เราไม่ได้แย่ขนาดนั้น- ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

      ใครที่ขัดข้องใจคิดว่าไทยล้มเหลวในการสู้กับโควิด ลองเงยหน้าดูโลก

            แล้วอ่านโลกให้เข้าใจ

            เข้าใจโลกแล้วจะเข้าใจไทย

            มันจะได้หายหงุดหงิด 

            ส่วนฝ่ายการเมือง คงต้องปล่อยไป เพราะอะไรที่ไม่ใช่กูคือความผิดพลาด!

            เอาไว้เดือนสิงหา-กันยาไปแล้ว ใครยังบ่นเรื่องทำไมฉีดวัคซีนช้า ดูเพื่อนบ้านซิฉีดกันไปถึงไหนแล้ว คนพวกนี้ต้องจับมาผ่าสมองพิสูจน์กันหน่อยว่า

            สมองประกอบด้วยอะไรมั่ง!

            มาเริ่มกัน….

            วานนี้ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  แถลงข่าวว่า “การฉีดวัคซีน คือเครื่องมือในการจัดการกับการแพร่ระบาดจะเห็นผลเมื่อฉีดประชากรอย่างน้อยร้อยละ  ๒๕”

            ตัวเลข ณ วันที่ ๒๖ เมษายน ประเทศไทยฉีดวัคซีนแล้ว ๑,๒๒๗,๐๓๒ โดส

            ยังห่างร้อยละ ๒๕ อยู่ไกลโข

            ประเทศที่ฉีดในเปอร์เซ็นต์เยอะๆ เกือบทั้งหมดคือประเทศผู้ผลิตและฐานผลิตวัคซีน

            แต่ก็ใช่ว่าประเทศที่เป็นฐานผลิตทุกประเทศจะฉีดวัคซีนในเปอร์เซ็นต์ที่สูงแล้ว เช่นไทย หรือแม้กระทั่งอินเดีย

            ไทยจะคล้ายๆ กับออสเตรเลีย ในเคสที่เป็นฐานผลิตวัคซีนของ AstraZeneca เหมือนกัน แต่ไทยจะฉีดวัคซีนเร็วกว่าเพราะเราเริ่มเดือนมิถุนายน ส่วนออสเตรเลียจะเริ่มเดือนตุลาคม

            เงื่อนเวลาช้าเร็วกว่ากันเป็นเรื่องของขั้นตอนเตรียมการและการผลิตวัคซีน

            กระทรวงสาธารณสุข วางไทม์ไลน์การฉีดวัคซีน AstraZeneca จำนวน ๖๑ ล้านโดสในแต่ละเดือนไปจนถึงสิ้นปีมีดังนี้

            มิถุนายน ๖ ล้านโดส

            กรกฎาคม ๑๐ ล้านโดส

            สิงหาคม ๑๐ ล้านโดส

            กันยายน ๑๐ ล้านโดส

            ตุลาคม ๑๐ ล้านโดส

            พฤศจิกายน ๑๐ ล้านโดส

            และธันวาคม ๕  ล้านโดส

            บวกกับที่ฉีดมาแล้วและจะฉีดในเดือนพฤษภาคม ตัวเลขกลมๆ สิ้นปีจะอยู่ที่ ๖๒ ล้านกว่าโดส เท่ากับจำนวนประชากร ๓๑ ล้านคน

            แต่รัฐบาลประกาศจะฉีดให้ได้ ๕๐ ล้านคน จากวัคซีนที่จัดหาเพิ่มเติมอีก

            ถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่

            ก็อย่างที่ทราบกันเฉพาะ AstraZeneca ก็ปาเข้าไป ๖๑  ล้านโดสแล้ว

            สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นผลมาจากไทยเป็นฐานการผลิต

            กรณีนี้อยากให้ดูอินเดียเป็นตัวอย่าง

            หลังจากอินเดียกลับมาระบาดอีกระลอก และหนักหน่วงที่สุดในโลก หลายประเทศที่สั่งซื้อวัคซีน AstraZeneca  จากโรงงานในอินเดีย ถูกระงับการขาย และคืนเงิน เนื่องจากอินเดียเลิกส่งออก

            นำวัคซีนที่ผลิตได้ทั้งหมดฉีดให้พลเมืองของตัวเอง

            และแน่นอนกระทบกับโครงการโคแวกซ์ ขององค์การอนามัยโลก

            ทำให้เวลานี้โคแวกซ์ ขาดแคลนวัคซีนอย่างรุนแรง

            การปันส่วนวัคซีน ส่งผลกระทบไปถึงประเทศยากจน โดยตรง

            โดยเฉพาะประเทศในแอฟริกา

            ขณะที่ประเทศร่ำรวยบางประเทศวัคซีนล้น และมีแต่คำคุยโม้ว่าจะบริจาคเงินให้โคแวกซ์ เพื่อช่วยเหลือประเทศที่ขาดโอกาส

