21 กันยายน 2563 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย และนายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบทุจริตโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง)
โดย คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า เราได้ติดตามตรวจสอบโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค มาเป็นระยะเวลาหลายเดือนแล้ว
เริ่มจากการที่เราเห็นระบบบริหารจัดการที่ผิดเพี้ยน ผู้นำรัฐบาลไม่มีความเข้าใจในหลักการของโครงการอย่างแท้จริง จึงทำให้ระบบการบริหารจัดการล้มเหลว กลับไปรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง แทนที่จะกระจายอำนาจและกระจายงบประมาณไปยังโรงพยาบาลโดยตรง จนทำให้เกิดปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ ทั้งที่ใช้งบประมาณมากขึ้น แต่คุณภาพการรักษาพยาบาลตกต่ำลง
ซึ่งวันนี้เราพบปัญหาการทุจริตในหลายเรื่องอย่างมโหฬาร รวมถึงการด้อยประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโครงการ ซึ่งมีการใช้เงินงบประมาณไปถึง 2,900 ล้านบาท
ทั้งนี้ การทุจริตเริ่มต้นตั้งแต่การคัดเลือกคลินิกเข้าสู่โครงการ โดยมีการร่วมมือกันระหว่างผู้บริหาร สปสช. อดีตผู้บริหารของ สปสช. และคลินิกเอกชน ซึ่งมีการล็อกสเปกคลินิกที่อยู่ในเครือข่ายแค่ 3 กลุ่มเท่านั้น ทั้งที่มีคลินิกที่พร้อมจะดำเนินการจำนวนมาก แต่กลับไม่ได้รับการคัดเลือก
สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนในขณะนี้ คือการแก้ไขปัญหาผลพวงจากการปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต จนทำให้ประชาชนกว่า 800,000 คนในกรุงเทพต้องประสบปัญหา ไม่มีที่รักษาพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยเรื้อรัง ที่จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องกำลังเผชิญกับปัญหาอย่างหนัก
ทั้งการไม่มีสถานพยาบาลรองรับ หรือให้ย้ายไปใช้ โรงพยาบาลของรัฐที่มีความแออัดอยู่แล้ว ทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้ ไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงทีหรือต้องรอคิวเป็นเวลานาน
ซึ่งการแก้ปัญหาแบบไม่รับผิดชอบโดยไม่มีแผนรองรับได้สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน และได้สร้างปัญหาให้กับโรงพยาบาล และแพทย์พยาบาลที่ต้องรองรับผู้ป่วยที่ถูกโอนย้ายมา จนที่เกินกว่าศักยภาพของโรงพยาบาลจะรับได้ เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ด้าน นายประเดิมชัย กล่าวว่า ในส่วนของการติดตามการทำงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ที่ให้บริการดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชนในโครงการคลินิกชุมชนอบอุ่น ที่วิวัฒนาการมาจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคแต่เดิม
มีการพัฒนางบประมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2563 และ 2564 มีมากถึง 140,000 กว่าล้านบาท ซึ่งงบประมาณจำนวนนี้ได้ถูกดำเนินการในส่วนของคลินิกชุมชนอบอุ่นในเขตพื้นที่ กทม. ประมาณ 200 แห่ง จากการติดตามตรวจสอบพบว่า มีการทุจริตเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยการจัดทำเอกสารอันเป็นเท็จ ในกลุ่มโรคเมตาบอลิก หรือโรคเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน หรือไขมัน ที่จะต้องมีกระบวนการให้บริการเจาะเลือดและนำไปตรวจที่แล็บ แล้วนำมาวิเคราะห์ว่ามีความเสี่ยงของโรคดังกล่าวหรือไม่
ซึ่งในเบื้องต้นพบข้อเท็จจริงว่า มีสมาชิกจำนวน 18 คลินิก ไม่มีการนำผลเลือดของผู้ใช้บริการไปตรวจ แต่นำข้อมูลมาเบิกจ่ายงบประมาณ ในปี 2562 เป็นจำนวนเงินถึง 74 ล้านบาท
ซึ่งในส่วนตรงนี้ สปสช. ได้มีการเรียกคืนและยกเลิกการสัญญาไปแล้ว แต่ในระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา คลินิกทั้ง 18 แห่ง มีการเบิกไปแล้ว 2,913 ล้านบาท และเรียกคืนมาได้ 74 ล้านบาท
ทั้งนี้ เราได้เรียกร้องไปในการประชุมสภาที่พิจารณางบประมาณประจำปี 2564 ในวาระ 2-3 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเร่งให้ สปสช. ได้ติดตามดูแลและเรียกเงินงบประมาณที่มีการเบิกจ่ายอันเป็นเท็จกลับคืนมา
แต่ยังมีคลินิกอีกกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อกลุ่มคลินิกทั้ง 18 แห่ง และไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 63 คลินิก ที่ สปสช. ได้ออกมาแถลงว่ามีการตรวจสอบพบว่ามีการทุจริต และยกเลิกเป็นคู่สัญญากับ สปสช. ไปแล้ว ซึ่งเราได้นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. เพื่อที่จะให้ติดตามและตรวจสอบว่ามีการทุจริตในกระบวนการ สปสช. หรือไม่ ทำไมถึงยังมีคลินิกต้องสงสัยว่ายังไม่ได้เข้ารับการตรวจสอบ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องหาและทำความจริงให้ปรากฏ เพื่อปกป้องเงินภาษีของพี่น้องประชาชนต่อไป