อนุทิน “อย่าห้าวริมปากเหว”

รัฐบาลนี้ ถ้าใครบอก “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” คือนายกฯ

เผลอๆ มีคนเชื่อ!
เพราะขี่ม้าขาวเป็นพระเอกได้แทบทุกเรื่อง เบียดม้าลากรถประยุทธ์ลงข้างทางไปเลย
วานซืน (๘ ตค.๖๒) นายอนุทิน รองนายกฯ และรัฐมนตรีสาธารณสุข โพสต์เฟซว่า
“โดนรุม…
แบนสามสารพิษ
รถไฟสามสนามบิน
รถไฟสายสีส้ม
ใครใคร่ถาม ถาม
ตอบคนเดียว สามเรื่อง แต่หลักการเดียวกัน ยึดประโยชน์ประชาชน และ ประเทศชาติ เป็นที่ตั้ง
…..
มีหนึ่งคำถาม ตอบไม่ได้
ใครรู้ช่วยตอบด้วย
ทำไม บอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมใจกันลาออกทั้งคณะ ก่อนการรถไฟฯจะเซ็นสัญญาโครงการรถไฟสามสนามบิน เพียง 14 วัน
ใครรู้ ช่วยตอบด้วย ….”

ผมรู้ครับ!
ขอเสนอตัวเป็นผูู้ช่วยพระเอก สนองท่าน “ด้วยข่าว” โดยพลัน
ไทยรัฐฉบับพิมพ์
2 ส.ค. 2562 08:36 น.
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ได้มีการแบ่งงานให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นที่แน่ชัดเจนแล้ว…..ฯลฯ…….
และเพื่อให้การทำงานระหว่างรัฐมนตรีที่กำกับดูแล และผู้บริหารหน่วยงานมีความสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐมนตรีใหม่เข้ามากำกับดูแลไปในทิศทางเดียวกัน
เห็นว่าการปฏิบัติงานร่วมกับผู้บริหารระดับสูงที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลชุดเก่าให้ไปทำหน้าที่คณะกรรมการหรือบอร์ดในหน่วยงานต่างๆ นั้น
ตามมารยาทเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีที่กำกับดูแลแล้ว คณะกรรมการ ควรต้องแสดงสปิริตลาออก
ส่วนรัฐมนตรีใหม่ที่เข้ามากำกับดูแล จะแต่งตั้งกลับมาใหม่อีกครั้งหรือไม่นั้น ขึ้นกับการพิจารณาของแต่ละคน
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงบอร์ดใหม่ เพื่อให้มีการทำงานเป็นไปในทิศทางที่ฝ่ายบริหารกำหนดนโยบายไว้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงคมนาคมมีโครงการเร่งด่วนที่ต้องทำ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมจำนวนมาก
ทั้งโครงการก่อสร้างที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน การลดภาระค่าครองชีพประชาชน รวมถึงนโยบายเพิ่มความสะดวกสบายในบริการระบบรถโดยสารสาธารณะ
ฝ่ายบริหารและผู้ปฏิบัติต้องทำงานไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้งานของรัฐบาลบรรลุผลสำเร็จ
กระทรวงคมนาคม มีรัฐวิสาหกิจภายในสังกัดทั้งหมด 15 แห่ง
เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)….ฯลฯ……
บอร์ด ขสมก.ยื่นหนังสือลาออกยกชุดไปตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.62 เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลใหม่แต่งตั้งบุคคลมาทำหน้าที่แทน
บอร์ดการรถไฟฯ มีกระแสข่าวเรื่องการยื่นหนังสือลาออกเมื่อต้นเดือน ก.ค.แต่ล่าสุด ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่
เป็นไงครับ….?
คำตอบนี้ คงทำให้ท่านอนุทินหายข้อง ว่าทำไมบอร์ดการรถไฟฯ ลาออกยกคณะ
ส่วนจะหนี-ไม่หนีเป็น “ตรายาง” เซ็นสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบินกับซีพี ใช่หรือไม่ ตรงนี้ ผมไม่แน่ใจ?
แต่ที่แน่ใจ ก็ตรง……….
“นายศักดิ์สยาม” รัฐมนตรีคมนาคม เลขาฯพรรคภูมิใจไทยที่ท่านเป็นหัวหน้าพรรคนั่นแหละ
นั่งกระทรวงปุ๊บ ไล่ให้เขาลาออกปั๊บ!
บอร์ดแต่ละคน เขามีศักดิ์ศรีพอที่จะหยิ่ง และที่สำคัญ เขาเหล่านั้นไม่ใช่คนหนังหนา-หน้าด้าน ขนาดเจ้ากระทรวงไล่แล้วยังจะตื๊ออยู่
อย่าง “นายกุลิศ สมบัติศิริ” ประธานบอร์ดฯ เป็นทั้งปลัดคลัง ปลัดพลังงาน ประสบการณ์บริหารเกือบครึ่งชีวิต
ไม่ได้มาเป็นเพราะอยาก แต่เพราะรัฐบาลก่อนมอบหมายให้มา
ที่อ้างต้องเลื่อนเซ็นสัญญาจาก ๑๕ ตุลา.ไป ๒๕ ตุลา.เพราะบอร์ดพร้อมใจกันลาออกก่อน ๑๔ วัน เป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ ?
ฟังจากปากนายกุลิศเขาเลย

