24 ตุลาคม 2563 ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทย และทีมเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้ง เปรียบเสมือนการซุกปัญหาไว้ใต้พรมมานานนับ 6 ปี จนถึงวันนี้ไม่สามารถปิดปัญหาได้อีก ถือเป็น 6 ปีที่สูญเปล่า
รัฐบาลเลือกที่จะกลบวิกฤติการเมืองด้วยการสร้างวิกฤติการเมืองที่ใหญ่กว่า จากรัฐธรรมนูญบิดเบี้ยวที่พันธนาการสังคมไทย ซ้ำยังผลิตซ้ำแนวคิดที่ว่ารัฐบาลมาด้วยความถูกต้อง จึงเป็นแรงกดดันที่ได้ปะทุออกมา เป็นวิกฤติการเมืองที่ต้องจารึกในประวัติศาสตร์ชาติไทย
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านโครงสร้างเศรษฐกิจที่อ่อนแอและเปราะบางอยู่ก่อนแล้ว ทั้งด้านผลิตภาพ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดของความสามารถในการผลิตของผู้ประกอบการ (อุปทาน) และตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นหัวใจของการฟื้นตัวฝั่งความต้องการของผู้บริโภค (อุปสงค์) เหล่านี้ถูกตอกย้ำครั้งแรกด้วยโรคระบาด และครั้งที่สองด้วยนโยบายการเงินที่กระจุกตัวและล้มเหลว ทั้งที่เอกชนรายย่อยต้องการสินเชื่อเป็นอย่างมาก ทำให้สินเชื่อเอสเอ็มอีตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันหดตัวลงร้อยละ 2.6 ขณะที่สินเชื่อรายใหญ่ในช่วงเดียวกันขยายตัวร้อยละ 10.4
ส่วนมาตรการการคลังที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยพบว่า เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ถูกใช้จริงเพียง 5 แสนล้านบาท มาตรการภาครัฐเข้ามาไม่ทันกับรายได้ที่หายไป นำไปสู่ภาวะเหวทางการคลัง ซึ่งอันตราย ในขณะที่ภาวะการปิดกิจการยังไม่ถึงจุดต่ำสุด และภาวะการตกงานที่เห็นอยู่ ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้น เพราะการตกงานมีจุดต่ำสุดในช่วงภาพรวม 6 เดือนถึง 1 ปี เมื่อตลาดแรงงานไม่ฟื้น กำลังซื้อภายในประเทศไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์จริง แต่เป็นอุปสงค์เทียมที่สร้างขึ้นจากมาตรการภาครัฐ ซึ่งกำลังอ่อนแรงลงอย่างมีนัยสำคัญ
ประการสุดท้าย คือ วิกฤติความเชื่อมั่น เมื่อประชาชนในประเทศไม่เห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันมีศักยภาพเพียงพอที่จะคลี่คลายปัญหาข้างต้นได้ เมื่อปัญหาลงลึก สวนทางกับศักยภาพที่มีอย่างจำกัด ความเชื่อมั่นจึงหมดลง กลายเป็นการไม่ยอมรับรัฐบาล
เมื่อทั้ง 3 วิกฤติ ได้แก่ วิกฤติการเมือง วิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติความเชื่อมั่น มาเจอกัน จึงกลายเป็นจุดตัด ที่บอกว่าใกล้ถึงจุดจบของรัฐบาลแล้ว