            แต่…อเมริกามีวัคซีนล้น ๓๐๐ ล้านโดสจนถึงเดือนกรกฎาคม

            อเมริกาไม่เคยคิดยื่นมือช่วยเหลืออินเดีย มีแต่รัสเซียที่เข้าไป

            ขณะที่สถานการณ์โควิดโลกกับความต้องการวัคซีนจนถึงสิ้นปีน่าจะอยู่ในขั้นวิกฤติ

            แต่ที่สำคัญ ไทยจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เป็นผลมาจากการบริหารจัดการวัคซีนที่ถูกต้องตั้งแต่แรก คือการเป็นฐานผลิต

            ฉะนั้นเมื่อพูดเรื่องวัคซีนจึงอยากให้มองระยะยาว

            เสียงบ่น เสียงด่า ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า บริหารจัดการวัคซีนผิดพลาด ผูกขาด ล้าหลังกว่าประเทศอื่น ต้องเปลี่ยนรัฐบาลด่วน

            อีก ๓-๔ เดือนเสียงบ่นเหล่านี้จะหมดไป

            อาจบ่นกันเรื่องอื่นๆ ก็เป็นธรรมดาของมนุษย์

            มีบทสัมภาษณ์ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เมื่อปีที่แล้ว แต่ยังเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน

เราไม่ได้แย่ขนาดนี้ มีเพลงหนึ่งที่ผมชอบมาก ชื่อเพลง  Street of London เป็นเพลงที่แต่งเมื่อ ๔๐-๕๐ ปีมาแล้ว คนร้องชื่อ Ralph McTell

                “เขาบอกว่า ถ้าเกิดคุณมีความรู้สึกว่า คุณหนาว คุณโดดเดี่ยว คุณกำลังพ่ายแพ้ คุณกำลังแย่

                ผมจะพาคุณไปเดินบนถนนที่ลอนดอน

                และคุณจะเห็นสภาพของคนอื่นที่เขาแย่กว่าคุณขนาดไหน

                แล้วจะทำให้คุณรู้สึกว่าคุณไม่ได้แย่ขนาดนั้นเลย”

            ครับ…ไทยไม่ได้แย่เหมือนที่คนบางกลุ่มพยายามประโคมกัน

            แน่นอนว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อระลอก ๓ อยู่ในหลัก ๒ พันมาหลายวัน

            ผู้เสียชีวิตหลักสิบทุกวัน

            ด้วยความเคารพผู้สูญเสีย แต่อยากให้คนที่เอาแต่ก่นด่าได้ตระหนักว่า ถ้าโลกนี้เต็มไปด้วยการด่าทอไม่พอใจเพราะความเป็น “คนละพวก” ประเทศจะเสียเวลาไปกับเรื่องที่ไม่ควรจะเสียไป

            เดอะการ์เดียนรายงานว่า บังกลาเทศ ประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีนอย่างรุนแรง มีเพียงพอฉีดให้ประชาชนเพียง ๑ สัปดาห์เท่านั้น หลังจากนั้นยังไม่มีความหวังใดๆ เลย

            โดยเฉพาะวัคซีนจากโครงการโคแวกซ์

            กัมพูชากำลังเผชิญกับช่วงยากลำบาก มีผู้ติดเชื้อทะลุหมื่นคนไปแล้ว เสียชีวิตเกือบร้อย

            โชคดีที่ได้รับวัคซีนจากการบริจาคจากจีนเป็นหลัก แต่ก็จำกัดจำเขี่ย มองไปข้างหน้า ๑-๒ เดือนจะลำบากกว่านี้

            ๙๒ ประเทศที่อยู่ในโครงการโคแวกซ์ อาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายแจกวัคซีนให้ประชาชนถึงระดับ ๒๐% ของประชากรภายในสิ้นปีนี้

            และไม่ถึง ๖๐% ของประชากรประเทศได้ภายในปี  ๒๕๖๖

            ขณะที่ไทยมองไปข้างหน้า เราไม่ได้สิ้นหวัง

            ถ้าเปรียบกับการเดินในทะเลทราย ซึ่งมันยากลำบาก  แต่เราเดินใกล้โอเอซิสเข้าไปทุกทีแล้ว เหลืออีกไม่กี่ก้าวทุกคนจะได้พักกินน้ำกินท่า หาพืชผักปรุงอาหาร เก็บเป็นเสบียงไว้เดินทางต่อ

            และระหว่างทางเรามี โอเอซิส ให้แวะเป็นระยะๆ

            เรามีแรงเดินต่อจนกว่าโลกจะพ้นภัยโควิด. 

Written By
More from pp
“มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ออนไลน์” สุดปัง! คลังขยายเวลาถึง 31 ม.ค.66 ลงทะเบียนแล้ว 1.2 แสนคน แก้หนี้หลากหลายกับ 60 สถาบันการเงิน
20 พฤศจิกายน 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข...
Read More
0 replies on “เราไม่ได้แย่ขนาดนั้น- ผักกาดหอม”