ขออนุญาตยกข่าวมาทั้งดุ้น จะได้ชัวร์
www.thebangkokinsight.com
30 กย.62 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ว่า
การประชุมวันนี้ เป็นการประชุมสรุปผลการทำงานของบอร์ดในช่วงที่ผ่านมา
รวมทั้งบอร์ด รฟท.ได้มีการยื่นใบลาออกทั้งหมด และได้แจ้งการลาออกให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ทราบแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป
ยืนยันว่าการลาออกไม่ได้มีแรงกดดันจากฝ่ายการเมือง บอร์ดกำหนดกรอบลาออกสิ้นเดือนกันยา มาระยะหนึ่งแล้ว ยอมรับว่าบอร์ดชุดนี้ได้รับการแต่งตั้งตั้งในยุค คสช. เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ก็เป็นเรื่องที่เหมาะสม หากจะมีการลาออก
เพื่อให้กระทรวงสามารถแต่งตั้งบุคคลเข้าไปเป็นบอร์ดช่วยขับเคลื่อนนโยบายตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
สิ่งที่เป็นห่วงและฝากให้บอร์ดชุดต่อไปรีบเข้ามาช่วยสานต่อ นอกจากปัญหาคดีค่าโง่โฮปเวลล์แล้ว ก็มีโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ
เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ปัจจุบันประสบปัญหาล่าช้าจากการบุกรุกพื้นที่โครงการ ล่าช้าในส่วนของการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ
ขณะที่การประกอบตัวรถไฟฟ้าเริ่มทยอยเสร็จแล้ว ในส่วนนี้ ยอมรับกังวลว่าโครงการจะสามารถเปิดให้บริการได้ทันในต้นปี 2564 ตามเป้าหรือไม่
ประเด็นลงนามในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งกระทรวงขีดเส้นให้กลุ่มซีพีต้องมาลงนาม 15 ตค.
และกังวลว่า……..
หากการลงนามไม่เกิดขึ้น จะต้องมีการเปลี่ยนเอกชนที่ประมูลได้คะแนนรองลงมาเข้ามาดำเนินการแทนจะเกิดความยุ่งยากหรือไม่
ในช่วงที่ รฟท.ไม่มีคณะกรรมการฯ มองว่า……
“โครงการดังกล่าว ไม่ได้ผ่านการพิจารณาของบอร์ด รฟท.ในช่วงที่ผ่านอยู่แล้ว
เนื่องจาก โครงการมีคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ ดำเนินการ และมีการรายงานผลดำเนินการลงสู่คณะกรรมการอีอีซีชุดใหญ่เลย”
อีอีซีชุดใหญ่ ก็……….
“คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” นายกฯ ประยุทธ์ เป็นประธาน และท่านอนุทินก็เป็นกรรมการอยู่ด้วยนั่นแหละ
สรุป ใครมาเป็นบอร์ดรฟท.ต้องทำหน้าที่ “ตรายาง” ตามกฎหมายแทนฝ่ายการเมือง ในเนื้อหาที่ไม่ผ่านตัวเองมาก่อนเลย
!?!?!
นอกจากเรื่องนี้แล้ว เมื่อวาน (๙ ตค.) รองนายกฯ และรัฐมนตรีอนุทิน โพสต์อีก
“Anutin Charnvirakul”
“ชีวิตดีแล้ว มั่นคงมาก ไม่จำเป็นต้องเอื้อธุรกิจของครอบครัวหรือของใคร ถ้าไม่เอื้อของตัวเองแล้วก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไปเอื้อใคร
