบกแถลงอ้าง
คำถามคือเงินกี่แสนล้านบาทแล้วที่เราเสียให้กระทรวงกลาโหม เวลากี่หมื่นชั่วโมงแล้วที่เราต้องเสียไปให้ทหารมากดโทรศัพท์รบกับประชาชนในประเทศตัวเอง เราพยายามอย่างยิ่งที่จะหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ สามครั้งที่เราในนามคณะกรรมาธิการถาม ผบ.ทบ. โดยตรง ทุกครั้งล้วนมีการปฏิเสธว่าไม่ได้มีปฏิบัติการ IO ของกองทัพบกดำรงอยู่
ทั้งหมดนี้เราพูดออกมาโดยหวังว่ากองทัพบกจะหยุดพฤติกรรมโกหกประชาชน เอาเวลาที่ควรจะใช้ในการรับใช้ประชาชนมารบกับประชาชน หยุดพฤติกรรมแบบนี้แล้วกลับไปทำภารกิจหลักของกองทัพ ในการดูแลความมั่นคง ปกป้องประชาชนเสียจะดีกว่า
“ถ้าท่านยังไม่หยุดโกหกเพื่อปกปิดความจริง เราก็จะไม่หยุดพูดความจริง จนกว่ากองทัพจะกลายเป็นกองทัพที่รับใช้ประชาชน จนกว่ากองทัพจะกลายเป็นกองทัพที่เป็นประชาธิปไตย และรบกับศัตรูของประชาชน แทนที่จะรบราฆ่าฟันกับประชาชนของตัวเอง ทั้งในโลกออนไลน์และในสถานที่ชุมนุม วันนี้เรากลับมาพูดถึงการมูฟออนเป็นวงกลม ภายในเวลาสองปีเราต้องพูดถึงเรื่องนี้ถึงสองครั้ง ขอร้อง อย่าให้มีครั้งต่อไป อย่าให้มีอีกเลยที่เราต้องมานั่งเปิดโปงข้อมูลแบบนี้ ว่ากองทัพยังคงทำผิดซ้ำซาก ขอร้องว่าเราไม่อยากใช้ทรัพยากรของเราไปติดตามเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชนแบบนี้ หวังว่าปีหน้าจะไม่ต้องเจอกัน แต่ถ้าท่านยังไม่หยุดเราก็พร้อมที่จะเจอ” นางสาวพรรณิการ์กล่าวทิ้งท้าย