และจะใช้ความสามารถและประสบการณ์ทั้งหมดที่มีรักษาผลประโยชน์ให้บ้านเมือง รับมือกันให้อยู่ก็แล้วกัน
ใครกันแน่ที่จะเอาเปรียบรัฐ ใครกันแน่ที่พยายามเลี่ยงไม่ทำตามผลของการประมูล
ใครกันแน่ที่พยายามขอให้รัฐผ่อนปรนเพิ่มประโยชน์ให้ตัวเอง ไม่ต้องไปบีบสื่อให้ออกข่าว
งานนี้ง่ายมาก ทำตามเงื่อนไขที่รัฐประกาศไว้ ไม่ต้องวิ่งเต้น ไม่ต้องจ่าย เอาปากกามาด้ามเดียวแล้วเซ็นสัญญา กล้าๆ หน่อย
พร้อมสนับสนุนทุกอย่างให้ทำงานโดยสะดวก ราบรื่น ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ไม่พูดเยอะ เจ็บลิ้นไก่”
อืมมมม….
ผมว่า “ชักเยอะ” นอกกิริยาผู้หลัก-ผู้ใหญ่ระดับผู้บริหารประเทศไปหน่อยแล้วครับท่าน!
พูดกันตรงๆ นะ เรื่องนี้ ต้องตำหนินายกฯ ประยุทธ์ ที่เอากระทรวงคมนาคมไปให้พรรคภูมิใจไทยบริหาร
โดยรู้-ทั้งรู้ ว่าหัวหน้าพรรคคือ “นายอนุทิน” กับบริษัท “ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)”
นิตินัย พูดได้ว่า ไม่เกี่ยวกัน
แต่พฤตินัย มีใครบอกได้ว่า นายอนุทินไม่มีสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างแห่งนี้?
แล้วนายกฯ ก็ยังให้นายอนุทินกำกับดูแลงานกระทรวงคมนาคม
ซึ่งแค่นายศักดิ์สยาม เลขาฯ พรรคเป็นเจ้ากระทรวง ชาวบ้านเขาก็ซุบซิบอยู่แล้ว
นี่ยังให้นายอนุทิน “หัวหน้าพรรค” ลูกนายห้างมากำกับดูแลอีกที
ก็ระวังนะ ……..
ผมห่วงคำว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ซึ่งไม่แน่ ซักวัน การเมืองมันจะย้อนการเมืองเอากับคุณอนุทิน เหมือนที่ทักษิณถูกมาแล้ว
กรณี “ผัวเซ็น-เมียซื้อ” ที่ดินรัชดา!
สมมุติ ถึง ๗ พฤศจิกา.แล้ว ก็ยังล้มเหลวการเซ็นสัญญากับกลุ่มซีพี
ตามเส้นทาง รายต่อไปที่รฟม.จะเรียกมาเจรจาคือ กลุ่มกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ ซึ่งประกอบด้วย
บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย)
บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย),
บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย)
เนี่ย…
ถ้าเป็นตามนี้ ยากจะหนีคำว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อน”
ถึงแม้ในข้อเท็จจริง ทั้งนายศักดิ์สยาม นายอนุทิน นั่งนิ่งยิ่งกว่าพระประธานในโบสถ์ก็เหอะ
ยักษ์ ว่ามีเขี้ยวแล้ว
ซีพี.น่ะ…
ยิ่งกว่ายักษ์อีก!

Written By
More from plew
สารพันวันประเทศ “ฝีแตก”
เมื่อวาน เปิดเฟซ ……. เห็นภาพที่คุณ Aks Imaginate โพสต์ไว้ ชอบใจมาก เป็นภาพหนังสือพิมพ์ตั้งๆ จำนวนมาก ไม่ได้แกะเชือกมัด โรงพิมพ์ส่งมาสภาพไหน...
Read More
0 replies on “อนุทิน “อย่าห้าวริมปากเหว””